วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

5 วิธีเพิ่มพื้นที่บันทึกภาพให้นานขึ้น

5 วิธีเพิ่มพื้นที่บันทึกภาพให้นานขึ้น
 
หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของกล้องวงจรปิดคือ การบันทึกภาพเหตุการณ์ย้อนหลังเอาไว้ เพื่อสามารถเปิดดูได้กรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันใดๆ ขึ้น และภาพดังกล่าวจะได้ใช้เป็นหลักฐานได้ ซึ่งการที่จะเก็บบันทึกภาพเหตุการณ์ย้อนหลังได้นานมากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้น อยู่กับขนาดของฮาร์ดดิสก์นั่นเอง
มีบางกรณีครับที่ผู้ใช้ตั้งค่าระบบเอาไว้ให้ rewrite หรืออัดทับของเดิมได้ทันทีเมื่อฮาร์ดดิสก์เต็ม และหลายครั้งที่เมื่อต้องการดูภาพย้อนหลังแต่กลับพบว่าถูกอัดทับไปแล้ว เพราะฮาร์ดดิสก์เต็ม เนื่องจากพื้นที่ฮาร์ดดิสก์ไม่มากพอ บางท่านไม่เข้าใจก็จะโกรธเคืองกล้องวงจรปิดเอา หาว่าซื้อมาแล้วไม่มีประโยชน์ไปซะงั้นโดยลืมนึกไปว่าอุปกรณ์เหล่านี้เป็น เครื่องมือเท่านั้น แต่คนต่างหากที่จะนำเครื่องมือนี้มาใช้ยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การทำให้ระบบสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ได้นานขึ้นมีอยู่ด้วยกัน หลายวิธีดังนี้ครับ
  • การเพิ่มขนาดฮาร์ดดิสก์ครับ สำหรับใครที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกติดตั้งระบบ ก็อาจจะยังพอมีเวลาทันที่จะพิจารณาเพิ่มขนาดฮาร์ดดิสก์ เช่น จากเดิมที่มากับเซ็ตที่ขายเป็นฮาร์ดดิสก์ขนาด 500GB ก็ขอเพิ่มเป็น 1000GB หรือในรายที่ติดตั้งระบบไปแล้วก็สามารถเพิ่มฮาร์ดดิสก์ด้วยตัวเองได้
*ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณต้องรู้ก่อนครับว่าต้องการสำรองข้อมูลให้ได้มากสุดเป็นเวลากี่วัน แล้วจึงมาคำนวณดูว่าควรใช้ฮาร์ดดิสก์ขนาดเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ

  • ถ้ายังไม่อยากเพิ่มฮาร์ดดิสก์ ก็มีอีกวิธีหนึ่งครับคือการเปลี่ยน VDO compression format หรือรูปแบบการบันทึก โดยปกติเครื่องบันทึกภาพจะมีฟังก์ชั่นให้เลือกได้ว่าคุณต้องการบันทึกในแบบ ใด เช่น บันทึกเป็นแบบ frame หรือบันทึกแบบ CIF
  • ลดความเร็วการบันทึก หรือ Recording Speed ในกรณีปกติการบันทึกแบบ frame ในระบบ PAL จะต้องบันทึกด้วยอัตราเร็ว (frame rate) 25 เฟรมต่อวินาที จึงจะเห็นภาพเคลื่อนไหวราบรื่นเป็นปกติ แต่เราสามารถลดความเร็วการบันทึกเฟรมลงได้ตามสเต็ปที่ระบบกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ลดกันไปทีละครึ่ง เช่น จาก 25 ไปเป็น 12.5, 6.25 และ 3.12 เฟรมต่อวินาที ตามลำดับ เช่นเดียวกันในการบันทึกแบบ CIF ที่สามารถลดความเร็วลงได้ เริ่มต้น จาก 100 เป็น 50, 25, 12.5 เฟรมต่อวินาที ตามลำดับ (อ้างจากเครื่องบันทึกภาพแบบ 4 chanels)
*อย่างไรก็ตามการลดความเร็วการบันทึกนี้จะทำให้ไฟล์ภาพเหตุการณ์ลดขนาดลง แต่ผลที่ตามมาก็คือ ภาพย้อนหลังจะเป็นภาพกระตุกๆ ยิ่งลดลงมากยิ่งกระตุกมาก เพราะใน 1 วินาที ระบบได้บันทึกภาพจำนวนเฟรมน้อยลงนั่นเอง
  • อีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ฮาร์ดดิสก์บันทึกได้นานขึ้น คือการลดคุณภาพของภาพเหตุการณ์ที่บันทึก หรือ Image Quality ซึ่งจะมีให้เลือกเป็น best, high, normal, basic เราสามารถตั้งค่าคุณภาพตรงนี้ได้ ยิ่งลดมาก ก็ยิ่งช่วยลดขนาดไฟล์ภาพเหตุการณ์ลง แต่ก็จะได้ภาพเหตุการณ์ที่คุณภาพด้อยลงด้วยเช่นกันครับ
  • ตั้งค่า Motion Detection เครื่องบันทึกภาพรุ่นใหม่ๆ เดี๋ยวนี้มีฟังก์ชั่นนี้กันแทบทุกยี่ห้อแล้วครับ อันที่จริงนับว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยให้ฮาร์ดดิสก์ที่มี อยู่สามารถบันทึกได้นานขึ้นครับ เพราะวิธีอื่นที่กล่าวมาข้างบนนั้น (ยกเว้นวิธีแรกคือการเพิ่มฮาร์ดดิสก์ครับ) ล้วนแต่ทำให้คุณภาพของภาพเหตุการณ์ที่ได้ด้อยลงทั้งนั้น แต่ก็เป็นหนทางที่ช่วยให้ใช้พื้นที่ฮาร์ดดิสก์ที่มีอยู่ได้นานขึ้นจริงๆ
Motion Detection เป็นการตั้งค่าให้เครื่องบันทึกภาพทำการบันทึกเมื่อมีการเคลื่อนไหวผ่านหน้า กล้องในบริเวณที่เรากำหนด หากไม่มีการเคลื่อนไหวในบริเวณนั้นเลยระบบก็จะไม่บันทึก ซึ่งในการตั้งค่านี้สามารถเลือกเอาส่วนพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ออกไปได้ เช่น บริเวณที่จับภาพใบไม้ที่เคลื่อนไหวเพราะลมพัดตลอดเวลา ทำให้ระบบไม่มองการเคลื่อนไหวในส่วนนั้น และไม่ทำการบันทึกแม้จะมีการเคลื่อนไหวในบริเวณนั้น นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าความอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหว ยิ่งอ่อนไหวมากระบบก็จะตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวมาก กล่าวคือ หากมีการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยระบบก็จะทำการบันทึกทันที ดังนั้นจะเห็นว่าวิธีนี้จะใช้ไม่ค่อยได้ผลนักกับสถานที่ติดตั้งกล้องที่มี การเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาครับ
ที่แนะนำมาทั้งหมดนี้ก็เป็นทางเลือกง่ายๆ ที่จะช่วยให้เราใช้พื้นที่ฮาร์ดดิสก์ที่มีอยู่ได้นานขึ้นครับ โดยใช้คุณสมบัติในการทำงานของเครื่องบันทึกภาพเข้ามาช่วย แต่เราก็ควรเลือกให้เหมาะสมครับเพราะไม่เช่นนั้นก็จะทำให้ได้ภาพเหตุการณ์ ย้อนหลังที่ไม่ชัดเจน ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์จริงมั๊ยครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น