วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โรคเก๊าท์




โรคเก๊าท์ เป็นโรคที่เป็นผลมาจากการที่มีกรดยูริคในร่างกายมากเกินไป ยูริคที่มากเกินไปจะทำให้เกิดผลึกยูเรต สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่ข้อ เมื่อผลึกอยู่ในข้อมากขึ้น จะทำให้เกิดการอักเสบของข้อตามมา

โรคเก๊าท์ เป็นโรคเรื้อรัง และอาจจะเป็นรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ได้ บางครั้งอาจจะทำให้เกิดก้อนตามเนื้อเยื่อรอบข้อ ทำให้เกิดการทำลายของข้อได้ และจะทำให้ไตเสื่อมลง และอาจเป็นโรคนิ่วที่ไตได้

โรคเก๊าท์ ที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง และมักจะพบว่ามีประวัติในครอบครัว ยูริคเป็นสารที่เกิดขึ้นจากการย่อยสลายของ purine ซึ่งมาจากอาหารที่รับประทาน ในบางรายที่มียูริคสูงกว่าปกติ ก็อาจจะไม่ได้มีอาการของข้ออักเสบหรือนิ่วในไต แต่ถือว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคเก๊าท์ได้ ซึ่งมีผลทำให้ข้ออักเสบและมีก้อนที่เกิดจากผลึกยูริคในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย




ข้ออักเสบจะมีอาการปวดอย่างรุนแรง ข้ออักเสบจะมีอาการจากการที่ผลึกของยูริคในข้อ ทำให้มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เม็ดเลือดขาวหลั่งสารทำให้เกิดการอักเสบในข้อ ทำให้ปวด บวม ร้อน ในข้อ และอาจจะทำให้ปวดบ่อยขึ้นและเริ่มเป็นข้ออื่น ๆ มากขึ้น

โรคเก๊าท์ พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 9 เท่า โดยผู้ชายมักจะเริ่มเป็นได้ตั้งแต่เริ่มเป็นผู้ใหญ่ ส่วนผู้หญิงมักจะเริ่มมีอาการหลังหมดประจำเดือน

ความเสี่ยงในการเกิดโรคเก๊าท์

  • ความเสี่ยงในการเกิดโรคเก๊าท์ นอกจากมีภาวะยูริคในเลือดสูงแล้ว
  • ความเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่
  • คนอ้วน
  • น้ำหนักขึ้นเร็วมาก ๆ
  • ดื่มแอลกอฮอล์มาก
  • ความดันโลหิตสูง
  • ผู้ป่วยที่มีการทำงานไตผิดปกติ
  • ยาบางชนิด เช่นยาขับปัสสาวะ แอสไพริน ยารักษาวัณโรค
  • โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือด บางชนิดจะผลิตยูริคมากขึ้นได้
  • ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เมื่อมีภาวะบางอย่างที่มากระตุ้น อาจจะทำให้เกิดอาการขึ้นมาได้ ปัจจัยกระตุ้นได้แก่ ภาวะขาดน้ำ การบาดเจ็บต่อข้อ ไข้ การรับประทานมากเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
อาการของโรคเก๊าท์




ตำแหน่งข้อที่พบบ่อยที่สุด คือ ข้อที่โคนนิ้วหัวแม่เท้า

ข้อเท้า ข้อเข่า เป็นส่วนที่พบได้บ่อยรองลงมา

นอกจากนั้นอาจพบได้ที่ ข้อมือ นิ้วมือ และข้อศอก

อาการที่เป็นลักษณะของเก๊าท์ คือ อาการปวด บวม แดง ร้อนที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันอาการปวดจะรุนแรง อาจจะมีไข้ร่วมด้วย อาการปวดจะเป็นอยู่นานเป็นชั่วโมง หรือเป็นหลายวันได้ และมีอาการปวดบ่อย ๆ เป็นประจำ
ในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง จะมีก้อนผลึกของยูริค Tophi อยู่ในเนื้อเยื่อ ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือบริเวณรอบ ๆ ข้อ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อนิ้วหัวแม่เท้า






การวินิจฉัยโรคเก๊าท์




ลักษณะของการอักเสบของเก๊าท์ จะแตกต่าง กับโรคอื่น ๆ ตรงที่มักจะเริ่มเป็นทีละข้อ ซึ่งต่างจากโรค SLE หรือ Rheumatoid ซึ่งมักจะมีการอักเสบพร้อมกันทีละหลายๆ ข้อ
การตรวจที่แม่นยำที่สุด คือ การตรวจน้ำในข้อ แล้วพบว่ามีผลึกของยูริค ในข้อ นอกจากนั้นยังอาจจะตรวจพบได้ในเนื้อเยื่อที่เป็นก้อนตามร่างกาย

นอกจากนั้นคือการตรวจเลือด พบว่าระดับยูริคในเลือดสูง

การตรวจ X-rays จะพบว่ามีผลึกของก้อนได้ หรือพบว่ามีการทำลายของข้อจากการอักเสบได้


การรักษาโรคเก๊าท์

หลักการในการรักษา คือ

อันดับแรก ต้องลดการอักเสบของข้อ ลดอาการปวดในขณะที่กำลังมีอาการ
โดยการใช้ยากลุ่มที่ลดอาการอักเสบของข้อ เช่น naproxen และ colchicines
ยากลุ่มลดการอักเสบ NSAIDs อาจจะมีผลข้างเคียงในการทำให้กัดกระเพาะ
ส่วน Colchicine อาจจะทำให้มีอาการท้องเสียได้ หรือคลื่นไส้อาเจียนได้

ต่อมา จึงพยายามจัดการระดับยูริค และลดความถี่ในการอักเสบของข้อ และทำให้ก้อนตามร่างกายมีขนาดเล็กลง



  • การป้องกันการอักเสบ สามารถทำได้โดย
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 2ลิตร
  • ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ปรับเปลี่ยนอาหาร
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานยาเพื่อควบคุมระดับยูริคในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ เช่น allopurinol
อาหารสำหรับโรคเก๊าท์







  • อาหารที่ทำให้ระดับยูริคในเลือดสูงขึ้น คืออาการที่มี purine สูง ตัวอย่างเช่น เครื่องในสัตว์ ตับ สมอง ไต
  • อาหารกลุ่มอื่นที่ต้องระวัง ได้แก่ สัตว์ปีก เป็ด ไก่ แอลกอฮอล์ เบียร์ ยอดผัก เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กระถิน ชะอม แตงกวา
  • มีการวิจัยพบว่าอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และอาหารโปรตีน สูง จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการได้
  • เนื่องจากการลดน้ำหนักจะช่วยในการลดความถี่ในการอักเสบของข้อ จึงต้องจำกัดแคลอรีที่ร่างกายได้รับ และลดอาหารมันทั้งหลายด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น