วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เพิ่มช่องเสียบ DSC ให้ FUTABA 2PL

เพิ่มช่องเสียบ DSC ให้ FUTABA 2PL   

DSC ย่อมาจาก Direct  Servo Control แปลอย่างง่ายว่า ควบคุมเซอร์โวโดยตรง
วิทยุบังคับที่มีช่อง DSC ถ้าใช้ร่วมกับสาย DSC และรีซีฟเวอร์ที่มีช่องรับ DSC จะสามารถส่งสัญญาณจากวิทยุบังคับไปยังรีซีฟเวอร์ ผ่านทางสาย DSC เพื่อควบคุมเซอร์โว เพื่อการปรับตั้งหรือทดสอบเซอร์โว/สปีดคอนโทรล โดยที่วิทยุบังคับไม่ต้องส่งคลื่นออกอากาศ
เนื่องจากไม่ได้ส่งคลื่นออกอากาศ จึงไม่รบกวนคลื่นวิทยุของเพื่อนๆ ที่กำลังใช้ความถี่ในขณะนั้น
ช่อง DSC นี้ถ้าใช้ร่วมกับกล่องแปลงสัญญาณ RC เช่น กล่อง 9TURBO RC-USB V2.0 จะสามารถใช้วิทยุบังคับในการเล่นเกมขับรถต่างๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ได้อีกด้วย โดยที่วิทยุบังคับไม่ต้องส่งคลื่นออกอากาศ เป็นการประหยัดพลังงานแบ็ตตารี่ของวิทยุบังคับเป็นอย่างมากด้วย ทำให้เล่นเกมส์ได้อย่างต่อเนื่อง ได้นานกว่าเดิมหลายเท่าตัว ไม่ต้องชาร์จแบ็ตตารี่บ่อยๆ
ตัวอย่างเกมขับรถแข่ง เช่น เกมจำลองแข่งรถน้ำมันทางเรียบ Virtual RC, เกมแข่งรถทางฝุ่น RealRace G2 , เกมแข่งรถ Need For Speed Most wanted เป็นต้น

ช่อง DSC นี้ จะมีอยู่ในวิทยุบังคับระดับโปร เช่น Futaba 3PK, Sanwa M8, Sanwa M11 เป็นต้น
ส่วน  Futaba 2PL เป็นวิทยุบังคับระดับเริ่มต้น จึงไม่มีช่องเสียบ  DSC
ผมทราบว่า เพื่อนหลายๆ ท่าน ที่เข้าสู่วงการรถไฟฟ้า RC ใหม่ๆ มักจะมีวิทยุบังคับ Futaba 2PL นี้  หรือแม้แต่มือเก่าที่เปลี่ยนวิทยุบังคับเป็นระดับโปรกันแล้ว ก็ยังมีเจ้า 2PL นี้เก็บไว้

ตอนนี้ถึงเวลาเพิ่มประสิทธิภาพให้ Futaba 2PL กันแล้วโดยการเพิ่มช่องเสียบ DSC ให้กับเจ้า 2PL
โดยระบบ DSC ที่ผมออกแบบ มีคุณสมบัติดังนี้
-         ส่งสัญญาณ PPM ออกจากทางช่องเสียบ DSC
-         เมื่อมีการเสียบใช้งานช่อง DSC จะตัดไฟเลี้ยงภาคส่งคลื่นวิทยุโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ภาคส่งคลื่นวิทยุหยุดทำงาน
-         เมื่อใช้ DSC สามารถหดเสาอากาศลงหมดได้ เพราะภาคส่งคลื่นวิทยุหยุดทำงานแล้ว จึงหดเสาอากาศลงหมดได้อย่างปลอดภัย
-         เมื่อใช้ DSC  ไม่ต้องถอดแร่ความถี่ เพราะภาคส่งคลื่นวิทยุหยุดทำงานแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องถอดแร่ความถี่
อุปกรณ์ ที่ใช้ ก็มีเพียง แจ็คไมค์เล็กสเตอริโอแบบมีสวิทช์ในตัว (ตัวเมีย), และปลั๊กไมค์เล็กสเตอร์โอ 3.5mm (ตัวผู้),
ในภาพแจ็คตัวเมีย ผมถ่ายให้ดูทั้งด้านบนและด้านล่างเลย ที่จริงใช้แค่แจ็คตัวเมียเพียงตัวเดียว ที่ติดตั้งลงใน Futaba 2PL
ส่วนปลั๊กตัวผู้ จะใช้เป็นปลั๊ก DSC ในการต่อใช้งาน หรือเสียบเพื่อทดสอบช่อง DSC ที่ผมจะทำขึ้นใหม่นี้
หน้าที่ของขาต่างๆ ของปลั๊กตัวผู้ 3.5mm  และแจ็คตัวเมียแบบมีสวิทช์ในตัว
S1 คือ สัญญาณช่องที่หนึ่ง ในที่นี่ใช้ส่งสัญญาณ PPM
S2 คือ สัญญาณช่องที่สอง ในที่นี้ไม่ได้ใช้งาน
GND คือ กราวด์
SW.NO ย่อมาจาก Switch Normal-Open คือสวิทช์ขาปกติวงจรเปิด (ปกติกระแสไฟไม่เดิน)
SW.COM ย่อมาจาก Switch Common คือสวิทช์ขาร่วม
SW.NC ย่อมาจาก Switch Normal-Close คือสวิทช์ขาปกติวงจรปิด (ปกติกระแสไฟเดิน)
มาดูกันว่า ผมทำช่องเสียบ DSC ให้เจ้า 2PL ของผมได้อย่างไร  เริ่มจากการเปิดฝาหลังเลยนะ
ก่อนเปิดฝาหลัง ก็ต้องถอดแร่ความถี่ออก ถอดแบ็ตตารี่ออก แล้วไขน็อตทั้ง 7 ตัว ที่ยึดฝาหลังออก
เปิดฝาหลังจะเห็นแผ่นวงจร 2 แผ่นของเจ้า 2PL
แผ่นบนเป็นแผ่นเล็กคือแผ่นวงจรภาคส่งคลื่นวิทยุ  แผ่นล่างเป็นแผ่นใหญ่ คือแผ่นสมองกลวงจรหลัก
ไขน็อต 2 ตัวที่ยึดแผ่นวงจรภาคส่งคลื่นวิทยุ ออกไป แล้วดึงแผ่นวงจรออกมาตรงๆ ตัวจับเสาอากาศจะปลดออกเอง แล้วพลิกแผ่นวงจร
จะเห็นสายสัญญาณ 3 เส้น สีขาว-แดง-ดำ เชื่อมอยู่ระหว่างแผ่นวงจรบนและแผ่นวงจรล่าง
ผมต้องเล็งหาที่วางแจ็คตัวเมียให้ได้ก่อนนะครับ มองไปมองมา  ด้านหน้าของวิทยุนี่เหมาะสุด เพราะวิทยุบังคับระดับโปร อย่างเจ้า 3PK ก็วางช่องเสียบ DSC ไว้ตรงด้านหน้า
ผมนำแผงวงจรบนใส่กลับเข้าที่ก่อน แต่ไม่ยึดน็อต  แล้วนำฝาหลังมาทาบ เพื่อหาตำแหน่งการวางแจ็คตัวเมีย ที่ไม่ติดเสาค้ำฝาหลัง
ถ้าเสาค้ำฝาหลังชนแจ็คตัวเมีย จะปิดฝาหลังไม่ได้ จึงต้องเล็งๆ ทาบๆ กับฝาหลัง ให้ดีก่อน เมื่อเล็งได้ที่เหมาะๆ แล้ว
ผมก็มาร์คตำแหน่งรูเสียบแจ็คไว้ ทั้งที่สันของฝาหน้าและฝาหลัง ผมใช้ตะไบกลม เพื่อตะไบสันของฝาหน้าและฝาหลังออกให้ได้ตามส่วนโค้งของรูแจ็ค  ตามภาพนี้จะเห็นว่าผมตะไบได้ส่วนโค้งตามรูแจ็คพอดีเลย  ระหว่างตะไบต้องระวังอย่าให้ตะไบไปโดนอุปกรณ์ใดๆ ในแผ่นวงจร
การยึดแจ็คตัวเมีย ผมยึดเข้ากับแผ่นวงจรแผ่นล่าง โดยใช้การตราช้าง (หรือกาวอัศจรรย์แห้งเร็ว) เพื่อแปะแจ็คตัวเมียกับแผ่นวงจร

ภาพแสดงสายทั้งสามเส้น ที่เชื่อมระหว่างแผ่นวงจรบนและล่าง (ของเดิมก่อนดัดแปลง)
สายขาวคือสายไฟบวก (V), สายแดงคือสายสัญญาณ PPM , สายดำคือกราวด์ (G)
ตามเดิม Futaba 2PL จะส่งไฟบวกผ่านสายสีขาวไปเลี้ยงแผ่นวงจรภาคส่งคลื่นวิทยุ
และส่งสัญญาณ PPM ผ่านสายสีแดง ไปที่แผ่นวงจรภาคส่งคลื่นวิทยุ เพื่อผสมสัญญาณ (Modulation) กับคลื่นวิทยุ  แบบ AM
หลักการดัดแปลง เพิ่มช่องเสียบ DSC
การควบคุมการเปิดปิดภาคส่งคลื่นวิทยุแบบอัตโนมัติ เมื่อมีการเสียบใช้ช่อง DSC จะอาศัยสวิทช์ภายในตัวของแจ็คตัวเมียเป็นหลัก
โดยสวิทช์จะควบคุมการจ่ายไฟเลี้ยงให้กับแผ่นวงจรภาคส่งคลื่นวิทยุ ในขณะที่มีการถอดปลั๊ก DSC สวิทช์จะต่อเชื่อมขา SW.COM เข้ากับ SW.NC และเมื่อมีการเสียบปลั๊ก DSC สวิทช์จะต่อเชื่อมขา SW.COM กับ SW.NO
ผมจึงย้ายสายไฟขาว (ไฟบวก) จากเดิมที่ต่อจากแผ่นวงจรล่างมาที่แผ่นวงจรภาคส่งคลื่นวิทยุโดยตรง เป็นให้สายไฟขาวมาต่อผ่านสวิทช์ภายในตัวของแจ็คตัวเมียก่อน ที่ขา SW.COM กับ SW.NC ในขณะที่ถอดปลั๊ก DSC ออก แผ่นวงจรภาคส่งคลื่นวิทยุ จึงมีไฟเลี้ยงตามปกติ และเมื่อเสียบปลั๊ก DSC ไฟเลี้ยงภาคส่งคลื่นวิทยุ ก็จะถูกตัดออกโดยอัตโนมัติจากการทำงานของสวิทช์ภายในตัวของแจ็คตัวเมียนี้

ส่วนสัญญาณ PPM ก็เพียงต่อสายสีแดงเพิ่มจากจุดเดิมที่สายสีแดงต่อมาอยู่แล้ว มาที่ขา S1 ของแจ็คตัวเมีย และต่อขา GND ของแจ็คตัวเมียลงกราวด์ของแผ่นวงจรด้วย เพียงเท่านี้ สัญญาณ PPM ก็จะปรากฎที่ช่องเสียบของแจ็คตัวเมียแล้ว
แจ็คตัวเมียแบบมีสวิทช์ในตัว ที่เราเพิ่มเข้าไป จึงกลายเป็นช่องเสียบ DSC ไปแล้วนะ

ภาพแสดง การต่อสายสีขาวใหม่ โดยต่อผ่านสวิทช์ของแจ็คตัวเมีย  ที่ขา SW.COM และ SW.NC เพื่อควบคุมไฟเลี้ยงภาคส่งคลื่น
การต่อสายสีแดง มาที่ขา S1 ของแจ็คตัวเมีย  ทำให้ช่องเสียบ DSC มีสัญญาณ PPM
การต่อสายสีดำ จากขา GND ของแจ็คตัวเมียลงกราวด์วงจร ตามภาพ ทำให้ช่องเสียบ DSC มีกราวด์

เมื่อตัดต่อสายต่างๆ เสร็จแล้ว ก็นำแผ่นวงจรบน ใส่กลับเข้าที่เดิม ต้องสังเกตดูให้ตัวจับเสาอากาศให้ลงล็อคให้ดีด้วย
แล้วขันน็อต 2 ตัวยึดแผ่นวงจรบนให้แน่นพอดี จากนั้นนำฝาหลังมาใส่ ขันน็อตยึดทั้ง 7 ตัว แล้วใส่แร่ความถี่ และแบ็ตตารี่ ให้เรียบร้อย
ในภาพนี้ จะเห็นช่องเสียบเล็กๆ ที่ด้านหน้าของวิทยุ นี่แหละครับ ช่องเสียบ DSC สำหรับ Futaba 2PL ของผม
โดยมีวิธีใช้งานตามนี้เลยครับ
กรณีใช้งานตามปกติ 
ชักเสาอากาศขึ้นจนสุด, เปิดสวิทช์ใหญ่ที่ด้านหลังวิทยุ (ช่อง DSC ต้องไม่มีปลั๊กเสียบนะ), วิทยุจะส่งคลื่นออกอากาศ
กรณีใช้งาน DSC
หดเสาอากาศลงสุด, เสียบปลั๊ก DSC, เปิดสวิทช์ใหญ่ที่ด้านหลังวิทยุ, วิทยุจะส่งสัญญาณ PPM ออกทางช่องเสียบ DSC โดยที่วิทยุจะไม่ส่งคลื่นออกอากาศ
คำเตือน
เพื่อนๆ ที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ไม่เข้าใจในวิธีการ ก็อย่าได้เสี่ยงทำการดัดแปลงโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้วิทยุบังคับเสียหายได้
ส่วนเพื่อนๆ ที่อ่านแล้วเข้าใจ และมีทักษะทางอิเล็คทรอนิคส์พอสมควร ก็ทำตามได้เลย 
วิทยุบังคับในภาพเป็น Futaba 2PL รีโมทคู่ใจของลูกชายผมเอง ผมดัดแปลงเรียบร้อยแล้ว ใช้เป็นวิทยุบังคับเล่นรถตามปกติ และใช้ ช่อง DSC ร่วมกับกล่องแปลงสัญญาณ 9TURBO RC-USB V2.0 เพื่อเล่นเกมส์  RC บนคอมพิวเตอร์ได้ด้วย
การนำวิธีการมาเผยแพร่เพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น ผมไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่จะเกิดกับวิทยุบังคับของท่านในทุกกรณี ...
                  

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น