หยุดยั้งความร้อนจากไฟไหม้-น้ำร้อนลวก ก่อนทำลายชั้นผิว
บาดแผลไฟลวก ปัญหาจากบาดแผลไฟลวกเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยจากอุบัติเหตุ การดูแลรักษาประกอบด้วยหลักการที่สำคัญหลายประการ ในการประเมินความรุนแรงของบาดแผลไฟลวก จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ระดับความลึกของแผลไฟลวก (Burn depth) แบ่งออกได้เป็น
ระดับที่หนึ่ง First-degree burns
ถือเป็นบาดแผลที่น้อยที่สุด ตรวจพบความเสียหายที่ชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ผิวหนังมีลักษณะแดง เจ็บปวด กดเจ็บ ไม่เห็นลักษณะผิวพอง และการตรวจประสาทรับสัมผัสระหว่างสองจุดบนผิวหนังไม่พบว่าผิดปกติแต่อย่างใด บาดแผลในระดับที่หนึ่งนี้จะหายภายในเวลา 3-5 วันโดยไม่เกิดแผลเป็น
ระดับที่สอง Second-degree burns
แบ่งย่อยออกเป็นสองชนิด superficial partial-thickness และ deep partial-thickness burns จะพบว่าโครงสร้างที่เป็นส่วนประกอบของผิวหนังบางอย่างยังไม่ได้รับความเสียหาย และร่างกายสามารถซ่อมแซมได้ โดยมากไม่ต้องทำการผ่าตัดปลูกย้ายผิวหนังแต่อย่างใด
บาดแผลระดับที่สองชนิดตื้น หรือที่เรียกว่า superficial partial-thickness burn จะเกิดขึ้นที่ชั้นหนังกำพร้าและส่วนบนของหนังแท้ ทำให้ผิวหนังพอง เกิดเป็น blisters ลักษณะเป็นสีแดงเรื่อๆ ชื้น อ่อนนุ่ม เจ็บ การหายของแผลใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ไม่เกิดแผลเป็น
ส่วนบาดแผลระดับที่สองชนิดลึก หรือที่เรียกว่า deep partial-thickness burns จะลึกถึงชั้น reticular dermis ของหนังแท้ ผิวพองมีลักษณะหนาและแตกง่าย เซลล์ต่างๆ จะเริ่มแบ่งตัวภายใน 7-10 วัน บาดแผลชนิดนี้มีโอกาสเกิดแผลเป็นได้แต่ไม่มาก ถ้าไม่มีการติดเชื้อซ้ำเติม แผลมักจะหายได้ภายใน 3-6 สัปดาห์ การใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่จะช่วยให้แผลไม่ติดเชื้อ
ระดับที่สาม Third-degree burns
เป็นแผลชนิดที่เรียกว่า full-thickness burns หมายถึง มีการทำลายทั้งส่วนของหนังกำพร้าและหนังแท้ ที่สำคัญคือเส้นเลือดฝอยที่อยู่ในชั้นหนังแท้ถูกทำลายจนหมด ลักษณะแผลมีสีขาวมองเห็นเส้นเลือดที่มีก้อนเลือดอุดตัน และผิวหนังส่วนที่เป็นบาดแผลนั้นจะมีอาการชา ปราศจากความรู้สึก ส่วนใหญ่ต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัดปลูกย้ายผิวหนัง ยกเว้นแผลเล็กมากขนาดน้อยกว่า 1 เซ็นติเมตร
ระดับที่สี่ Fourth-degree burns
แผลลึกตลอดไปจนถึงชั้นใต้ผิวหนัง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อพังผืด กล้ามเนื้อ กระดูกที่อยู่ใต้ผิวหนัง แผลระดับนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยการล้างแผล ตัดแต่งซ่อมแซมบาดแผล และแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อในชั้นใต้ผิวหนัง
ขนาดของแผล (Burn size)
คำนวณโดยใช้หลัก "rule of nines" เพื่อประมาณพื้นที่ผิวหนังที่ได้รับความเสียหาย ในผู้ใหญ่คิดเป็น 9% สำหรับบริเวณศีรษะและคอ 18% สำหรับแขนแต่ละข้าง 18% สำหรับด้านหน้าและด้านหลังของลำตัว 18% สำหรับขาแต่ละข้าง และ 1% สำหรับบริเวณฝีเย็บและอวัยวะสืบพันธุ์
อายุของผู้ป่วย Age and burn size
ผู้ป่วยที่มีอายุมากจะเกิดปัญหาจากแผลไฟลวกมากกว่าเด็ก ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอายุ 20 ปี ขนาดแผล 40% อัตราการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 8 ในขณะที่ถ้าเกิดขึ้นกับผู้ป่วยอายุ 70 ปี อัตราเสียชีวิตเพิ่มเป็นร้อยละ 94 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญขึ้นกับโรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต และโรคตับ เป็นต้น
การตรวจพิเศษเพิ่มเติมสำหรับบาดแผลไฟลวก
ความลึกของบาดแผลอาจตรวจเพิ่มเติมได้จากเทคนิกต่างๆ เช่น การตรวจชิ้นเนื้อทางจุลชีววิทยา การใช้สาร vital dyes การตรวจอัลตราซาวน์ การตรวจ fluorescein fluorometry การตรวจ thermography การตรวจ light reflectance การตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า MRI และ laser Doppler flowmetry การตรวจดังกล่าวไม่ใช้ในเวชปฏิบัติทั่วไป ยกเว้น laser Doppler และ light reflectance ที่อาจพิจารณาใช้ในกรณีพิเศษ และผลการตรวจค่อนช้างแม่นยำ
ข้อมูลเพิ่มเติม แผลไหม้ ผิวหนังที่ปกคลุมร่างกายมีหน้าที่ป้องกันอันตราย และเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เมื่อผิวหนังถูกทำร้ายด้วยความร้อนเกิดเป็นแผลไหม้จะทำให้เกิดอันตรายตั้งแต่น้อยจนถึงเสียชีวิตได้ หลักการปฐมพยาบาลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก 1. หยุดยั้งความร้อนโดยปฏิบัติดังนี้ - ดับไฟด้วยน้ำราด หรือใช้ผ้าหนา ๆ คลุมตัว - ถอดเสื้อผ้าที่ไฟไหม้ หรือถูกน้ำร้อนพร้อมเครื่องประดับที่อมความร้อนออกให้หมด 2. ตรวจร่างกายดังนี้ - การหายใจถ้าพบสิ่งผิดปกติ เช่น เสียงแหบ หายใจผิดปกติ ต้องรีบช่วยหายใจโดยเร็ว - ชีพจรถ้าเบามากหรือไม่เต้นต้องรีบช่วยนวดหัวใจ - ถ้าบาดเจ็บมีเลือดออกต้องรีบห้ามเลือดก่อน การปฐมพยาบาลแผลไหม้ 1. เฉพาะชั้นผิวหนัง - ระบายความร้อนออกจากแผล โดยใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณบาดแผล แช่ลงในน้ำหรือเปิดให้น้ำไหลผ่านบริเวณบาดแผลตลอดเวลานานประมาณ 10 นาที ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยได้ - ทาด้วยยาทาแผลไหม้ - ห้ามเจาะถุงน้ำหรือตัดหนังส่วนที่ผองออก - ปิดด้วยผ้าสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ - ถ้าแผลไหม้บริเวณกว้าง หรืออวัยวะที่สำคัญต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล 2. ลึกถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง - ไม่ต้องระบายความร้อนออกจากแผล เพราะจะทำให้แผลติดเชื้อมากขึ้น - ห้ามใส่ยาใดๆ ทั้งสิ้นลงในบาดแผล - ใช้ผ้าสะอาดห่อตัวผู้บาดเจ็บเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก ให้ความอบอุ่น และรีบนำส่งโรงพยาบาล |
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น