วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและข้อต่อ

การปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและข้อต่อ

อาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและข้อต่อที่มักพบบ่อยๆ ประกอบด้วย
          
1. การฟกช้ำ (Contusion)            การฟกช้ำ (Contusion) เป็นการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน จนเกิดการฟกช้ำ เนื่องจากหลอดเลือดฝอยของบริเวณนั้นฉีกขาด เลือดจึงออกมาคั่งอยู่ภายในกล้ามเนื้อ โดยที่ผิวหนังไม่มีการฉีกขาด

สาเหตุ
     เกิดจากแรงกระแทกของวัตถุที่ไม่มีคมกระทบร่างกายโดยตรง

อาการและอาการแสดง
     กล้ามเนื้อที่ฟกช้ำ จะมีอาการปวด บวม และเขียวคล้ำเป็นจ้ำ กล้ามเนื้อเกร็ง

การปฐมพยาบาล
     1. หยุดพักการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นทันที
     2. ยกบริเวณที่ฟกช้ำให้สูงและประคบด้วยความเย็น ในระยะ 24 ชม.แรก จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวด และทำให้เส้นเลือดตีบ เลือดออกน้อยลง ไม่บวมมาก หรืออาจใช้ผ้าพันให้แน่น ช่วยให้เลือดหยุดและจำกัดการเคลื่อนไหวด้วย
     3. ประคบความร้อนหลัง 24 ชม. ให้ใช้ร่วมกับการนวดเบาๆ เพื่อให้มีการดูดซึมของเลือดดีขึ้น


          2. ข้อเคล็ด (Sprains)   
          ข้อเคล็ด (Sprains) เป็นการฉีกขาดของเอ็นที่อยู่รอบๆ ข้อและเยื่อหุ้มข้อ พบบ่อยบริเวณ ข้อเท้า ข้อมือ และข้อเข่า

สาเหตุ
     เกิดจากการมีเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วหรือมีการบิด การเหวี่ยงอย่างแรงตรงบริเวณข้อต่อเกินกว่าข้อนั้นจะสามารถทำได้ เช่น เดินสะดุด หรือก้าวพลาดจากการลงจากที่สูง

อาการและอาการแสดง
     ปวดมาก กดเจ็บ บวม อาจมีอาการชาและเคลื่อนไหวข้อนั้นไม่ได้เลย

การปฐมพยาบาล
     1. งดการใช้ข้อหรืออวัยวะนั้นเพื่อให้ให้ข้อที่บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ หรือเคลื่อนไหวน้อยที่สุด และจัดให้อยู่ในท่าที่สบาย โดยใช้ผ้าพันรอบข้อนั้นให้แน่นพอควร โดยใช้ผ้าพันที่ยืดได้
     2. ประคบด้วยความเย็น ใน 24 ชม. แรก หลังจากนั้นให้ประคบด้วยความร้อน
     3. พยายามยกข้อนั้นให้สูงขึ้น ถ้าเป็นข้อมือ ข้อไหล่ ควรห้อยแขนไว้ด้วยผ้าสามเหลี่ยม
     4. นำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจให้แน่ใจว่า เอ็นยึดข้อฉีกขาด อย่างเดียวหรือมีกระดูกหักร่วมด้วย



          
3. ข้อเคลื่อน (Dislocation)           ข้อเคลื่อน (Dislocation) เป็นภาวะที่ปลายกระดูกหรือหัวกระดูกสองอันที่มาชนกันประกอบกันขึ้นเป็นข้อ เคลื่อนออกจากตำแหน่งที่เคยอยู่ ทำให้เยื่อหุ้มข้อนั้นมีการฉีกขาดหรือมีการยืดของเอ็น กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เนื้อเยื่อ และเส้นประสาร บริเวณนั้นมีการฉีกขาดหรือชอดช้ำไป บริเวณที่พบได้บ่อยได้แก่ ข้อมือ ข้อศอก ข้อไหล่ ข้อสะโพก กระดูกสะบ้า และขากรรไกร

สาเหตุ
     ถูกตี หกล้ม หรือการเหวี่ยง การบิด หรือกระชากอย่างแรงที่ข้อนั้น หรือเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลัน

อาการและอาการแสดง
     ปวดมาก บวมรอบๆ ข้อ กดเจ็บ มีอาการฟกช้ำ รูปร่างของข้อที่ได้รับอันตรายเปลี่ยนรูปไปจากเดิมและความยาวของแขนหรือขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บอาจสั้นหรือยาวกว่าปกติ เคลื่อนไหวข้อนั้นไม่ได้ตามปกติ

การปฐมพยาบาล
     1. ให้พักข้ออยู่นิ่งๆ อย่าพยายามดึงข้อที่เคลื่อนให้เข้าที่
     2. ประคบด้วยความเย็น
     3. ใช้ผ้าพยุง/ดาม หรือเข้าเฝือกส่วนนั้นให้อยู่ในท่าพัก
     4. นำส่งโรงพยาบาล เพราะการทิ้งไว้นานจะทำให้การดึงเข้าที่ลำบาก และถ้านานเกินไปอาจต้องทำการผ่าตัด

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น