โรคลิ้นหัวใจรั่ว
โรคลิ้นหัวใจรั่ว
หัวใจทำงานคล้ายปั๊มน้ำสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงทั่วร่างกาย การบีบตัวของหัวใจทำให้เลือดไหลผ่านลิ้นหัวใจ ซึ่งเหมือนวาล์วปิดเปิด โดยเมื่อเลือดไหลผ่านออกไป ลิ้นหัวใจจะปิดไม่ให้เลือดไหลย้อนทางกลับมา เมื่อมีปัญหาโรคของลิ้นหัวใจ ประตูปิดเปิดจะทำงานไม่ปกติ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้เหนื่อยง่าย
ลิ้นหัวใจ มี 4 ลิ้น
1) ลิ้นเอออร์ติค กั้นระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างกับหลอดเลือดแดงใหญ่
2) ลิ้นไมตรัล กั้นระหว่างหัวใจห้องซ้ายบนและล่าง
3) ลิ้นพัลโมนารี กั้นระหว่างหัวใจห้องขวาล่างกับหลอดเลือดที่ไปปอด
4) ลิ้นไตรคัสปิด กั้นระหว่างหัวใจห้องขวาบนและล่าง
สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจ
1) โรคลิ้นหัวใจรูห็มาติค เกิดจากการติดเชื้อในวัยเด็ก มีอาการคออักเสบ แล้วเกิดการอักเสบของหัวใจ แต่จะเริ่มมีอาการตอนอายุมากขึ้น พบบ่อยมากในบ้านเรา โดยเฉพาะในต่างจังหวัด
2) โรคลิ้นหัวใจเสื่อมในคนสูงอายุ เป็นความเสื่อมของร่างกาย มักเป็นลิ้นหัวใจเอออร์ติคตีบ เกิดจากมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจ
3) โรคลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด อาจมีอาการตอนวัยเด็ก หรือมีตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ เด็กจะเหนื่อยง่าย ตัวไม่โต ตัวเขียว อาจพบร่วมกับผนังหัวใจรั่วด้วย
4) โรคลิ้นหัวใจอักเสบติดเชื้อ พบในคนไข้ที่ฉีดยาเสพติด หรือ คนไข้ที่มีโรคลิ้นหัวใจรั่วอยู่แล้วเกิดเชื้อโรคในเลือดไปทำลายลิ้นหัวใจ หลังจากการทำฟัน
5) โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผนังหัวใจจะขยายตัวออกกว้างขึ้น เนื่องจากเลือดคั่งมาก แต่กล้ามเนื้อหัวใจไม่แข็งแรง ทำให้ลิ้นหัวใจโดนยืดขยายออกจนรั่ว หรือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนไม่สามารถยึดลิ้นหัวใจไว้ได้
อาการและอาการแสดง
เหนื่อยง่าย
ผนังหัวใจหนา
นอนราบไม่ได้ ขาบวม
ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
เสียงฟู่ บริเวณลิ้นหัวใจ
เป็นลม หมดสติบ่อยๆ
การตรวจพิเศษ
1) เอกซเรย์ และ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะบอกได้ว่ามีหัวใจห้องใดโตผิดปกติ มีน้ำท่วมปอด หรือไม่ จังหวะการเต้นหัวใจปกติหรือไม่
2) คลื่นเสียงความถี่สูง (เอคโค่) คล้ายเครื่องอัลตราซาวน์ จะเห็นการปิดเปิดของลิ้นหัวใจ การบีบตัวของกล้าม เนื้อหัวใจ รวมทั้งความรุนแรงของการตีบ หรือรั่วของลิ้น หัวใจ
วิดีโอแสดงการตรวจหัวใจ ด้วยเครื่อง Echocardiography
ลิ้นหัวใจรั่ว(201KB)
ลิ้นหัวใจตีบ(299KB)
3) สวนหัวใจ,ฉีดสี บอกความรุนแรงของโรคได้ อาจทำร่วมกับการขยายลิ้นหัวใจ ด้วยบอลลูน
วิดีโอแสดงการสวนหัวใจ และการถ่างขยายลิ้นด้วย Balloon(1142KB)
การรักษา
เลี่ยงการออกกำลังกายหักโหม
งดอาหารเค็ม บุหรี่ แอลกอฮอล์ อาหารมันจัด ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ต้องจำกัดน้ำดื่ม
กินยา และไปพบแพทย์สม่ำเสมอ
ขยายลิ้นหัวใจด้วยบอลลูน
เปลี่ยนผ่าตัดลิ้นหัวใจเทียม
ถ้าต้องทำฟัน ผ่าตัด ต้องแจ้งแพทย์ว่ามีโรคลิ้นหัวใจอยู่
การป้องกัน
ตรวจสุขภาพประจำปี
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ถ้ามีคออักเสบ ไอ เจ็บคอ ต้องกินยาให้ครบขนาดยา จนหายขาด
โดย นพ.วัธนพล พิพัฒนนันท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น