การเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย (CASUALTY HANDING)
ความหมาย :- คำว่า “ผู้ประสบภัย” หมายถึง บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุสาธารณภัยต่างๆ เช่น อัคคีภัย ภัยธรรมชาติ ภัยอันเกิดจากสงคราม ภัยจากความไม่สงบภายใน หรือภัยจากการจลาจลภายในประเทศ ภัยจากการถูกสิ่งปรักหักพังทับ และภัยอันเกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเหล่านี้เป็นต้น
ส่วน “การเคลื่อนย้าย” นั้นหมายถึงการช่วยผู้ประสบภัยออกจากที่ที่ได้เกิดภัยนั้นๆ ทั้งที่กำลังได้รับภัยนั้นอยู่ หรือหลังจากเหตุภัยนั้นๆ ได้สงบแล้ว
ดังนั้นการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยเพื่อให้เกิด ความปลอดภัยต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาสาธารณภัย หรือ อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยที่ได้รับฝึกอบรมทางวิชาการนี้มาอย่างถูกต้อง และมีความชำนาญพอแล้ว
วัตถุประสงค์ :-
วัตถุประสงค์ในการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยก็เพื่อจะช่วยชีวิต โดยเคลื่อนย้ายออกจากที่เกิดเหตุ ด้วยความรวดเร็วที่สุด และพยายามไม่ให้ผู้ประสบภัยได้รับอันตราย หรือ ได้รับความกระทบกระเทือนจากการเคลื่อนย้ายเท่าที่จะทำได้
หลักการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย :-
เจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาสาธารณภัยหรืออาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยผู้ช่วยเหลือ จะต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
1. เคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยในที่เกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้น
2. ปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว มีสติ และไหวพริบดี
3. หาสาเหตุว่าภัยที่เกิดขึ้นนั้นเป็นภัยชนิดใด(ในกรณีที่เหตุการณ์ได้สงบลงแล้ว)
4. จากข้อ 3 ก็เพื่อที่จะนำมาวินิจฉัยว่า บุคคลผู้ได้รับภัยนั้นบาดเจ็บด้วยเหตุใด
5. เมื่อเข้าถึงตัวผู้ป่วยต้องวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยโดยฉับไว เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาว่าจะใช้วิธีใดเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย จึงจะเหมาะสมและได้ผลดี
6. ควรพิจารณาว่าผู้ประสบภัยมีขนาดรูปร่างเล็กใหญ่ เพียงใด เพื่อที่จะทำการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยโดยนำวิธีต่างๆ มาเลือกใช้ให้เหมาะสมได้ผลดี
7. ทิศทางแนวทางในการเคลื่อนย้ายนั้นจะต้องพิจารณาถึงการเข้าออกโดยฉับไว อันเป็นทางเข้าออกที่จะนำไปสู่ความปลอดภัย
8. คำนึงถึงกำลังของเจ้าหน้าที่ ที่เข้าการช่วยเหลือว่ามีมากน้อยเพียงใด เพื่อจะพิจารณาได้ว่า จะเข้าทำการช่วยผู้ประสบภัยคนหนึ่ง ต่อเจ้าหน้าที่หนึ่งคน หรือ คนหนึ่งต่อเจ้าหน้าที่สองคน สามคน หรือ สี่คน แล้วแต่กรณี
9. เมื่อผู้ป่วยไปสู่ที่ปลอดภัยแล้วควรนำผู้ป่วยนอนเปลพยาบาล หรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับความอบอุ่นปลอดภัยมากที่สุด
10. ควรทำการปฐมพยาบาลเท่าที่จำเป็นด้วยการให้ความช่วยเหลือขั้นต้นแก่ผู้ประสบภัยโดยปัจจุบันเพื่อป้องกันอันตรายอันอาจถึงแก่ชีวิต เช่น ในการห้ามเลือด และ การช่วยหายใจเป็นต้น
11. นำผู้ประสบภัยหรือผู้บาดเจ็บส่งถึงมือแพทย์ พยาบาล หรือ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในช่วงเวลาอันสั้นที่สุด
การจำแนกวิธีการปฏิบัติในการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย :-
การจำแนกวิธีการปฏิบัติในการเคลื่อนย้ายเพื่อช่วยผู้ป่วยที่ประสบภัยนั้นอาจจำแนกเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ 2 วิธีคือ
1. การเคลื่อนย้ายโดยปราศจากเครื่องมือ
2. การเคลื่อนย้ายโดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์
การเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยโดยไม่ใช้เครื่องมือหรือใช้เครื่องมือและอุปกรณ์นั้นอาจใช้เจ้าหน้าที่เข้าทำการตั้งแต่หนึ่งคน สองคน สามคน หรือ สี่ห้าคน ต่อผู้ประสบภัยคนเดียว ทั้งนี้ย่อยขึ้นกับแล้วแต่กรณี
อนึ่งควรเข้าใจว่าการใช้เทคนิคนี้เป็นภาวะฉุกเฉินเท่านั้น และในกรณีผู้ป่วยหนักควรจะใช้เปลหาม แต่อย่างไรก็ตามในภาวะต่างๆ เช่นไฟไหม้ หรือการพังทลายในขณะเหตุการณ์กำลังเกิดขึ้นนั้นจะต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกก่อนโดยเร็ว
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น