กระแสฟุตบอลโลกเล่นเอายอดจำหน่ายทีวีเพิ่มขึ้นทันตาเห็นโดยเฉพาะประเภทจอบิ๊กๆบึ้มๆ ทั้งหลายที่เป็นแบบจอแบนจำพวกแบบไวด์สกรีนต่างๆ คุณภาพในการแสดงผลนั้นจะดีมากดีน้อย อันนี้ส่วนใหญ่ผู้ซื้อเองไม่ค่อยจะทราบกัน ส่วนใหญ่ก็จะให้ทางร้านเปิดให้ชมแล้วดูมันรวมๆ นั่นแหละว่าภาพสวยไหม ถ้าพอใจก็ควักสตางค์จ่ายเดี๋ยวนั้นหรือจะผ่อนกัน 6 เดือน 12 เดือนก็ว่ากันไป ที่สำคัญพี่ท่านมักจะขอใหญ่มันไว้ก่อนเวลาดูจะได้สะใจพระคุณท่าน บางทีเห็นมีตัวภาษาประกิต เช่น HDTV ก็ตัดสินใจซื้อเสียเลยเพราะได้ยินเขามาว่าถ้าอันนี้ละ "เจ๋งสุด" ทั้งๆที่การดูบอลก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเสียสตางค์ซื้อทีวี HDTV ที่หมายถึงแสดงผลด้วยคุณภาพระดับสูงสุดซะขนาดนั้น เพราะราคามันก็จะสูงขึ้นตามไปด้วยก็แหมแค่ดูบอลนะครับคุณ จะต้อง HDTV เชียวหรือ? กระนั้นก็ตามไอ้ราคาที่ผมว่า มันก็ไม่ได้แพงมากกว่าแต่ก่อนเท่าใดนักเพราะราคาของทีวีจอแบนก็ตกลงเรื่อยๆ เนื่องมาจากการแข่งขันที่สูงของแต่ละผู้ผลิตรายใหญ่ๆ เช่น ผู้ผลิตจาก ญี่ปุ่ม จีน เกาหลีและไต้หวันจะเป็นจอแบนประเภท LCD หรือ PDP ก็ตามต่างก็ขายดิบขายดีไปด้วยกันทำให้ผู้ผลิตแต่ละรายพยายามที่จะลดต้นทุนการผลิตของตนให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์ให้รองรับกับความต้องการของตลาดในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีและเผื่อไปถึงความต้องการของการทำงานที่ก้าวหน้าและรองรับเทคโนโลยีในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพื่อยอดจำหน่ายสูงสุดนั่นละครับ พูดถึงทีวีจอแบนแล้วก็มีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ ที่สักครู่นี้ได้เอ่ยถึงคือ LCD และ PDP ทั้ง 2 ประเภทแข่งกันมานานแล้ว แต่ไม่ว่าจะเป็น LCD หรือ PDP ต่างมีข้อด้อยของมันที่คุณพึงควรเปรียบเทียบหากจะซื้อไว้ดูเล่นสักเครื่อง LCD ตอบสนองช้า สำหรับ LCD TV นั้นมีข้อเสียตรงที่ความเร็วการตอบสนองเพื่อแสดงผลค่อนข้างช้ากว่าพลาสม่าทีวีเมื่อเทียบกัน เพราะกว่าจะได้ภาพออกมาที่เราเห็นนั้นกระบวนการของการผ่านแสงของคริสตัลต่างๆ ภายในค่อนข้างใช้เวลา แต่เวลาที่ว่านี้มิใช่ว่าจะนานจนเราเองที่เป็นผู้ชมจะรู้สึกได้ชัดเจนถึงขนานนั้น เพราะเอาเข้าจริงเราคงไม่รู้สึกได้หรอกกระมังครับว่า แหม...มันช้าเสียจริงๆ เพราะจริงๆแล้วไอ้เวลาที่ว่าช้าเนี่ยมันเป็นหน่วย millisecond ครับ แต่ผู้ผลิตหลายๆค่ายต่างพัฒนามาเรื่อยครับ อย่างเมื่อก่อน อัตราความเร็วในการประมวลผลเป็นภาพที่สวยงามบนจอ LCD อยู่ที่ 20 มิลลิวินาที (อัตราความเร็วมากจะใช้เวลาในการประมวลผลที่น้อยลง)แต่ปัจจุบันพัฒนาเฉลี่ยให้มีอัตราเร็วในการตอบสนองที่ 12-8 มิลลิวินาที (ค่าเวลาที่น้อยลงจะใช้กระบวนการประมวลผลที่เร็วมากขึ้น) PDP กินไฟ ส่วนพลาสม่าทีวีก็มีข้อเสียที่ดูจะเด่นชัดสุดๆ ก็คือ อัตราการสิ้นเปลืองของไฟฟ้าครับที่จะมากกว่า LCD อยู่ เนื่องจากพลาสม่าทีวีนั้นการตอบสนองจะรวดเร็วและมีคุณสมบัติที่ดีกว่าในการแสดงผล การทำงานกระบวนการต่างๆ ที่มากขึ้นจึงทำให้มีการใช้ไฟในอัตราที่สูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกันครับ ถ้าจะปล่อยให้พลาสม่าทีวีกินไฟอยู่อย่างนี้ ก็คงจะจำหน่ายแข่งกับ LCD ไม่ได้เป็นแน่แท้ เขาก็พยายามคิดค้นและพัฒนากันมา เพื่อให้ทีวีจอแบนปร$ะเภทนี้ยังคงแสดงผลด้วยความชัดสูงสุดในทุกๆด้าน แต่กินไฟให้น้อยลงมาจนปัจจุบัน โดยเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2000 ซึ่งเป็นปีที่เราได้รู้จัก พลาสม่าทีวีเป็นครั้ง$แรกในตลาดโลกนั้น วันนี้ผู้ผลิตชั้นนำต่างๆ สามารถผลิตพลาสม่าทีวีที่สามารถลดอัตราการใช้ไฟลงได้ 30-40% โดยเฉลี่ยในขณะที่มีการใช้งานได้และถือเป็นความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจอยู่ไม่น้อย ปัจจัยที่ทำให้ยอดจำหน่ายของจอแบนทั้งสองประเภทยังคงเติบโตอยู่เรื่อยๆ นับแต่ปี 2000 มาแล้วนั้น มีอยู่หลายสาเหตุที่มาประกอบกัน ทั้งนี้จะยกตัวอย่างที่เด่นๆ สัก 2 ข้อครับ 1.เพื่อการรับชมแบบ CINEMA ดิจิตอลและการทำงานในระบบคอมพิวเตอร์ในอนาคต 2.โครงสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีการเปลี่ยนแปลง 3.ราคาถูกลง เพื่อการรับชมแบบ CINEMA ดิจิตอลและการทำงานในระบบคอมพิวเตอร์ในอนาคต การเตรียมการเพื่อรองรับความต้องการของระบบ CINEMA (การรับชมภาพยนตร์ชนโรงจากที่บ้านของท่าน) ซึ่งเป็นการถ่ายทอดและแสดงผลที่มีคุณภาพสูงกว่า ปัจจุบันและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทีวีจอแบนยังคงมีอัตราการจำหน่ายเพิ่มขึ้นและผู้ผลิตเองก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจอประเภท LCD... ณ ปัจจุบันเราได้ เป็นจอที่สามารถแสดงผลได้ในระดับ HDTV คือระดับสูงสุดแล้วก็ตามสำหรับการรับชมรายการทีวีทั่วไป แต่การรับชมในระดับที่จะต้องให้เป็น HD FOR CINEMA แล้ว นั้นจักต้องมีความละเอียดและการทำงานที่ละเอียดมากกว่าถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับการแสดงผลในระดับ HD ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการถ่ายโอนข้อมูลภาพและเสียงที่เป็นภาพยนตร์เพื่อรับชมที่บ้านท่านนั้นจะมาทางอินเตอร์เน็ตครับมิใช่มาจากคลื่นความถี่ทางอากาศเหมือนเช่นปัจจุบัน ตัวอย่างประเทศที่เขาได้ใช้กันไปแล้ว ก็มีสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นซึ่งก็ประสบความสำเร็จน่าดู อีกประการที่ทำให้จอแบนอย่าง LCD มียอดจำหน่ายเติบโตขึ้นมากก็คือ การนำมาทำงานเป็นจอมอนิเตอร์สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคุลหรือแบบพกพา ซึ่งก็มีขนาดแตกต่างกันออกไป ไต้หวันเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกที่มีส่วนแบ่งการตลาดของการจำหน่ายจอ LCD สำหรับคอมพิวเตอร์มากที่สุดในโลก โดยยอดจำหน่ายจอ LCD สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือแบบพกพาล้วนแล้วแต่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปัจจุบัน โครงสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้การร่วมกันเป็นพันธมิตรทางอตุสาหกรรมดังกล่าวก็เป็นอีกประการหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้มีการพัฒนาจอแบนรุ่นต่างๆ ที่มีเทคโนโลยีที่เหนือชั้นออกสู่ตลาดออกมาไม่ขาดสาย เช่น กรณีของบริษัท ALPHA TECHNOLOGY ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนกันระหว่าง HITACHI,TOSHIBA และ PANOSONIC ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาต่อยอดจอแบนประเภท LCD ขึ้นมาโดยเฉพาะ ทำให้ผู้ผลิตในอันดับต้นๆ ของโลกจากเกาหลี,ไต้หวันและญี่ปุ่นรายอื่นๆก็คงอดรนทนไม่ไหวที่จะต้องพัฒนาตาม แม้จะไร้พันธมิตรเหมือนกับการรวมตัวกันของ ALPHA TECHNOLOGY ก็ตาม ราคาถูกลง นับเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ของผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อทีเดียว เพราะนับตั้งแต่มีการแข่งขันของทั้ง LCD และ PDP TV กันมาราคาก็นับวันที่จะถูกลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะ PDP TV ที่ช่วงแรกของการเปิดตัวเมื่อช่วงปี 2000 ราคาถือว่าสูงมากจนชนชั้นกลางมิกล้าที่จะทำความรู้จัก ถึงตอนนี้ราคาตกฮวบจนชนชั้นกลางอย่างเราๆ ท่านก็สามารถจะหามาประดับไว้มากกว่าสักเครื่องก็ยังทำได้ และแม้พลาสม่าทีวีจะมีข้อเสียตรงที่กินไฟมากก็ตาม แต่ผู้ผลิตต่างก้ได้พัฒนาเพื่อลดจุด้อยดังกล่าวอย่างที่ได้อธิบายในตอนต้นลงมาบ้างในระดับที่น่าพอใจแล้ว ดังนั้นเองไม่ต้องแปลงใจนักหรอกครับที่ยอดผลิตทีวีเหล่านี้ยังคงเดินหน้าออกมาจากโรงงานอยู่ไม่ขาดสาย และในอนาคตอันใกล้ CRT TV ที่เรารู้จักมานานนับทศวรรษกำลังจะกลายเป็นอดีตในไม่ช้า... |
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น