5 ภาวะเสี่ยงที่ต้องระวังของแม่ท้อง
5 ภาวะเสี่ยงที่ต้องระวังของแม่ท้อง (Mother & Care)
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป, ตั้งครรภ์เมื่ออายุยังน้อย, มีโรคประจำตัว, หรือตั้งครรภ์แฝด ถูกจัดให้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะพบภาวะแทรกซ้อน ความผิดปกติไม่พึงปรารถนา มีข้อจำกัดบางอย่างที่พึงระวังขณะตั้งครรภ์ และสิ่งที่ควรปฏิบัติก็คือ การดูแลสุขภาพครรภ์ภายใต้การดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิด
ฉบับนี้เรามีโอกาสรู้จักกับ พญ.ปิยพันธ์ ปุญญธนะศักดิ์ชัย ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากเจตนิน ผู้รู้ที่จะมาบอกข้อมูล รายละเอียดต่างๆ ถึงมูลเหตุภาวะความเสี่ยงที่เกิดขึ้น พร้อมแนวทางการปฏิบัติขณะตั้งครรภ์ให้ฟังด้วยค่ะ
1. ครรภ์เป็นพิษ
อาการของภาวะครรภ์เป็นพิษนั้น จะเริ่มแสดงอาการจากน้อยไปมาก ซึ่งในภาวะที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการบวม, ปวดศีรษะ, จุก แน่นหน้าอก, หรือตาพร่ามัวได้ โดยเฉพาะในรายที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด อาจเกิดภาวะชัก อาการตับวายได้
สำหรับภาวะนี้ คุณแม่จะไม่สามารถทราบถึงอาการ ว่าตัวเองอยู่ในภาวะครรภ์ เป็นพิษหรือไม่หรอกค่ะ คุณหมอที่ดูแลครรภ์ เท่านั้น ที่รู้ถึงความผิดปกติ (ช่วงเริ่มต้น) จากการตรวจเช็กร่างกาย ด้วยวิธีการต่อไปนี้
ค่าความดันโลหิต ซึ่งค่าเฉลี่ยมาตรฐาน คือบน 140 ล่าง 90 ถ้าค่าความดันโลหิตเกิน ค่ามากกว่านี้ถือว่า มีค่าความดันโลหิตสูงก็เข้าข่ายอาการครรภ์เป็นพิษ
ตรวจปัสสาวะของคุณแม่ จะพบว่ามีโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ ที่บ่งบอกลักษณะการทำงานของไตที่ผิดปกติ พบได้ในกลุ่มที่มีโรคเบาหวาน
การปฏิบัติตัว
ด้วยระบบปัญหาเส้นเลือดของแม่ จึงทำให้เลือดที่ส่งไปยังรกเพื่อเลี้ยงลูกไม่เพียงพอ เด็กจึงมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว (ตัวเล็ก) ยิ่งคุณแม่ที่มีความดันโลหิตสูง อาจพบภาวะรกลอกก่อนกำหนด จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ และทำการคลอดก่อนกำหนด
ดังนั้นแนะนำว่า ควรเฝ้าระวังกับเรื่องอาหาร เช่น เลี่ยงอาหารที่มันจัดหรือคุณแม่ที่ติดใจรสเค็ม รสจัด ก็ควรลด ๆ ลงบ้าง เพราะอาจส่งผลให้เกิดเกลือคั่งในร่างกาย ทำให้มีอาการบวมหรือความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติ อีกข้อคือ ควรออกกำลังกายแบบเบา ๆ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของคุณแม่และลูกน้อย
2.ครรภ์ไข่ปลาอุก
เมื่อมีการตรวจครรภ์ จะพบว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น แต่ด้วยฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่สูงกว่าปกติ ทำให้มีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติไปด้วย (สัญญาณเตือน) เมื่อเช็กขนาดมดลูกตามอายุครรภ์ จะพบว่า มีขนาดเกินความเป็นจริงจากอายุครรภ์ และเมื่อคุณหมอตรวจอัลตร้าซาวนด์ ก็จะพบว่า ที่โพรงมดลูกมีลักษณะเม็ดๆ เหมือนไข่ปลา กระจายอยู่ทั่วไปในโพรงมดลูก
เรื่องนี้เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิสนธิ เกิดจากไข่และสเปิร์มค่ะ อธิบายง่าย ๆ ก็คือ แทนที่หลังการปฏิสนธิ จะเกิดการสร้างเซลล์ตัวเด็กอ่อนขึ้นมา ก็กลายเป็นเซลล์ที่แตกตัวผิดปกติ ไม่มีตัวอ่อนของเด็กเกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมป้องกันค่ะ
การปฏิบัติตัว
เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ก็ควรฝากครรภ์ทันที (ช่วง 1-2 เดือนแรก) จะเป็นวิธีที่ช่วยให้ค้นพบกับความผิดปกติครรภ์ไข่ปลาอุกได้รวดเร็ว และจากกระบวนสร้างเซลล์ที่ผิดปกติ เซลล์เหล่านี้อาจมีโอกาสพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง จึงจำเป็นต้องขูดออกและนำเซลล์ไปตรวจเช็กเรื่องมะเร็ง ถ้าไม่มีผลร้ายต่อร่างกาย ก็สามารถคุมกำเนิดและปล่อยให้ตั้งครรภ์ปกติ แต่ถ้ามีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอาจต้องให้เคมีบำบัดต่อเนื่อง เพื่อทำลายเซลล์ผิดปกติออกจากโพรงมดลูกให้หมด
3.ภาวะรกเกาะต่ำ
เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ไข่ที่ถูกผสมจะเจริญเติบโต ซึ่งส่วนหนึ่งพัฒนาเป็นทารก อีกส่วนเป็นรก มีหน้าที่ลำเลียงอาหารจากแม่ไปสู่ลูก รกที่ว่าจะเติบโตโดยเกาะติดอยู่กับผนังมดลูกและค่อย ๆ ฝังลึกเข้าไปผนังมดลูก การที่รกเกาะต่ำ หมายถึงรกเกาะคลุมต่ำมาจากตำแหน่งปกติ โดยมีบางส่วนของรกปิดบริเวณปากมดลูก
สิ่งที่เกิดจากภาวะนี้คือ มีเลือดออกตั้งแต่ระยะที่ตั้งครรภ์แรก ๆ จนกระทั่งใกล้คลอด ความรุนแรงของเลือดที่ออกแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ออกเพียงกะปริบกะปรอย จากการแตกของเส้นเลือดฝอยบริเวณรกไปจนถึงออกเป็นน้ำก๊อก เพราะมีการแตกของ เส้นเลือดใหญ่ได้ ซึ่งทำให้เกิดภาวะตกเลือด และช็อกได้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีภาวะรกเกาะต่ำลงไม่สามารถคลอดแบบธรรมชาติได้ ต้องทำการผ่าคลอดเท่านั้น
การปฏิบัติตัว
เนื่องจากไม่สามารถกำหนด ควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาภาวะดังกล่าว ข้อควรปฏิบัติที่แนะนำกับการเผชิญปัญหาที่เกิดคือ งดการมีเพศสัมพันธ์, ไม่เคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว ทำอะไรไว ๆ, ไม่ควรออกกำลังกาย และเดินให้น้อย เพื่อไม่ให้เกิดการกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว หรือเคลื่อนไหวเป็นเหตุให้เลือดออกค่ะ
4. เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
ถึงก่อนหน้านี้คุณแม่จะไม่เคยมีประวัติความเสี่ยง การเป็นโรคเบาหวานมาก่อน เมื่อตั้งครรภ์กลับเกิดขึ้นได้ ก็เพราะว่า ปกติแล้วร่างกายจะสามารถควบคุมกระบวนการเผาพลาญ (น้ำตาล) ที่กินเข้าไปได้เพียงพอ แต่เมื่อมีการตั้งครรภ์ปริมาณอาหารที่แม่กินมีมากเป็น 2 เท่า (เผื่อลูกด้วย) การทำงานของอินซูลินในตับอ่อน อาจรองรับทำงานได้ไม่ดีพอ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื่องเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น
เนื่องจากเป็นภาวะที่สามารถพบความผิดปกติได้แต่เนิ่น ๆ ภายใต้การดูแลของคุณหมอที่ดูแลครรภ์ (ตรวจจากปัสสาวะ) ซึงถ้าเป็นไม่มากก็จะสามารถหายได้เองเมื่อหลังคลอด ส่วนคุณแม่ที่มีระดับน้ำตาลมากเกินปกติ คุณหมอจะเจาะเลือดอีกครั้งเพื่อเช็กความแน่นอน ถ้าเป็นจริงก็ต้องควบคุมเรื่องอาหารเป็นหลัก แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมได้ อาจต้องฉีดอินซูลินไปจนถึงช่วงคลอด
การปฏิบัติตัว
เมื่อรู้แน่ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้ว การปฏิบัติตัวอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์นั้น ควรตรวจเช็กร่างกายหลังคลอดทุก ๆ ปี เพราะระบบการทำงานของอินซูลินในตับอ่อน ที่ไม่สมบูรณ์เป็นทุนเดิมของคุณ มีผลต่อความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคตเมื่ออายุมากขึ้น
5. ความผิดปกติอื่น ๆ
จากที่บอกมาสำหรับภาวะแทรกซ้อน ความผิดปกติ ทั้งที่มีปัจจัยให้เกิดหรือเกิดตามธรรมชาติเองก็ตาม ในระหว่างการตั้งครรภ์นั้น สิ่งสำคัญในการผ่านวิกฤติความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ก็คือการใส่ใจดูแลสุขภาพครรภ์ ปฏิบัติตัวภายใต้การดูแลของคุณหมอเป็นหลักค่ะ
และที่อยากบอกต่อก็คือ นอกเหนือจากสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ของแม่ท้องแล้ว คุณแม่ที่มุ่งมั่นตั้งใจกับการวางแผนจะมีลูก ก็ควรเตรียมความพร้อมตั้งครรภ์คุณภาพ ป้องกันภาวะความผิดปกติที่อาจเกิดกับคุณแม่และลูกน้อย ลดความเสี่ยง โอกาสที่จะเกิดขึ้นปัญหาด้วยเรื่องต่อไปนี้
กินวิตามิน
หนึ่งในอุบัติการณ์ความผิดปกติที่พบได้ในทารกคือ กระดูกสันหลังและกะโหลกศีรษะปิดไม่สนิท และการวิจัยทางการแพทย์พบว่าคุณแม่ที่ได้รับวิตามินโฟลิก (หรือโฟเลต) มีโอกาสความเสี่ยงที่จะพบภาวะดังกล่าวได้น้อยกว่า คุณแม่ที่ไม่ได้รับวิตามินโฟลิก เพราะในบางครั้งในอาหารอาจมีวิตามินโฟลิกไม่มากพอ ต่อความต้องการของร่างกายแม่ท้องที่ควรได้รับ
การปฏิบัติตัว
ก่อนตั้งครรภ์ ควรเตรียมพร้อมเริ่มกินวิตามินโฟลิกวันละ 1 เม็ด เป็นเวลา 2-3 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงกับภาวะดังกล่าว สำหรับคุณแม่ที่มีความตั้งใจที่จะมีลูกน้อย
เจาะเลือด
ก็เพื่อค้นหาความผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคโลหิตจาง, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคเอดส์, ไวรัสตับอักเสบ, ซิฟิลิส โดยเฉพาะโรคธาลัสซีเมีย ที่ค่อนข้างพบได้บ่อย เป็นโรคติดต่อผ่านทางพันธุกรรม ที่สามารถติดต่อไปยังลูกได้
การปฏิบัติตัว
เพื่อ ค้นหาความผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคโลหิตจาง, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคเอดส์, ไวรัสตับอักเสบ, ซีฟิลิส โดยเฉพาะโรคธาลัสซีเมีย ที่ค่อนข้างพบได้บ่อยเป็นโรคติดต่อผ่านทางพันธุกรรม ที่สามารถติดต่อไปยังลูกได้ โดยเฉพาะเรื่องความเครียดกับแม่ท้อง แม้ว่าผลในเชิงวิชาการยังบอกไม่ได้ถึงระดับความเครียด ที่ส่งผลต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่แม่ท้องพึงระวัง
ฉะนั้นเมื่ออยู่ในภาวะเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ต้องรีบออกจากความเครียดให้เร็วที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นตัวกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนในร่างกาย มีผลต่อระบบการหมุนเวียนโลหิต ส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อย แต่อย่างไรแล้วคงไม่ส่งผลทางบวก
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น