การปรับตั้งแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์
เครื่องเสียงในระบบโฮมเธียเตอร์ อันประกอบไปด้วยลำโพงหลัก ลำโพงเซนเตอร์ ลำโพงเซอร์ราวนด์ และลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ ท่านเหล่านี้มีคำถามคล้ายๆ กัน คือ จะปรับตั้งค่าต่างๆ ที่ตัวรีซีฟเวอร์อย่างไร? และโดยเฉพาะที่ผมถูกถามบ่อยครั้งที่สุด คือ การปรับตั้งซับวูฟเฟอร์อย่างไรให้ถูกต้อง? คำถามนี้น่าจะรวมไปถึงการหาตำแหน่งจัดวางซับวูฟเฟอร์ ที่เหมาะสมที่สุดภายในห้องด้วย เพราะแม้ว่าคุณจะปรับตั้งค่าอะไรต่างๆ ให้กับซับวูฟเฟอร์อย่างถูกต้องแล้ว แต่ถ้าคุณนำมันไปวางไว้ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ก็อาจจะทำให้เสียงความถี่ต่างๆ (เบสส์) บางเกินไป หรือไม่ก็บวมคราง สถานเบาอาจจะแค่ “ฟ้องตำแหน่ง………” ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความรำคาญหูทั้งนั้น
ใน ทางทฤษฎีเสียง ความถี่ต่ำหรือเสียงเบสส์ ไม่มีทิศทางเหมือนกับเสียงกลางและเสียงแหลม ดังนั้น เราน่าจะวางซับวูฟเฟอร์ไว้ตรงไหนของห้องก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติคุณจะต้องเลือกตำแหน่งที่วางให้ซับวูฟเฟอร์ เพื่อให้ให้เสียงออกมาผสมผสานกลมกลืนกับลำโพงหลักตัวอื่นๆ มากที่สุด ไม่ว่าคุณจะใช้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่มาพร้อมกับลำโพงแซทเทิลไลท์ หรือเป็นซับวูฟเฟอร์คนละยี่ห้อที่ซื้อมาภายหลังก็ตาม คุณควรจะพิถีพิถันในการเซ็ทอัพ เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุด ผมมีขั้นตอนการปรับตั้งค่าซับวูฟเฟอร์อย่างง่ายๆ มาฝากกันดังต่อไปนี้ครับ
1. สำรวจและวางแผนการจัดชุดเครื่องเสียงก่อนที่จะซื้อ รวมทั้งอ่านคู่มือที่ให้มากับสินค้าก่อนทุกครั้ง ตำแหน่งที่ให้ปริมาณเสียงเบสส์มากที่สุด คือ การวางซับวูฟเฟอร์ของคุณไว้ชิดมุมห้องด้านใดด้านหนึ่ง เนื่องจากมีเรื่องการสะท้อนเสียงมาเกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตาม การวางซับวูฟเฟอร์ในลักษณะนี้ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากว่าจะให้เสียงเบสส์ที่มีแต่ปริมาณแต่ไม่ได้คุณภาพ หรือจะได้เสียงเบสส์ที่บวมมากเกินไปจนกลบรายละเอียดของหัวโน้ตไปหมด ในคู่มือติดตั้งซับวูฟเฟอร์ส่วนมาก จะแนะนำให้วางห่างจากผนังห้องทั้งสองด้านมาประมาณ 5-6 ฟุต ซึ่งถ้าหากซับวูฟเฟอร์ของคุณเป็นชนิดยิงออกหน้า มีท่อระบายลมออกด้านหลัง คุณจะต้องเว้นระยะห่างจากผนังห้องมากขึ้น ปัจจุบันยังมีแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ชนิดยิงลงพื้นขายอยู่ในท้องตลาด ซับวูฟเฟอร์ลักษณะนี้ไม่ต้องการระยะห่าง จากผนังเท่ากับชนิดชนิดที่ยิงออกด้านหน้า แต่สำหรับการฟังเพลงแล้ว ซับวูฟเฟอร์ชนิดยิงออกด้านหน้าจะให้รายละเอียด ของเบสส์ที่ดีกว่าอยู่บ้าง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าได้เซ็ทอัพลงตัวที่สุดแล้วทั้งสองแบบ
2. หาผู้ช่วยเหลือสักคน เวลาที่จะทำการเซ็ตอัพซับวูฟเฟอร์ เพื่อความสะดวกและย่นระยะเวลา ไม่เช่นนั้นหากคุณทำมันอยู่คนเดียวแล้วล่ะก็ คุณจะต้องเดินกลับไปกลับมาเหมือนกับเสือติดจั่น โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการปรับตั้งครั้งสุดท้ายที่เป็นการลด / เพิ่มระดับต่างๆ ที่ต้องการความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง
3. เซ็ทอัพลำโพงคู่หน้าให้ได้ตำแหน่งที่เหมาะสมเสียก่อน
4. หาตำแหน่งที่วางซับวูฟเฟอร์ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ขณะที่ยังปิดซับวูฟเฟอร์อยู่ ให้คุณตั้งค่ารีซีฟเวอร์ของคุณไปที่ SUBWOOFER = OFF แล้วลองสังเกตว่าเวลาคุณนั่งฟังเพลงหรือดูหนังอยู่นั้น คุณได้ยินเสียงเบสส์ออกมาจากตำแหน่งใด ให้เอาซับวูฟเฟอร์ไปวางไว้ ณ ตำแหน่งนั้น โดยที่ยังไม่ต้องใส่สไปค์ เพราะยังต้องขยับหาตำแหน่งที่ดีกว่าอีกครั้ง (คุณอาจจะต้องการคนช่วยฟังในขั้นตอนนี้ หากยังไม่แน่ใจในการฟังจำแนกตำแหน่ง)
5. ขั้นตอนของการเชื่อมต่อสาย คุณต้องปิดเครื่องเสียงทั้งหมดก่อน หมุนปุ่ม VOLUME ของซับวูฟเฟอร์ไปที่ 0 ปรับ CROSSOVER ให้อยู่ในตำแหน่งประมาณ 150 Hz อย่าเพิ่งเปิดซับวูฟเฟอร์ ต่อสายสัญญาณจากรีซีฟเวอร์มาเข้าซับวูฟเฟอร์ หรือถ้าเป็นการต่อเข้าช่อง INPUT ของลำโพง ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าต่อถูกขั้วแล้ว
6. ปรับตั้งระดับเสียงให้ซับวูฟเฟอร์ เปิดซับวูฟเฟอร์ ค่อยๆ เพิ่มระดับโวลุ่มของซับวูฟเฟอร์ทีละน้อย ในตอนแรกเสียงที่ได้ยินจากซับวูฟเฟอร์จะแตกต่าง จากเสียงที่ออกมาจากลำโพงหลัก ค่อยๆ จูนจนกระทั่งเสียงเริ่มจะผสมผสานกลมกลืนกับลำโพงหลัก เพิ่มระดับเสียงจนเริ่มจะแตกต่างอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นให้ปรับโวลุ่มลดลงไปยังตำแหน่งที่เสียงกลมกลืนกันมากที่สุด จดระดับนี้ไว้ในกระดาษเพื่อจะได้ทราบการเปลี่ยนแปลง
ในขั้นตอนนี้ คุณอาจจะใช้แผ่นพิเศษที่เป็น SOUND CHECK สำหรับการเซ็ทอัพ หรือทดสอบเครื่องเสียงโดยเฉพาะก็ได้
7. ปรับตั้งค่าครอสโอเวอร์ เพื่อเลือกจุดตัดแบ่งความถี่ที่เหมาะสม วิธีการในขั้นตอนนี้ คือ เริ่มลดระดับของปุ่มตั้งค่าครอสโอเวอร์ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณได้ยินเสียงจากซับวูฟเฟอร์ และเสียงลำโพงด้านซ้ายขวาแยกจากกัน ค่อยๆ หมุนปุ่มกลับมาทีละนิดจนกระทั่งเสียงของลำโพงกลมกลืนกันดี ระดับที่นิยมตั้งจุดตัดให้ครอสโอเวอร์ของลำโพงซับวูฟเฟอร์ คือ 80-100 Hz ถ้าหากลำโพงซ้าย / ขวา ของคุณเป็นลำโพงวางพื้นขนาดไม่ใหญ่มาก หรือ 100-120 Hz ถ้าลำโพงของคุณเป็นลำโพงชั้นวางบนขาตั้ง
อย่างไรก็ตาม การเลือกจุดตัดให้ซับวูฟเฟอร์ทำงานตั้งแต่ 80 Hz ลงไปนั้น หมายถึงว่าลำโพงคู่หลักจะต้องตอบสนองลงไปได้อย่างราบเรียบจนไปถึง 40 Hz หรือความถี่เป็นครึ่งหนึ่งของความถี่ที่จุดตัด ในความเป็นจริงหาลำโพงอย่างนั้นยากครับ ดังนั้น จุดตัดครอสโอเวอร์จึงมักจะอยู่ราวๆ 100 Hz ซึ่งจะมีความยาวคลื่นประมาณ 8.5 เมตร ครึ่งหนึ่งของความยาวคลื่นเท่ากับ 4.25 เมตร ซึ่งสูสีกับความกว้างของห้องฟังทั่วๆ ไป แต่หากตัดที่สูงขึ้นกว่านี้ หรือห้องกว้างกว่านี้ ตำแหน่งของซับวูฟเฟอร์ก็จะปรากฏออกมาชัดเจนขึ้น ในห้องขนาดใหญ่มากๆ จึงจำเป็นต้องใช้ซับวูฟเฟอร์คู่
8. การปรับเฟส โดยที่ปรับไว้ที่ 0 องศา ก่อน เร่งโวลุ่มที่ตู้ซับวูฟเฟอร์ให้ดังกว่าระดับที่ตั้งไว้ในข้อ 6. เล็กน้อย ลองฟังดูว่าเสียงเบสส์ที่ดังออกมานั้นมีอาการ “หุบ” หรือไม่ ถ้า “หุบ” และซาวนด์สเตจผิดรูปผิดร่าง บิดเบี้ยว ให้ลองเปลี่ยนสวิทช์เฟสไปที่ 180 องศา แล้วฟังใหม่ ถ้าเสียงดีกว่าเดิมให้ลดโวลุ่มของซับวูฟเฟอร์ลงไปอยู่ในตำแหน่งเดิม ก่อนเร่งขึ้น แล้วจดไว้ในกระดาษเพื่อจะได้ทราบความเปลี่ยนแปลง
9. ใส่สไปค์ให้ตู้ซับวูฟเฟอร์ โดยให้ปลายแหลมจิกลงบนพื้น แล้วปรับจูนโดยละเอียดอีกครั้ง โดยให้ผู้ช่วยของคุณลงมือแล้วคุณเป็นผู้นั่งฟัง
10. หากทำตามขั้นตอนต่างๆ แล้วพบว่าเสียงเบสส์ในห้องมีความดังไม่สม่ำเสมอในจุดต่างๆ เช่น พอจะโน้มตัวไปข้างหน้า ปรากฏว่าเบสส์หายวูบไปเลย แสดงว่ามีแสตนดิ้งเวฟในห้อง แล้วอาจต้องขยับซับวูฟเฟอร์ออกจากตำแหน่งเดิม หรือเพิ่มอุปกรณ์ปรับสภาพอะคูสติกจำพวก TRAP เข้าไปที่มุมห้อง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น