วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การบัดกรีสายไฟมอเตอร์

การบัดกรีสายไฟมอเตอร์ แบบพักสายไฟแบ็ตบวกที่ขามอเตอร์บวก
                                            
 อุปกรณ์ที่กินไฟมากที่สุด ในระบบไฟของรถไฟฟ้า คือ มอเตอร์ บางคนนึกว่าสปีดเป็นตัวที่กินไฟมาก
ที่จริงสปีดเป็นตัวผ่านไฟเท่านั้นเอง ระบบไฟจะกินไฟมากหรือกินไฟน้อย ขึ้นอยู่กับมอเตอร์ที่นำมาใส่
พิสูจน์ได้ง่ายๆ ใช้สปีดและแบ็ตที่เหมือนกัน เล่นกับมอเตอร์ขาวเล่นได้นาน 25 นาที เล่นกับมอเตอร์สต็อคเล่นได้นาน 12 นาที
เล่นกับมอเตอร์โมดิฟายเล่นได้นาน 7 นาที พอนึกออกแล้วใช่ไหมครับว่า สปีดหรือมอเตอร์ อะไรกันแน่ที่เป็นตัวกินไฟ
 การเดินสายไฟแบบพักสายไฟแบ็ตบวกไว้ที่ขามอเตอร์บวก ใช้สำหรับสปีดแข่ง เดินหน้า-เบรก ไม่มีถอยหลัง เท่านั้น
การเดินสายไฟแบบนี้ กระแสไฟจะไหลสู่มอเตอร์ได้สะดวกกว่าการเดินสายไฟแบ็ตบวกแบบตัว Y
แต่ต้องทำให้ถูกวิธี หลักสำคัญคือ ต้องรู้ว่าสายไฟเส้นไหนกระแสจะไหลผ่านมากกว่ากัน
 การเดินสายไฟแบบนี้ ขามอเตอร์บวกต้องบัดกรีเข้ากับสายถึง 2 สาย คือ สายไฟแบ็ตบวก และสายไฟสปีด B+/M+ (สายสปีดสีแดง)
สายที่กระแสจะไหลผ่านมากกว่าคือ สายไฟแบ็ตบวกสู่ขามอเตอร์บวก เพราะมอเตอร์ต้องการกระแสมากกว่า
เราจึงต้องบัดกรีสายไฟแบ็ตบวกเข้ากับขามอเตอร์ก่อน เพื่อให้สายไฟแบ็ตบวกแนบสนิทกับขามอเตอร์บวก กระแสจะได้ไหลผ่านสะดวกที่สุด
ส่วนสายไฟสปีด B+/M+ (สายสปีดสีแดง) ที่ต่อเข้าขามอเตอร์บวกนั้น ต้องการกระแสเพียงแค่ ไปเลี้ยงวงจรควบคุมของสปีด เซอร์โว และรีซีฟเวอร์ เท่านั้น
 บัดกรีสายไฟแบ็ตบวกเข้ากับขามอเตอร์บวก และบัดกรีสายสปีด M- เข้าขามอเตอร์ลบ บัดกรีให้สายไฟแนบสนิทกับขามอเตอร์นะครับ
 สายไฟสปีด B+/M+(สายสปีดสีแดง) ที่ต้องการบัดกรีเสริมเข้าที่ขามอเตอร์บวก ลองเอามาทาบ ๆ ดูก่อน ว่าจะบัดกรีแตะไว้ตำแหน่งไหน
อย่าลืมเอาสายไฟไปจุ่มฟลั๊กและไล้ตะกั่วเพื่อผสานเส้นทองแดงฝอยให้รวมเป็นหนึ่งเดียวก่อนนะครับ
 ตำแหน่งที่บัดกรีได้สะดวกที่สุด ก็คือบัดกรีทับสายไฟแบ็ตบวกไปเลย ระหว่างบัดกรีเราต้องออกแรงกดสายทั้งสองไว้ด้วย
เพื่อไม่ให้สายไฟแบ็ตบวกที่บัดกรีอยู่ก่อนแล้วคลายตัวออก เตรียมตั้งท่าไว้เลย มือซ้ายมือเดียวนั่นแหละจับทั้งสายไฟ และเตรียมป้อนตะกั่ว
มือเรามีหลายนิ้วครับ ให้นิ้วเราทั้งหมดช่วยๆ กันทำงานหน่อย
 สายไฟพร้อม ตะกั่วพร้อม หัวแร้งพร้อม ก็บัดกรีเลย  ให้ตะกั่วที่ป้อนเข้าไปใหม่ หลอมรวมกับตะกั่วเก่า หลอมเป็นเนื้อเดียวกันเลยนะครับ
เมื่อตะกั่วหลอมรวมกันดีแล้ว ถอยหัวแร้งออก แต่ยังต้องจับสายไฟไว้และออกแรงกดสายไว้ด้วย จนกว่าตะกั่วทั้งหมดจะเย็นลงและแข็งตัว
เพื่อให้สายไฟแบ็ตบวกยังคงแนบสนิทกับขามอเตอร์ กระแสไฟถึงจะไหลผ่านได้ดีที่สุด สมกับที่เราตั้งใจไว้นะครับ
เสร็จเรียบร้อยแล้ว สายไฟสีแดงที่แนบกับขามอเตอร์บวก คือสายไฟแบ็ตบวก
สายไฟสีแดงที่บัดกรีเสริมเข้าไป คือสายไฟสปีด B+/M+
สายสีม่วงที่บัดกรีกับขามอเตอร์ลบ คือสายสปีด M-

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น