การปฐมพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุกระดูกหัก
กระดูกหัก หมายถึง ภาวะที่ส่วนประกอบของกระดูกแตกแยกออกจากกัน อาจเป็นการแตกแยกโดยสิ้นเชิง หรืออาจมีบางส่วนติดกันอยู่บ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแรงที่มากระแทกต่อกระดูก ทำให้แนวการหักของกระดูกแตกต่างกัน
ชนิดของกระดูกหัก
โดยทั่วไปแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ กระดูกหักชนิดปิด (closed fracture) และกระดูกหักชนิดเปิด (opened fracture) ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากการสังเกต
1. กระดูกหักชนิดปิด คือกระดูกหักแล้วไม่ทะลุผิวหนังและไม่มีบาดแผลบนผิวหนังตรงบริเวณที่หัก
ภาพที่ 2 กระดูกหักชนิดปิด
2. กระดูกหักชนิดเปิด คือกระดูกหักแล้วทิ่มแทงทะลุผิวหนัง ทำให้มีแผลตรงบริเวณที่กระดูกหัก โดยอาจไม่มีกระดูกโผล่ออกมานอกผิวหนังก็ได้ แต่มีแผลเห็นได้ชัดเจน
ภาพที่ 3 กระดูกหักชนิดเปิด
กระดูกส่วนต่างๆ ที่พบการแตกหักได้
1. กระดูกเชิงกรานหัก (Pelvic fracture)
2. กระดูกกระโหลกศีรษะแตก (Skull fracture)
3. กระดูกขากรรไกรล่างหัก (Lower Jaw fracture)
4. กระดูกไหปลาร้าหัก (Clavicle fracture)
5. กระดูกซี่โครงหัก (Ribs fracture)
6. กระดูกข้อมือหัก (Colle' s fracture)
7. กระดูกต้นแขนหัก
8. กระดูกสันหลังหัก (Spinal fracture)
หลักทั่วไปในการปฐมพยาบาลผู้ที่กระดูกหัก 1. การซักประวัติ จะต้องซักประวัติเกี่ยวกับการได้รับอุบัติเหตุ เพื่อให้ทราบว่าเกิดได้อย่างไร ในท่าใด ระยะเวลาที่เกิด เพื่อประเมินความรุนแรงของแรงที่มากระทำ และตำแหน่งของกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บ
2. ตรวจร่างกาย โดยตรวจทั้งตัว และสนใจต่อส่วนที่ได้รับอันตรายมากก่อน โดยถอดเสื้อผ้าออก การถอดเสื้อผ้าผู้บาดเจ็บ ควรใช้วิธีตัดตามตะเข็บ อย่าพยายามให้ผู้บาดเจ็บถอดเอง เพราะจะทำให้เจ็บปวดเพิ่มขึ้นแล้วสังเกตอาการและอาการแสดงว่ามีการบวม รอยฟกช้ำ หรือ จ้ำเลือด บาดแผล ความพิการผิดรูป และคลำอย่างนุ่มนวล ถ้ามีการบวมและชามากให้จับชีพจรเปรียบเทียบกับแขนหรือขาทั้งสองข้าง ตรวจระดับความรู้สึก การเปลี่ยนแปลงสีผิว การตรวจบริเวณที่หัก ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ปลายกระดูกที่หักเคลื่อนมาเกยกัน หรือทะลุออกมานอกผิวหนัง ขณะตรวจร่างกาย ต้องดูแลทางเดินหายใจให้โล่ง ประเมินการหายใจและการไหลเวียนของเลือด สังเกตการตกเลือด ถ้ามีต้องห้ามเลือด หลีกเลี่ยงวิธีการห้ามเลือดแบบขันชะเนาะ เพราะถ้ารัดแน่นเกินไป อาจจะทำให้เลือดแดงไปเลี้ยงส่วนปลายไม่พอ ถ้ามีบาดแผลต้องตกแต่งแผลและพันแผล ในรายที่มีกระดูกหักแบบเปิดให้ใช้ผ้าสะอาดคลุมปิดไว้ แล้วพันทับ ห้ามดึงกระดูกให้เข้าที่
3. การเข้าเฝือกชั่วคราว การดามบริเวณที่หักด้วยเฝือกชั่วคราวให้ถูกต้องและรวดเร็ว จะช่วยให้บริเวณที่หักอยู่นิ่ง ลดความเจ็บปวด และไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่าย เช่น ไม้ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พับให้หนา หมอน ร่ม ไม้กดลิ้น กระดาน เสา ฯลฯ รวมทั้งผ้าและเชือกสำหรับพันรัดด้วยไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจนกว่าจะเข้าเฝือกชั่วคราวให้เรียบร้อยก่อน ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย ให้ใช้แขนหรือขาข้างที่ไม่หักหรือลำตัวเป็นเฝือกชั่วคราว โดยผูกยึดให้ดีก่อนที่จะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
4. การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ เพื่อเคลื่อนย้ายออกจากสถานที่มีอันตรายไปสู่ที่ปลอดภัยหรือโรงพยาบาล การเคลื่อนย้ายอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความพิการและอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้
หลักการเข้าเฝือกชั่วคราว
1.วัสดุที่ใช้ดามต้องยาวกว่าอวัยวะส่วนที่หัก โดยเฉพาะจะต้องยาวพอที่จะบังคับข้อต่อที่อยู่เหนือและใต้ บริเวณที่สงสัยว่ากระดูกหัก เช่น ขาท่อนล่างหัก ข้อเข่าและข้อเท้าจะต้องถูกบังคับไว้ด้วยเฝือก เป็นต้น
2. ไม่วางเฝือกลงบนบริเวณที่กระดูกหักโดยตรง ควรมีสิ่งอื่นรอง เช่น ผ้า หรือ สำลีวางไว้ตลอดแนวเฝือก เพื่อไม่ให้เฝือกกดลงบนบริเวณผิวหนังโดยตรง ซึ่งทำให้เจ็บปวดและเกิดเป็นแผลจากเฝือกกดได้
3.มัดเฝือกกับอวัยวะที่หักให้แน่นพอควร ถ้ารัดแน่นจนเกินไปจะกดผิวหนังทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวกเป็นอันตรายได้ โดยระวังอย่าให้ปมเชือกกดแผล จะเพิ่มความเจ็บปวดและเนื้อเยื่อได้รับอันตราย และคอยตรวจบริเวณที่หักเป็นระยะๆ เพราะอาจจะมีการบวม ซึ่งจะต้องคลายเชือกที่ผูกให้แน่นน้อยลง
4.บริเวณที่เข้าเฝือกจะต้องจัดให้อยู่ในท่าที่สุขสบายที่สุด อย่าจัดกระดูกให้เข้ารูปเดิม ไม่ว่ากระดูกที่หักจะโค้ง โก่ง หรือ คด ก็ควรเข้าเฝือกในท่าที่เป็นอยู่
การหายของกระดูก
เมื่อกระดูกหัก โดยมากมักทำให้เยื่อหุ้มกระดูกและเนื้อเยื่ออื่นๆ ฉีกขาดไปด้วย จึงทำให้บริเวณที่หักมีการอักเสบขึ้น เลือดจะมาสู่ส่วนนั้นมากขึ้น ต่อมาจะเกิดเป็นกระดูกใหม่ขึ้น เรียกว่า callus ซึ่งจะเชื่อมปลายกระดูกทั้งสองข้างให้ติดกัน แล้วเซลล์สร้างกระดูกจากเยื่อหุ้มกระดูก และแคลเซียมก็จะมาสะสมกันทำให้ callus แข็งขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นกระดูกปกติ ซึ่งการเชื่อมของกระดูกจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นกับอายุของผู้บาดเจ็บ ลักษณะการหักของกระดูก ชนิดและตำแหน่งของกระดูกที่หัก และกระดูกที่จำกัดการเคลื่อนไหวที่ดี
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น