วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หลอด T5 คืออะไรกันเนี่ย…

หลอด T5 คืออะไรกันเนี่ย…

วันนี้ ผมได้รับมอบหมายเฉพาะกิจจากเจ้านายอีกครั้งนึงแล้วครับ หลังจากที่ได้ห่างหายมาหลายปี จากการเขียนข่าวเล่าความ แบบมีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง พอมาถึงวันนี้ จู่ๆ เจ้านายที่เคารพของผม ก็เดินมาบอกว่า
“ช่างแม่น ช่วยหน่อยเหอะ ตอนนี้ เด็กๆ มันชอบสเปคหลอดไฟ T5 ใช้ในงานออกแบบ แต่พอถามว่าเจ้าหลอด T5 มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ก็ดันไม่มีใครรู้ ทุกคนรู้อยู่อย่างเดียวว่าเจ้าหลอด T5 มันหน้าตาเหมือนหลอด Fluorescent แต่มีขนาดเล็กกว่า ยังไง ก็ช่วยอธิบายเผื่อให้ทั้ง Designer ของเรา กับลูกค้าได้เข้าใจหน่อยนะ”

เอาล่ะสิ งานเข้าจนได้ ทำเอาคนใกล้เกษียณอย่างผม ต้องมานั่งปั่นเรื่องส่งคุณ Hana อีกจนได้ เพราะจริงๆ แกก็ไม่ค่อยชอบขี้หน้าผมสักเท่าไหร่ ก็คนมันสูงวัยแล้ว จะพูดจะจา ก็กลายเป็นบ่นไป จะทำอะไรก็เชื่องช้า ไม่ทันคนหนุ่มๆ ทั้งๆ ที่ใจจริง ก็อยากจะเอาใจแกจะตายไป แต่ด้วยหน้าที่การงานมัดรัดตัว จะส่งเรื่องได้ก็วันท้ายๆ แบบนี้แหละคุณ

เข้าเรื่องดีกว่า รีบเข้าเรื่องรีบสรุป รีบจบเร็วจะได้กลับไปงีบ เอ๊ย ไปเร่งงานต่อ…

เจ้าหลอด T5 ที่เราเรียกกันติดปากนั้น จริงๆ แล้วก็คือ Compact Fluorescent Bulb หรือหลอด CFL ประเภทหนึ่งครับ ซึ่งหลอดประเภทนี้ มีอยู่ในบ้านเรามายาวนานหลายสิบปีแล้ว ซึ่งตอนที่ผมยังหนุ่มๆ เรามักเรียกกันว่าหลอดนีออนไงครับ สมัยนั้น ใครเรียกหลอดนี้ว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์นี่ ดูเท่ชะมัด แม้ว่าคนอื่นๆ จะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องก็เหอะ

ทีนี้ เจ้าหลอด T5 นี่มันต่างจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ของเก่ากันตรงไหนล่ะครับท่าน
เจ้าหลอด T5 นี่คือนวัตกรรมใหม่ในการออกแบบหลอดไฟแบบแท่งยาว ให้กินไฟน้อยลง แต่ได้แสงสว่างใกล้เคียงหรือ มากกว่าของเดิม โดย T5 นี่คือรหัสของหลอดครับ




ตัว T นี่จะหมายถึงหลอดชนิด Compact Fluorescent นั่นเอง ส่วนเลข 5 ก็จะหมายถึงขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอด โดยมีหน่วยวัดเป็น 1/8 นิ้ว (บ้านเราเรียกว่าหุน) ซึ่งถ้าเป็นเลข 5 ก็จะมีขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอดอยู่ที่ 5/8 นิ้ว หรือ 5 หุนนั่นเองครับผม...

อ้าว...ถ้างั้น แล้วหลอดรุ่นอื่นๆ ล่ะ
หลอดรุ่นเก่ากึ๊กส์ หรือหลอดนีออนดั้งเดิม จะมีขนาด 12/5 นิ้ว หรือ 1 นิ้วครึ่งนั่นเองครับ จึงได้ชื่อรหัสว่า T12 จัดว่าเป็นหลอดที่ไม่ช่วยชาติไปซะแล้ว เพราะขนาดยาวสุด ยังกินไฟตั้ง 40 วัตต์แน่ะ
ส่วนหลอดรุ่นต่อมา คงเคยได้ยินคำว่า “หลอดผอม ประหยัดไฟ” แล้วใช่มั้ยครับ เจ้าหลอดรุ่นนั้น จะช่วยชาติได้เยอะเลย เพราะกินไฟลดลง 10% เหลือแค่ 36 วัตต์ สำหรับความยาวสุด และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว หรือ 8/8 นิ้ว ครับ เลยได้รหัสว่า T8 ไปเช่นกัน
โดยเจ้าหลอด T8 นี้ก็ยังมีขายกันอยู่ทั่วไป จัดว่าเป็นหลอดยอดฮิต พิมพ์นิยมรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว

สำหรับหลอด T5 นี่ ถือว่าเป็นหลอดรุ่นใหม่ เพิ่งเข้าตลาดมาได้ไม่กี่ปีมานี้เอง โดยหลอดรุ่นนี้ จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหลอดที่ เล็กกว่า (อย่างที่บอกไป) ทำให้มีขาหลอดที่เตี้ยกว่าหลอดรุ่นอื่นๆ และใช้บัลลาสต์ที่มีขนาดเล็กกว่าด้วยเช่นกัน โดยหลอด T5 นี้จะมีความยาวที่แตกต่างกันออกไป โดยยิ่งยาว ก็จะยิ่งกินไฟมาก โดยหลอดที่ยาว 58” หรือประมาณ 1.45 ม. จะกินไฟ 35 วัตต์ และให้แสงเทียบเท่ากับหลอดขนาด 200 W เลยทีเดียวครับ (มากกว่าหลอดแบบ T8 และ T12 ในความยาวเท่ากัน) ทั้งนี้ ตารางขนาดความยาวหลอด อัตราการกินไฟและความสว่างเทียบเท่า สามารถดูได้จากตารางข้างล่างนี้ครับ

Model
Watt
Output Equivalent
Length
T5-6
6
35 W
9 3/8”
T5-8
8
40W
12 3/8”
T5-14
14
80 W
22 ½”
T5-21
21
120 W
34 ½”
T5-28
28
155 W
46 ¼”
T5-35
35
200 W
58”


อย่างไรก็ดี หลอด T5 ที่นิยมใช้ในประเทศไทย ก็มีอยู่ไม่กี่ขนาด เช่น T5-14, T5-21 และ T5-28 เป็นต้น ส่วนขนาดอื่นๆ ก็ยังคงมีขายบ้าง แต่หาซื้อยากพอสมควร อาจจะต้องติดต่อตัวแทนจำหน่ายหลอดไฟหรือโคมไฟรายใหญ่หน่อยครับ

นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน บัลลาสต์รุ่นใหม่ๆ จะมีความทนทานมากขึ้น เสถียรมากขึ้น และเปิดปุ๊บก็ติดปั๊บ ไม่ต้องมากระพริบ กระพริบ แล้วลุ้นว่าจะติดหรือไม่ติดเหมือนแต่ก่อน แบบว่า กดปุ่มปุ๊บ สว่างปั๊บเลย
ที่สำคัญ สำหรับบางบริษัท ได้ทำการออกแบบบัลลาสต์รุ่นใหม่ๆ ที่รองรับการหรี่ไฟ หรือ Dim ได้ด้วย ทำให้หลอดแบบ T5 นี้ สามารถหรี่ไฟได้ เมื่อใช้คู่กับบัลลาสต์พิเศษเหล่านี้ครับ (ของดีแบบนี้ ราคาก็แพงเอาเรื่องทีเดียวครับ)

แล้วมีหลอดที่เล็กกว่า T5 อีกหรือไม่
ยังมีหลอด CFL ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่เล็กกว่าเจ้า T5 นี้อีกครับ เพียงแต่ถ้าเล็กมากๆ อย่าง T3 ก็จะไม่นิยมนำมาใช้เป็นหลอดยาว แต่จะทำเป็นหลอดเกลียว หรือที่เรียกว่า Spiral Compact Fluorescent หรือหลอดประหยัดไฟ ที่เราๆ ท่านๆ ใช้กันอยู่แหละครับ

ส่วนหลอด T4 ก็มีการผลิตออกมาด้วยเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้นำเข้ามาใช้ในบ้านเรา (หรืออาจจะนำเข้ามาขาย แต่ผมบังเอิญไม่รู้) ทั้งนี้ จะมีขนาดที่เล็กกว่าเล็กน้อย แต่ Spec ต่างๆ ใกล้เคียงกันครับ

หลักการเลือกใช้หลอด T5
จริงๆ แล้ว เจ้าหลอด T5 นี้ ก็สามารถนำมาใช้แทนหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบเก่าได้ทันที และใช้ได้เหมือนกัน เพียงแต่ขนาดที่เล็กลง จะทำให้ใช้พื้นที่ด้านความสูงสำหรับหลอดน้อยกว่า จึงเหมาะที่จะใช้กับห้องที่มีข้อจำกัดด้านความสูง และเหมาะที่จะใช้ซ่อนในหลืบฝ้า โดยไม่จำเป็นต้องใช้หลืบฝ้าที่มีขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อนครับ




อย่างไรก็ดี ผมก็เลยมีเรื่องมาเล่าให้ฟังนิดหน่อย เกี่ยวกับความกะป้ำกะเป๋อของเราเองในงานออกแบบ ในช่วงแรกที่ใช้หลอด T5 ในหลืบฝ้า ซึ่งแต่ก่อนเราจำเป็นต้องทำฝ้า Step อย่างน้อย 10-15 ซม. เพื่อบังหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ และเว้นระยะฝ้า เพื่อให้แสงลอดออกมาอีก 10-15 ซม. ซึ่งทำให้ได้แสงที่พอดี รวมทั้งเพื่อให้มีระยะสำหรับเอามือเข้าไปเปลี่ยนหลอดได้ด้วยครับ แต่พอเปลี่ยนมาใช้หลอด T5 เราก็ตื่นเต้นกับความเล็กของมัน จึงได้ลดระยะความสูงของแผ่นฝ้า Step ลงเหลือแค่ 5-7 ซม. แต่จุดที่พลาดอย่างมหันต์ คงหนีไม่พ้นระยะที่เว้นเพื่อให้แสงลอด เราก็ดันลดระยะลงเหลือ 5-7 ซม.ด้วย (นัยว่า Designer เราชอบอะไรเล็กๆ กว่าปกติ) ซึ่งก็จะส่งผลให้แสงมันไม่ออกมาอย่างที่ควรจะเป็น (ก็ระยะเหลือนิดเดียว แสงก็ถูกกดไว้ในหลืบหมด) แถมงานฝ้าก็ทำได้ยาก แถมไม่ค่อยเนี๊ยบอีกด้วย และที่สำคัญ การเปลี่ยนหลอดในภายหลัง ก็จะทำไม่ได้อีกด้วย (ก็หลอดเล็กลง แต่มือคนเราไม่ได้เล็กลงตามนี่ครับ)
สุดท้าย เจ้านายสุดหล่อของเรา ก็เลยต้องรับภาระเปลี่ยนแบบฝ้าเพดานใหม่ทั้งหมด เพื่อแก้ไขปัญหานี้ พร้อมทั้งเสียงบ่นตามมา อีกหลายวันเลยทีเดียวครับ

เอาล่ะครับ วันนี้ ผมก็มาเล่าเรื่องหลอด T5 ให้ฟังกันไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับเดือนหน้า ได้ข่าวว่า เจ้านายกำลังปรึกษากับน้อง Hana คนดี ว่าจะให้ผมมานั่งโม้เรื่องหลอด LED ให้ฟังอีก...แฮ่ม...ถ้าอย่างไร ก็อย่าลืมติดตามตอนต่อไปในเดือนหน้านะครับ...

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น