ดังนั้นกรุงเทพมหานครพร้อมรับมือกับคลื่นพายุซัดฝั่งเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมมาตรการเพื่อรับมือกับคลื่นพายุ ซัดฝั่ง (STORM SURGE) ไว้พร้อมแล้วโดยได้จัดเตรียมแผนปฏิบัติการทั้ง ก่อน ระหว่าง และหลัง เกิดภัยพิบัติ แผนเตือนภัยและแผนการอพยพ ประชาชน รวมทั้งจัดให้มีการ ซักซ้อมแผนเตือนภัยและแผนอพยพอีกด้วย หากเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง กรุงเทพมหานคร สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ล่วงหน้า 4-6 วันและกำหนดสีเพื่อ แสดงความรุนแรงในระดับต่าง ๆ คือ
สีแดง : พื้นที่ที่จะเกิดภัยพิบัติรุนแรงมาก อาจมีคลื่นสูง 1-3 เมตร
สีส้ม : พื้นที่ที่มีความรุนแรงน้อย อาจเกิดคลื่นสูง 0.2-1 เมตร ในขณะที่
สีเหลือง และ สีเขียว จะแสดงถึงพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังเพียงเล็กน้อย สามารถควบคุมและแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น
ซึ่งประชาชนจะสามารถติดตามสถานการณ์คลื่นพายุซัดฝั่ง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ www.bangkok.go.th
พื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบฝั่งพระนคร
ฝั่งธนบุรี
ก่อนเกิด STORM SURGE จะมีสัญญาณเตือนหลายอย่าง เช่น การเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาและกรุงเทพมหานคร หรือสังเกตได้จากลักษณะอากาศที่จะค่อย ๆ เลวร้ายลงทำให้รู้ตัวล่วงหน้าได้หลายวันและอพยพได้ทัน
หากลองนึกภาพเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอดีต แน่นอนว่า ภาพของเหตุการณ์ไล่ตั้งแต่พายุแฮเรียต ในปีพ.ศ.2505 ที่ซัดแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช จนราบเป็นหน้ากลอง ถัดมาในปี พ.ศ.2532 มหาวิบัติพายุเกย์ ก็สร้างความเจ็บช้ำให้แก่ชาวบ้านหลายพื้นที่ใน จ.ชุมพร จนมาถึงช่วงปี พ.ศ.2540 พายุลินดา ก็ซัดซ้ำรอยเดิมใน จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี... เหตุการณ์ทั้งหมดคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยหลายคน กระทั่งล่าสุดในช่วงต้นปีที่ผ่านก็เกิดเหตุพิบัติภัยจากพายุนาร์กีสที่ถล่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า จนสร้างความเสียหายเกินคณานับ ซึ่งภาพเหตุการณ์ที่ไล่เรียงมานี้ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าล้วนแล้วเกิดขึ้นจากความรุนแรงของพายุที่พัดเข้าหาชายฝั่งในลักษณะที่เรียกว่า ‘Storm surge’
Storm surge มหัตภัยร้ายเกินมองข้าม
นาวาเอก กตัญญู ศรีตังนันท์ ผู้บังคับหมวดเรืออุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ให้คำอธิบายว่า Storm surge คือ ปรากฏการณ์คลื่นที่เกิดขึ้นพร้อมกับพายุหมุนโซนร้อนที่ยกระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นกว่าปกติ อันเนื่องมาจากความกดอากาศต่ำที่ปกคลุม ณ บริเวณนั้น ซึ่งเวลาที่หย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวผ่านไปพร้อมกับศูนย์กลางของพายุ ทำให้แรงกดนั้นยกระดับน้ำจนกลายเป็นโดมน้ำขึ้นมา โดยเคลื่อนตัวจากทะเลซัดเข้าหาชายฝั่ง
คำถามก็คือ Storm surge มีความเหมือนหรือแตกต่างจาการการเกิดสึนามิ หรือไม่? นาวาเอก กตัญญู ชี้แจงว่า สิ่งที่คล้ายกัน คือ รูปแบบการเคลื่อนตัวที่เป็นเหมือนคลื่นขนาดใหญ่แล้วพัดเข้าชายฝั่ง แต่ที่แตกต่างกัน คือ ลักษณะของการเกิด คือ สึนามิ เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ของแผ่นดินไหวใต้ทะเล ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์ซัดเข้าชายฝั่ง แต่กับ Storm surge จะเกิดขึ้นโดยมีตัวแปรจากพายุ
ส่วนความเสียหายนั้น คิดว่า Storm surge จะเลวร้ายมากกว่า กล่าวคือ การเกิดสึนามิจะเกิดขึ้นวันไหนก็ได้ โดยท้องฟ้าอาจจะแจ่มใส อากาศเป็นปกติ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทางฝั่งอันดามันของไทย แต่หากเป็น Storm surge จะเกิดขึ้นพร้อมกับพายุซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นวันที่ท้องฟ้าปั่นป่วนไม่แจ่มใส สภาพอากาศเลวร้าย มีการก่อตัวของเมฆฝน ฝนตกอย่างหนัก ลมพัดแรง บริเวณชายฝั่งเกิดคลื่นโถมกระแทกอย่างหนัก คลื่นในทะเลสูง แต่เมื่อศูนย์กลางของพายุเคลื่อนเข้ามาก็จะหอบเอาโดมน้ำขนาดใหญ่ซัดเข้ามาอีกครั้ง ดังนั้น ความเสียหายจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ
“เมื่อ Storm surge เกิดมาพร้อมกับพายุโซนร้อน เพราะฉะนั้นเมื่อพายุเข้ามาเราก็จะเห็นสัญญาณเตือนหลายอย่าง เช่น การเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และจากการสังเกตลักษณะอากาศที่จะค่อยๆ เลวร้ายลง ทำให้เรารู้ตัวล่วงหน้าหลายวันและสามารถหาทางอพยพได้ทัน แต่กับสึนามิอาจจะไม่รู้ได้เลย เพราะบางครั้งก็เกิดขึ้นในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสไม่มีสัญญาณบอกเหตุร้ายแต่อย่างใด แต่ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นในช่วงหลายปีมานี้ก็เป็นอะไรที่คาดเดา พยากรณ์ได้ยากเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเกิดภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศในทุกมุมโลกเกิดความแปรปรวน และยิ่งทวีความรุนแรงของเหตุการณ์ขึ้น สิ่งนี้จึงเรื่องที่ต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด” นาวาเอก กตัญญู ให้ภาพ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น