โรคหัวใจขาดเลือด
โรคหัวใจขาดเลือดคืออะไร
หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต เลี้ยงร่างกาย โดยอาศัยการบีบตัว ของกล้ามเนื้อหัวใจ ตัวกล้ามเนื้อหัวใจ เองนั้นก็ต้องอาศัยเลือด ไปเลี้ยงเช่นกัน โดยผ่านทางหลอดเลือด ไปเลี้ยงเช่นกัน โดยผ่านทางหลอดเลี้ยงหัวใจ ที่มีชื่อว่า "โคโรนารี่" หลอดเลือดนี้มี 2 เส้น ขวาและซ้าย แตกแขนงออกไป เลี้ยงทุกส่วน ของกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นเนื่องจาก หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ หรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจ มีเลือดไปเลี้ยงลดลง หรือไม่มีเลยเป็นผลให้ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ผิดปกติ หากรุนแรง ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจ ตายบางส่วนได้
การที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ เกิดการตีบหรือตันนั้น ส่วนใหญ่แล้วเกิดจาก หลอดเลือดแข็งตัวขึ้น เนื่องจากมีไขมันสะสม ในผนังด้านในของหลอดเลือด เป็นผลให้ทางที่เลือดไหน ผ่านแคบลง เลือดไหลไม่สะดวก กล้ามเนื้อหัวใจ จึงได้รับเลือดน้อยกว่าปกติ นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากเกร็ดเลือด และลิ่มเลือดอุดตันอีกด้วย
มีอาการอย่างไร
อาการที่สำคัญ ของภาวะหัวใจขาดเลือด คือ อาการเจ็บ แน่นหน้าอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะออกแรง พักแล้วดีขึ้น โดยจะรู้สึกแน่น ๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก หรือ ค่อนมาทางซ้าย เจ็บลึก ๆ หายใจไม่สะดวก อาจมีอาการ อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด บางรายนอกจาก แน่นบริเวณหน้าอกแล้ว ยังอาจเจ็บร้าว ไปที่หัวไหล่ แขน หรือ คอ
ตรวจอย่างไร ถึงจะทราบว่าเป็นโรคนี้
แพทย์จะซักประวัติ โดยละเอียด ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และดูดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะพักนั้น บ่อยครั้ง ที่ให้ข้อมูลไม่เพียงพอ ที่จะวินิจฉัยโรค แพทย์ จะแนะนำให้ตรวจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะออกกำลังเพิ่มเติม เรียกว่า "Exercise Stress Test" จากนั้น แพทย์จะนำข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ มาวิเคราะห์ดูว่า มีโอกาส เป็นโรคหัวใจขาดเลือด มากน้อยเพียงใด
ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคนี้
หากท่านมีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เรียกว่าท่านมี "ปัจจัยเสี่ยง" ในการเกิดโรคนี้ ยิ่งมีมากข้อ โอกาสเกิดโรคก็มากขึ้นด้วย ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ได้แก่
เพศชาย หรือ เพศหญิงในวัยหมดประจำเดือน
ประวัติครอบครัวมีโรคนี้
ความดันโลหิตสูง
เบาหวาน
ไขมันในเลือดสูง (โคเลสเตอรอลรวม หรือ โคเลสเตอรอล แอล ดี แอล ชนิดร้าย)
ไขมันโคเลสเตอรอล เอช ดีแอล (ชนิดดี) ต่ำ
การสูบบุหรี่
ขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ
บุคคลิกภาพชนิด เจ้าอารมณ์ โกรธ โมโห ง่าย เครียดเป็นประจำ
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมโรคนี้ เช่นกัน เช่น ความอ้วน ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง
รักษาอย่างไร
แนวทางการรักษาที่สำคัญมี 3 ประการ คือ รักษาด้วยยา รักษาโดยการ ขยายหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลผ่านได้มากขึ้น โดยอาจใช้ลูกโป่ง หรือ วิธีอื่น ๆ และสุดท้ายรักษา โดยการผ่าตัด ทำทางเบี่ยงให้เลือด ไปเลี้ยงหัวใจ เรียกว่าทำ "บายพาส" (Bypass Graft) โดยมากแล้วแพทย์ จะเริ่มต้นการรักษาด้วยยา ก่อนเสมอ เมื่อไม่ได้ผลดีด้วยยา แพทย์จะแนะนำให้ ตรวจดูหลอดเลือดโดยตรง โดยการเอกซเรย์ เรียกว่า "การฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ" (Angiogram) จะได้ทราบว่าตีบ หรือตันจุดใดบ้าง เพื่อเลือกวิธีรักษา ให้เหมาะสม ในผู้ป่วยแต่ละราย
จะป้องกันไม่ให้เป็นได้อย่างไร
ท่านสามารถลดโอกาสเสี่ยง ที่จะเป็นโรคนี้ โดยการหลีกเลี่ยงหรือ ลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น
ไม่สูบบุหรี่
ควบคุมความดันโลหิต และเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
บริโภคอาหารไขมันต่ำ หรือ รับประทานยาลดไขมันในรายที่จำเป็น
ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ
ออกกำลังกายแบบ แอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ
ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่องใส
หากท่านโชคร้าย เกิดโรคขึ้นมาแล้ว การปฎิบัติตัวดังกล่าว อย่างเคร่งครัด จะช่วยชลอการดำเนินโรค ให้รุนแรงช้าลงได้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น