ฟังเพลงอย่างนักเล่นเครื่องเสียง
ประโยชน์ของการฝึกการฟังที่ถูกต้องก็คือการฝึกให้ประสาทหูได้รู้จักแยกแยะเสียงในลักษณะต่าง ๆ ออกจากกัน ซึ่งถ้าหูของคนเราสามารถแยกแยะรายละเอียดของเสียงได้ดีเพียงใด ก็จะทำให้เราสามารถเข้าถึงวิญญาณของเพลงที่ฟังได้มากเท่านั้น ในโลกของดนตรีนั้นศิลปินผู้สรรค์สร้างงานเพลงได้อาศัย "เสียง" เป็นสื่อในการถ่ายทอดความหมายไปยังผู้ฟัง ไม่ว่าผู้แต่งจะเป็นคนเชื้อชาติใด ภาษาใด แต่ "เสียง" ซึ่งเป็นภาษาดนตรีที่ถูกใช้ในการสื่อสารกันนั้นถือว่าเป็นภาษาสากล
การเรียนรู้ในเรื่องของการฟังก็เหมือนการเรียนรู้ภาษาสากลของดนตรีนั่นเอง
การได้เรียนรู้ถึงความหมายของการฟังที่ถ่องแท้ จะทำให้การเล่นเครื่องเสียงของเราบรรลุถึงเป้าหมายที่แท้จริง การหยิบเพลงของศิลปินขึ้นมาฟังก็เหมือนกับการเสพงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ซึ่งเครื่องเสียงก็เป็นเพียงเครื่องมือในการถ่ายทอดงานศิลปะชิ้นนั้นออกมาให้เราเสพ บทเพลงหรืองานศิลปะดังกล่าวจะถูกถ่ายทอดออกมาได้ตรงตามความหมายของผู้สรรค์สร้างมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเครื่องเสียงซึ่งเป็นตัวถ่ายทอดส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับ "วิธีการปรับแต่งให้ชุดเครื่องเสียงเหล่านั้นอยู่ในสภาวะที่สามารถถ่ายทอดงานศิลปะออกมาได้หมดจดที่สุด" นั่นเอง
(1) อิมเมจ หรือ ตัวเสียง หมายถึง รูปลักษณ์หรือเสียงที่ให้รูปทรงเป็นชิ้นดนตรีหรือเครื่องเสียงที่มีคุณภาพดี จะต้องสามารถให้รูปทรงของชิ้นดนตรีที่ชัดเจนขึ้นรูปเป็นสามมิติ (9) และมีสัดส่วน (10)ที่สมจริง
(2) ซาวนด์สเตจ หรือ เวทีเสียง หมายถึง อาณาเขตโดยรอบที่อิมเมจหรือตัวเสียง (1)ทั้งหมดเรียงตัวอยู่ในอากาศ ลักษณะความกว้าง-แคบหรือตื้น-ลึกของเวทีเสียงจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของชุดเครื่องเสียง และการปรับแต่งตำแหน่งลำโพงและการปรับแต่งสภาพอะคูสติกในห้องฟังเป็นสำคัญ
(3) ไดนามิก-คอนทราสต์ หมายถึง ลักษณะการเปลี่ยนแปลงความดังอย่างค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป เครื่องเสียงที่ดี ๆ นั้นจะต้องสามารถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงของระดับเสียงของชิ้นดนตรีได้ต่อเนื่องละเอียดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ก้าวกระโดด ดังเช่นสัญญาณเสียงที่เกิดจากการสี เป่า และร้อง ลักษณะการบรรเลงของนักดนตรีที่กระทำต่อเครื่องดนตรีบางประเภทนั้นสามารถให้ได้ทั้งไดนามิก-คอนทราสต์และไดนามิก-ทรานเชี้ยนต์ (4)
(4)ไดนามิก-ทรานเชี้ยนต์ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของระดับความดังอย่างรวดเร็ว หรือสัญญาณเสียงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เป็นลักษณะของการเปลี่ยนระดับความดังจาก 0 เดซิเบลขึ้นไปจนถึงจุดพีคสุดของสัญญาณอย่างรวดเร็วมาก ๆ ดังเช่นสัญญาณเสียงที่เกิดจากการตี ทุบ หรือเคาะที่นักดนตรีกระทำต่อเครื่องดนตรีนั้น ๆ เครื่องเสียงที่ดีนั้นต้องสามารถตอบสนองสัญญาณในลักษณะดังกล่าวที่ให้สปีดรวดเร็วสมจริง
(5) หัวเสียง (Impact) หมายถึง สัญญาณเสียงแรกที่เครื่องดนตรีถูกกระทำ เครื่องเสียงที่มีคุณภาพดีจะต้องให้หัวเสียงที่ประกอบด้วยความชัดเจนและความเร็ว ในส่วนของความชัดเจนนั้นก็คือต้องให้ตัวเสียงที่มีความเข้ม มีมวลอิ่ม และมีขนาดที่สมจริง เช่น หัวเสียงที่เกิดจากการเคาะเหล็กสามเหลี่ยมจะให้ตัวเสียงที่มีขนาดเล็กกว่าหัวเสียงที่เกิดจากการย่ำกระเดื่องกลอง ส่วนความเร็วของหัวเสียงนั้นขึ้นอยู่กับการเดินทางของความถื่มาถึงหูของเรา เช่น เสียงย่ำกลอง ซึ่งอยู่ในย่านเสียงทุ้มจะเดินทางมาถึงหูของเราช้ากว่าเสียงเคาะเหล็กสามเหลี่ยมซึ่งอยู่ในย่านเสียงสูง เหล่านี้ เป็นต้น
(6) ความกว้างของเวทีเสียง หมายถึง ระยะทางจากซ้ายสุดของเวทีเสียงไปจนถึงชิ้นที่อยู่ขวาสุดของเวทีเสียง เพลง ๆ เดียวกันจากแผ่นซีดีแผ่นเดียวกันก็อาจจะให้ความกว้างของเวทีเสียงต่างกันได้เมื่อฟังจากชุดเครื่องเสียงต่างกัน เครื่องเสียงที่ให้เวทีเสียงกว้างมาก ๆ ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะคุณภาพของเวทีเสียง (2) ย่อมขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับความลึก (7) ด้วย การแยกลำโพงทั้งสองข้างให้ถ่างออกจากกันจะเป็นการเพิ่มระยะความกว้างให้กับเวทีเสียง แต่ถ้าลำโพงทั้งสองข้างถูกแยกห่างกันมากเกินไปจะทำให้ความเข้มข้น ( 8 ) ของชิ้นดนตรีบริเวณกลาง ๆ เวทีเสียงเจือจางลง
(7) ความลึกของเวทีเสียง หมายถึง ระยะทางจากระนาบของแถวชิ้นดนตรีที่อยู่ด้านหน้าลงไปถึงด้านหลัง เครื่องเสียงที่ดี ๆ นั้นต้องสามารถให้ความลึกของชิ้นดนตรีในระนาบหลัง ๆ ที่แผ่กว้าง ไม่ใช่หุบเข้าหาตรงกลางเวที การดึงลำโพงทั้งสองข้างให้เข้าใกล้ชิดกันจะทำให้ความลึกของเวทีเสียงชัดเจนขึ้น แต่ถ้าลำโพงทั้งสองข้างวางชิดกันเกินไป ชิ้นดนตรีในระนาบหลัง ๆ จะเบียดกระจุกกันอยู่บริเวณกลางเวที ไม่แผ่กระจายออก
( 8 ) ความเข้มข้น กับ ความบอบบาง หมายถึง ความหนาแน่น หรือความเจือจางของมวลเนื้อเสียงของชิ้นดนตรี พิจารณาที่อิมเมจ หรือตัวเสียง (1) ที่ลอยอยู่ในอากาศเป็นความรู้สึกว่าชิ้นดนตรีเหล่านั้นคงอยู่ในอากาศด้วยความชัดเจนมากน้อยเพียงใด ถ้ามากขนาอที่รู้สึกจะเหมือนกับ "มองเห็น" ชิ้นดนตรีนั้น ๆ ลอยอยู่ในอากาศได้ชัดเจนก็บอกได้ว่าชิ้นดนตรีนั้นมีเนื้อเสียงที่เข้มข้น แต่ตรงกันข้าม ถ้ารู้สึกแต่เพียงเลา ๆ เหมือนกับว่าเสียงชิ้นดนตรีนั้นลอยอยู่ตรงนั้นตรงนี้ บอกได้ไม่ชัดเจนนัก ก็คือชิ้นดนตรี นั้นให้เสียงที่มีมวลเนื้อบอบบางนั่นเอง
(9) ความเป็นสามมิติ หมายถึง ภาพลักษณ์ของเวทีเสียงที่เกิดจากการจัดเรียงของชิ้นดนตรีขึ้นเป็นเวทีเสียงที่ประกอบไปด้วยความกว้าง แคบ ความตื้น-ลึก และความต่ำ-สูง ความเป็นสามมิติของเวทีเสียงนี้จะเกิดขึ้นได้ ตัวเสียงหรืออิมเมจ (1) ของชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นก็ต้องมีรูปทรงที่ให้ความรู้สึกเป็นสามมิติด้วยเช่นกัน คุณสมบัติข้อนี้นอกจากจะต้องอาศัยประสิทธิภาพของชุดเครื่องเสียงที่ดีแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญกว่านั้นต้องอาศัยความละเอียดพิถีพิถันในการปรับแต่งตำแหน่งการจัดวางลำโพงและสภาพอะคูสติกภายในห้องฟังที่เหมาะสมอีกด้วย
(10) ขนาดของชิ้นดนตรี หมายถึง การประกอบกันของเสียงหลักและฮาร์มอนิกของเสียงนั้น ถ้ามีความสมบูรณ์เพียงพอก็จะเกิดเป็นขนาดของเสียงที่แตกต่างกันออกไปตามคลื่นเสียงหลักธรรมชาติของชิ้นดนตรีนั้น ๆ เช่น เสียงเปียโนจะให้ขนาดที่เล็กกว่าเมื่อเทียบกับเสียงอะคูสติกเบส แม้ว่าจะเล่นโน้ตตัวเดียวกันก็ตาม และในเครื่องดนตรีชิ้นเดียวกันก็จะให้ขนาดเสียงของตัวโน้ตแต่ละตัวที่ไม่เท่ากันด้วย เช่น เสียงเปียโนที่เล่นด้วยมือขวาจะให้ขนาดเสียงที่เล็กกว่าเสียงเปียโนที่เล่นด้วยมือซ้าย ความแตกต่างอันนี้จะเกิดจากระดับเสียงที่สูง-ต่ำไปตามออกเตปของตัวโน้ต เครื่องเสียงที่ดี ๆ นั้นจะต้องสามารถแยกแยะคุณสมบัติดังกล่าวของเสียงออกมาได้อย่างชัดเจน และคุณสมบัติข้อนี้เรียกว่าเป็น "รายละเอียดเบื้องลึก" หรือ Inner Detail ของเสียงส่วนหนึ่ง
(11) ความใส (Transparency) หมายถึง ลักษณะที่ทำให้สามารถ "มองเห็น" หรือรับรู้รายละเอียดของเสียงบนเวทีเสียงทั้งหมดตั้งแต่ระนาบต้นจนลึกลงไปถึงระนาบหลัง ๆ สิ่งนี้จะตรงข้ามกับ "ความขุ่นมัว" ซึ่งจะทำให้การรับรู้รายละเอียดดังกล่าวไม่ชัดเจนเปรียบเหมือนการมองเข้าไปในที่มีหมอกปกคลุมนั่นเอง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น