วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทำความรู้จักระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) กันเถอะ

ทำความรู้จักระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) กันเถอะ

คุณเคยได้ยินคำว่า "CCTV" กันบ้างหรือเปล่า ?
หลายคนร้องอ๋อ! เพราะนั่นก็คือกล้องวงจรปิดนั่นเอง และถามต่อว่าคุณรู้จักกล้อง CCTV มากแค่ไหน ก็อาจจะทำให้หลายคนอึ้ง! เพราะไม่ทราบ แต่เชื่อว่าทุกคนคงจะเข้าใจประโยชน์ที่คุณจะได้จากกล้อง CCTV กันมากกว่า ..วันนี้ เรามาทำความรู้จักโทรทัศน์วงจรปิดถึงระบบการทำงาน องค์ประกอบ และการเชื่อมต่อกล้อง ทั้งนี้ก็เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจในระบบมากขึ้น

ะบบโทรทัศน์วงจรปิด หรือ CCTV มาจากคำว่า Closed-Circuit Television  แปลกันตรงๆ ตัวกันเลย ซึ่ง CCTV ก็คือระบบการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์จากกล้องที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ ที่อยู่ในวงจรเดียวกันมาสู่เครื่องรับ โดยทั่วไปใช้เพื่อสังเกตการณ์หรือเฝ้าระวังความปลอดภัย
ส่วนการทำงานของระบบโทรทัศน์วงจรปิดที่สมบูรณ์นั้นต้องประกอบด้วยอุปกรณ์หลายภาคส่วน ทั้งภาครับ ภาคส่ง และภาคบันทึก โดยพื้นฐานแล้วไม่ว่าจะเป็นระบบเล็กหรือใหญ่จะมีองค์ประกอบของระบบเหมือนๆกัน แต่อาจจะมีการดัดแปลง เพิ่มเติมอุปกรณ์เสริมบางส่วน เพื่อเพิ่มความสามารถของระบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ ปัจจัยทางเทคโนโลยี รวมถึงงบประมาณการติดตั้งด้วย
คราวนี้เรามาเข้าใจองค์ประกอบของระบบ CCTV กันก่อน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
1.กล้องวงจรปิด (Camera) ทำหน้าที่ในส่วนของภาคส่ง เป็นตัวมองภาพในจุดที่เราต้องการสังเกตการณ์ สำหรับกล้องที่ใช้เพื่องานนี้ควรเป็นกล้องวงจรปิดโดยเฉพาะ เนื่องจากมีการพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับงานในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเลนส์ การรับแสง ระบบการรองรับสัญญาณภาพ (PAL/NTSC) แผงวงจร หรือแม้แต่บอดี้กล้องที่ต้องออกแบบมาให้ทนทาน เพราะต้งใช้งานตลอดเวลา ส่วนจะเป็นกล้องหน้าตาแบบไหนประเภทอะไรก็แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ
2.จอรับสัญญาณภาพ (Monitor) ทำหน้าที่ในส่วนของภาครับ เป็นตัวเผยแพร่สัญญาณภาพที่ได้จากกล้อง เรียกว่ากล้องมองเห็นยังไงเราก็จะเห็นภาพบนจออย่างนั้นนั่นแหละครับ สำหรับจอรับสัญญาณภาพนี้อาจจะเป็นจอโทรทัศน์หรือจอคอมพิวเตอร์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับระบบเครื่องบันทึกภาพที่เราใช้ อย่างไรก็ตามจอรับภาพนี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ครับ ในกรณีที่ระบบมีการเชื่อมต่อกับเครื่องบันทึกภาพแล้วไม่ต้องการแสดงภาพให้ใครเห็น ณ จุดนั้น เพราะสามารถนำสื่อบันทึกภาพ เช่น ม้วนวิดีโอ หรือแผ่นซีดี ดีวีดี ออกมาเปิดดูภายหลังได้
แต่จอรับสัญญาณภาพนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับระบบที่ต่อตรงไม่ได้ผ่านเครื่องบันทึกภาพ ระบบแบบนี้จะต่อสัญญาณตรงจากกล้องมายังจอรับสัญญาณภาพ เป็นการแสดงภาพสดที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น แต่จะไม่สามารถดูภาพย้อนหลังได้ เพราะไม่มีการบันทึกเอาไว้

3.เครื่องบันทึกภาพ (DVR) ทำหน้าที่ในส่วนของภาคบันทึก บันทึกภาพที่ได้จากกล้องแล้วส่งผ่านไปยังจอรับสัญญาณภาพ จึงเป็นตัวที่ทำหน้าที่อยู่ตรงกลางระหว่างกล้องและจอรับสัญญาณภาพ เครื่องบันทึกภาพเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเรียกดูย้อนหลังได้ ถ้าระบบใดไม่มีความต้องการดูภาพย้อนหลังหรือต้องการดูเฉพาะภาพเหตุการณ์สด ณ บัดนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องบันทึกภาพก็ได้ แต่ก็จะทำให้การทำงานของระบบกล้องวงจรปิดลดประสิทธิภาพลง เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ ขึ้น ก็จะไม่สามารถเรียกภาพกลับมาดูเพื่อใช้ประโยชน์ได้เลย
4.สายสัญญาณภาพ (Cabling) เป็นสื่อนำสัญญาณภาพที่ได้จากกล้องไปสูจอรับภาพหรือเครื่องบันทึกภาพ โดยทั่วไปจะใช้สาย Coaxial เช่น RG6 เพราะกล้องวงจรปิดทั่วไปส่งสัญญาณภาพเป็นแบบอนาล็อก แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาไปมากจนสามารถใช้สาย UTP หรือสาย LAN แทนได้ แต่ก็จะต้องมีอุปกรณ์แปลงสัญญาณจากอนาล็อกเป็นดิจิตอลอีกตัวหนึ่ง ทว่าก็มีกล้องรุ่นใหม่ คือกล้องไอพี ที่ส่งสัญญาณแบบดิจิตอล ใช้สาย UTP เป็นสื่อสัญญาณเหมือนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตามหากใช้กล้องแบบไร้สาย (wirless camera) ก็ไม่จำเป็นต้องเดินสายสัญญาณภาพครับ
สายไฟเลี้ยง อุปกรณ์ต่างๆ ในระบบโทรทัศน์วงจรปิดเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องมีไฟเลี้ยงเหมือนอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไปที่ต้องเสียบปลั๊กแล้วจึงจะใช้งานได้ กล้องก็เช่นเดียวกันจึงจำเป็นต้องลากสายไฟไปยังจุดต่างๆ ที่ติดตั้งกล้องอยู่ เพื่อให้มีแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงกล้อง แต่ก็ต้องดูด้วยครับว่ากล้องแต่ละรุ่นใช้ไฟเลี้ยงเท่าไหร่ บางรุ่นใช้แค่ 12 Volt ซึ่งต้องมีหม้อแปลงไฟ (adaptor) มาด้วย บางรุ่นก็ใช้ 220 Volt เท่าไฟบ้านเลยก็มีครับ
นอกจากองค์ประกอบหลักๆ ที่กล่าวมานี้แล้ว อาจมีองค์ประกอบอื่นมาเสริมได้ครับ เพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ส่วนป้องกันไฟกระชาก ซึ่งจะช่วยรักษาระดับไฟเลี้ยงกล้องและเครื่องบันทึกภาพ ไม่ให้อุปกรณ์เกิดการเสียหายจากกระแสไฟเกิน หรือส่วนสำรองไฟที่ช่วยให้มีไฟเลี้ยงกล้องแม้ขณะไฟฟ้าดับ ทำให้ระบบยังทำงานได้อย่างต่อเนื่องครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น