วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Surround Sound System กับความสับสนเข้าใจผิด

Surround Sound System กับความสับสนเข้าใจผิด


ปัจจุบัน ดูเหมือนว่าระบบเสียงที่สร้างบรรยากาศรายรอบให้เหมือนกับการจำลองโรงภาพยนตร์เข้ามาไว้ในบ้านที่เรียกๆ กันว่าระบบ Home Theater นั้น แม้ว่าจะไม่มีอะไรที่เป็นพัฒนาการใหม่ให้สัมผัสได้ระดับ Breakthrough วงการ แต่บรรดาผู้บริโภคกลับรู้สึกได้ว่ามันมีอะไรต่อมิอะไรที่เป็นความใหม่ หรือ ปรากฏการณ์ใหม่ ทางด้านนี้ออกมาให้เห็นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกับการมีชื่อระบบเซอร์ราวน์ดใหม่ๆ ออกมานั้น คือตัวการสำคัญนักเชียว

>> จนทำให้หลายๆคน ที่ได้ไม่ได้สนใจติดตามเรื่องนี้มาแต่ต้น แล้วคิดจะซื้อหามาใช้งานสักชุด เกิดอาการลังเลด้วยไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นอะไร ยิ่งไปเจอ คนขายที่คุยคล่องพูดจาแบบน้ำไหลไฟดับ แต่จับใจความอะไรไม่ได้ ยิ่งพาให้เป็นงงไปกันใหญ่

     โดยเฉพาะกับการมาถึงของบรรดาเซอร์ราวน์ดสกุลก่อนล่อสุดที่ลงท้ายว่า EX และ ES ก่อนการมาถึงของพวก TrueHD ที่ว่ากันว่ายิ่งจะทำให้งงเตลิดเปิดเปิงยิ่งขึ้นไปอีก กอปรกับเห็นโฆษณาเครื่อง โฆษณาซิสเต็ม ในระยะหลังๆ ทำนองว่าเป็นเทคโนโลยีล่าสุดแบบ 7.1 แบบ 9.1 บ้าง หนาตาขึ้นมาเรื่อยๆ ก็เลยยิ่งทำให้หลายๆ คน พากันงงยกกำลังสอง กำลังสามกันไปโน่นเลย โดยประมวลจากเสียงเข้าหูในระยะหลังๆ ผมพบว่ามีความสับสนเข้าใจผิดในผู้ที่กำลังมองหาระบบภาพและเสียงพวกนี้อยู่พอสมควร จึงคิดว่าน่าจะนำเรื่องนี้มาทำความเข้าใจกันแบบชัดๆ ในวงกว้างสักหน เพราะส่วนใหญ่ที่ได้พูดคุยไปกับใครที่มาพูดคุยถามถึงเรื่องพวกนี้บ้างนั้น จะเป็นการตอบแบบรวบรัดพอเป็นสังเขปมากกว่า พอดีกับได้พบบทความต่างประเทศอยู่ชิ้นหนึ่งที่พูดถึงเรื่องนี้ได้ชัดเจนดี จึงขอนำมาเรียบเรียงให้ทำความเข้าใจกันได้ง่ายๆ ณ ที่นี้
surround sound
     คุณรอเจอร์บอกว่าเหตุที่ทำให้เขาต้องเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา ก็เริ่มจากประเด็นนี้แหละ คือขนาดแค่จะตั้งชื่อให้กับลำโพงให้กับแชนเนลเสียงที่เพิ่ม
ขึ้น คนคิด คนทำ ยังถกกันป่วนขนาดนี้ แล้วผู้บริโภคจะไม่ยิ่งงงไปกว่าหรือเมื่อมันมีระบบออกมาสมบูรณ์แล้ว แล้วในระบบ 6.1 เอง กับที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
บางซิสเต็มก็มีเซอร์ราวน์ดหลังที่ว่านั่นแค่ตู้เดียว แต่บางชุดกลับมีสองตู้หรือสองข้าง มันยิ่งทำให้น่างงมากขึ้นไปอีก
     เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ คุณรอเจอร์บอกว่าเราต้องไปทำความเข้าใจเรื่องการทำงานของระบบ 6.1-แชนเนล กันตั้งแต่ต้นเลยเป็นดีที่สุด
     ระบบเสียงแบบ 6.1-แชนเนลหรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า Extended Surround นั้น เป็นการทำงานเสริมระบบ 5.1-แชนเนล เดิมโดยการ
เพิ่มขึ้นมาในลักษณะของการขยาย (Extended)  แชนเนล ซึ่งมีผู้ออกแบบอยู่สองรายด้วยกัน คือ Dolby Lab. ที่เรียกระบบใหม่ที่ว่านี้ของตัวเองว่า Dolby
Digital Surround EX ส่วนอีกรายก็คือ DTS ซึ่งได้เรียกระบบของตนว่า DTS-ES โดยที่ทั้งสองระบบนี้สามารถเล่นกับระบบ 5.1 ได้ กล่าวคือซอฟท์แวร์หรือ
แผ่นดีวีดีใหม่ๆ ที่บันทึกโดยการเข้ารหัสสัญญาณเสียงมาเป็นแบบ EX หรือ ES นั้น สามารถนำไปเล่นกับเครื่องที่เป็นระบบ 5.1-แชนเนล ได้อย่างไม่มี
ปัญหา ทั้งนี้ก็เนื่องเพราะสัญญาณเสียงของเซอร์ราวน์ดหลัง หรือ Back Surround นั้น จะถูกแทรกหรือพ่วงอยู่ในสัญญาณเสียงเซอร์ราวน์ดทั้งด้านซ้ายและ
ด้านขวาในระบบ 5.1 นั่นเอง
     ซึ่งกับเรื่องนี้ ทางดอลบีย์ แล็บ เองได้อธิบายการทำงานของ Dolby Digital Surround EX เอาไว้ว่า การเพิ่มสัญญาณเสียงแชนเนลใหม่เข้าไปใน Dolby
Digital 5.1 นั้น จะทำโดยการผสมสัญญาณช่องที่ 6 นี้เข้าไปยังช่องสัญญาณของลำโพงเซอร์ราวน์ดซ้ายและขวา ด้วยกรรมวิธีที่เรียกว่า Martix โดยเมื่อนำมา
Play Back หรือเล่นกลับแล้ว สัญญาณเซอร์ราวน์ดหลังหรือ Back Surround ที่เพิ่มเข้าไปนั้น ก็จะถูกดึงออกมาด้วยกรรมวิธี Matrix เช่นเดียวกัน จากนั้น
จึงถูกส่งต่อไปยังลำโพงเซอร์ราวน์ดหลังที่อยู่ตรงกลางทางด้านหลัง โดยในโรงภาพยนตร์นั้น มันอาจจะใช้ลำโพงเซอร์ราวน์ดหลังที่ว่านี้มากกว่าหนึ่งตู้ก็ได้
ทั้งนี้ก็เนื่องเพราะโรงภาพยนตร์นั้นมีขนาดใหญ่ การใช้ลำโพงที่ตำแหน่งนี้เพียงตู้เดียวจึงอาจครอบคลุมพื้นที่ได้ไม่ทั่วถึงนั่นเอง
surround sound
     มาตรฐานหลักของการเพิ่มจำนวนแชนเนลทั้งในระบบ Dolby Digital Surround EX และ DTS-ES ต่างก็จะใช้กรรมวิธีแบบ Matrix เหมือนกันแต่ใน ระบบ DTS นั้น ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่แตกต่างออกไป คือแทนที่จะใช้กรรมวิธีการพ่วงสัญญาณแบบ Matrix ทาง DTS ได้ใช้วิธีการเข้ารหัสสัญญาณดิจิทัลในแชนเนลที่เพิ่มใหม่นี้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สัญญาณที่แชนเนลนี้เป็นสัญญาณอิสระอย่างแท้จริงเหมือนกับแชนเนลอื่นๆ นั่นเอง ซึ่งกับวิธีการหลังนี้ เรียกกันว่าระบบ DTS-EX Discrete 6.1
surround sound
     เพราะฉะนั้นจึงทำให้ในปัจจุบันระบบ 6.1 แชนเนล ของ DTS มีอยู่สองแบบด้วยกันคือ DTS-ES Matrix และ DTS-ES Discrete 6.1 ซึ่งกับซอฟท์แวร์หรือแผ่นดีวีดีที่เป็น Discrete 6.1 นี้ ก็สามารถนำไปเล่นกับเครื่องหรือซิสเต็มที่เป็นระบบ 5.1-แชนเนล ได้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
     มาถึงบรรทัดนี้ขอสรุปกันนิดก่อนที่จะไปต่อนะครับ เพราะมันเกี่ยวพันต่อเนื่องกัน กล่าวคือในระบบเซอร์ราวน์ดล่าสุดตระกูล EX-ES Extended Surround นั้น ของดอลบีย์มีแบบเดียว คือ Dolby Digital Surround EX ในขณะที่ของ DTS มีสองแบบคือ DTS-ES Matrix ที่เป็นแบบเดียวกับดอลบีย์ คือใช้กรรมวิธีพ่วงสัญญาณแชนเนลที่หกไปกับสัญญาณเซอร์ราวน์ดซ้าย ขวา กับอีกแบบ คือ DTS-ES Discrete 6.1 ซึ่งสัญญาณแชนเนลที่หกเป็นสัญญาณอิสระในลักษณะดิจิทัลเต็มรูปแบบ
     และซอฟท์แวร์หรือแผ่นดีวีดีที่เข้ารหัสสัญญาณบันทึกมาทั้งสามแบบคือ Dolby Digital EX; DTS-EX; DTS-ES Discrete 6.1 หรือ Dolby Surround EX ก็ตาม ให้เข้าใจว่ามันเป็นแบบเดียวกันทั้งหมดนะครับ คือ มันอยู่ที่ความสะดวกมือของคนเขียนเป็นหลักครับ
     คราวนี้มาถึงเรื่องที่เป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบ 6.1-แชนเนลที่หลายๆคน ยังสับสนกันอยู่ คือ ในระบบ 5.1-แชนเนล นั้นเราสามารถเรียกว่าเป็นแบบ 5.1 ได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ก็เนื่องเพราะสัญญาณแต่ละแชนเนลนั้นมันเป็นอิสระจากกันอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง โดย 5-แชนเนล ที่ประกอบไปด้วยหน้าสาม หลังสอง (ซึ่งทำงานผ่านลำโพงทั้งห้า อันได้แก่หน้าซ้าย / เซ็นเตอร์ / หน้าขวา / เซอร์ราวน์ดซ้าย / เซอร์ราวน์ดขวา) นั้นเป็นสัญญาณแบบเต็มย่านความถี่ ในขณะที่อีกแชนเนลที่เขียนเป็น .1-แชนเนลนั้น เป็นสัญญาณในย่านความถี่ต่ำที่ให้ลำโพงสับ-วูฟเฟอร์ทำงานโดยเฉพาะ
     ซึ่งจากที่กล่าวมานั้น หากเราจะเรียกระบบ 6.1-แชนเนล ที่เป็นการทำงานในลักษณธเดียวกับ 5.1-แชนเนล แล้วล่ะก็ ระบบนั้นก็ควรที่จะทำงานเป็นอิสระในแต่ละแชนเนลของตัวเองอย่างแท้จริงด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาในประเด็นนี้ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีเพียงระบบ DTS-EX Discrete 6.1 เท่านั้นที่เป็นการทำงานเต็มรูปในแบบ 6.1-แชนเนล แท้ๆ ในขณะที่ทั้ง DTS-ES และ Dolby Digital Surround EX ยังไม่ได้เป็นแบบ 6.1-แชนเนล ที่สมบูรณ์จริง
    ซึ่งกับเรื่องนี้ ทาง Dolby Lab เอง ก็ยังได้กล่าวเอาไว้ว่า Dolby Digital Surround EX นั้น เป็นการนำเอาระบบเสียงแบบ 5.1-แชนเนลมาเพิ่มแชนเนลพิเศษเข้าไปเพื่อให้เกิดเป็น Back Surround ด้วยกรรมวิธีแบบ Matrix จึงมิอาจกล่าวได้ว่าระบบนี้เป็น 6.1-แชนเนล แท้ๆ และไม่ควรเรียกว่าระบบ 6.1ด้วย
     แต่แม้จะมีการยืนยันจากผู้ออกแบบเอง ว่ามันไม่ใช่ระบบ 6.1 ก็ตาม ทั้งคนขายและผู้บริโภคต่างก็ยังนิยมเรียกระบบที่ว่านั้นเป็น 6.1-แชนเนลอยู่ดีทั้งนี้ก็เนื่องเพราะสะดวกต่อความเข้าใจจากการที่เห็นมีลำโพงเพิ่มขึ้นมาที่ด้านหลังอีกหนึ่งตู้นั่นเอง
surround sound
     มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายๆท่านเริ่มจะเข้าใจและมองเห็นภาพชัดขึ้นแล้วใช่ไหมครับ ว่าที่เป็นระบบ 6.1 นั้น แท้จริงแล้วมันอย่างไรกันแน่ แต่เรื่องนี้ยังไม่จบนะครับ เพราะยังมีอีกชื่อหนึ่งที่หลายๆท่าน คงเคยได้ยินได้เห็นผ่านหูผ่านตามาบ้าง นั่นก็คือชื่อของ THX Surround EX ครับ
     กับชื่อนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ดอลบีย์ แล็บ เริ่มนำระบบ Dolby Digital EX ออกมาใช้ใหม่ๆ นั่นแหละครับ เมื่อทาง THX เห็นเข้า ก็ขอซื้อสิทธิในแบบวงจรมาผลิตใช้งาน แต่ได้นำมาประยุกต์ให้เข้ากั้บเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อให้เป็นรูปแบบเฉพาะตน แล้วทำออกสู่ตลาดในชื่อของตนที่เรียกว่า THX Surround EX นั่นแหละครับ ซึ่งในการแก้ไขดัดแปลง นั้นทำขึ้นด้วยการเพิ่มการปรับแต่งเสียงในส่วนของสัญญาณเซอร์ราวน์ด การปรับแต่งระบบแบบ Re-EQualization นอกจากนั้นยังมีการปรับแต่งเสียงในย่านความถี่ต่ำให้ละเอียดยิ่งขึ้น มีการตั้งค่าการหน่วงเวลา (Delay สัญญาณ) ของลำโพงเซอร์ราวน์ดทั้งซ้ายและขวา มีการกระจายและแบ่งสัญญาณในส่วนของเซอร์ราวน์ดทั้งซ้ายและขวา มีการกระจายและแบ่งสัญญาณในส่วนของเซอร์ราวน์หลัง (Back Surround Channel) จากแต่เดิมที่เป็นสัญญาณเสียงโมโน แชนเนลเดียว ให้แบ่งออกไปเป็น 2-แชนเนล จึงทำให้ระบบของ THX Surround EX นั้น ต้องใช้ลำโพงเซอร์ราวน์ดหลัง หรือ Back Surround Channel นั้น ถึงสองตัวด้วยกัน ในขณะที่ต้นแบบซึ่งเป็นผู้ออกแบบและผู้ผลิตส่วนใหญ่ที่ใช้ระบบ Dolby Digital Surround EX เห็นว่าไม่มีความจำเป็นสักเท่าไรในการใช้ลำโพงเซอร์ราวน์ดหลังที่ว่าถึงสองตัวแบบของ THX
     เพราะฉะนั้น การทำงานในระบบ THX Surround EX ที่สมบูรณ์จึงต้องใช้ลำโพงถึงแปดตัวด้วยกัน คือหน้าซ้าย / เซ็นเตอร์ / หน้าขวา / เซอร์ราวนด์ซาย / เซอร์ราวน์ดขวา / เซอร์ราวน์หลังสองตัว / สับ-วูฟเฟอร์ (ซึ่งหากนับตู้โดยรวมเป็นที่ตั้ง อันมีจำนวนแปดตู้แล้ว ผมเชื่อว่าคงมีหลายท่านคิดว่าเป็นระบบ 7.1-แชนเนล ขอฝากไว้ก่อนนะครับ ประเดี๋ยวจะกลับมาพูดถึง)
surround sound
     ซึ่งจากการที่ THX Surround EX ได้แยกแยะและปรุงแต่งสัญญาณให้มีความละเอียดเพิ่มมากขึ้นนั้นเอง จึงเป็นที่ยอมรับกันว่าระบบนี้ให้ประสิทธิภาพการทำงานและให้คุณภาพเสียง ออกมาได้ดีกว่าระบบอื่นๆ โดยเฉพาะดีกว่าระบบที่นิยมใช้กันมากกว่าระบบอื่น คือ Dolby Digital EX แต่ระบบของ THX ก็มิได้ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาดในวงกว้างนัก ทั้งนี้ก็เนื่องเพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่ไม่เลือกใช้กัน ด้วยมิเพียงค่าสิทธิบัตรจะมีราคาสูงเท่านั้น
หากยังจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เพราะเงื่อนไข ข้อบังคับ รวมทั้งกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่ทาง THX กำหนดเอาไว้ในขั้นตอนการเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ และในขั้นตอนการผลิตนั้น มีความเคร่งครัดอย่างมาก เราจึงไม่ค่อยจะเห็นเครื่องที่เป็นระบบ THX Surround EX มากนัก เพราะด้วยเงื่อนไขต่างๆ นานา ที่กำหนดเอาไว้นั้นทำให้ระบบดังกล่าวมักจะไปปรากฏอยู่ในเครื่องแยกชิ้นที่มีราคาสูงๆ ทั้งสิ้น
     ทั้งหมดนั้นคือ ระบบ 6.1-แชนเนลที่เป็นหลักๆ อันเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วย Dolby Digital Surround EX;DTS-EX และ THX Surround EX ซึ่งใช้กรรมวิธีแบบ Matrix เป็นพื้นฐาน กับระบบ DTS-EX Discrete  6.1 ที่ยอมรับกันว่าคือ 6.1 แท้ๆ เพียงระบบเดียว
     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณอาจจะเคยเห็นหรือเคยได้ยินใครพูดถึงระบบ 6.1 แบบอื่นๆ ก็ไม่ถือว่าพวกนั้นเป็นระบบหลักนะครับ เพราะส่วนใหญ่มักจะทำออกมาเป็นของตัวเอง แล้วก็เรียกชื่อให้แตกต่างออกไป ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อเป็นการสร้างลูกเล่นขึ้นมาหาเหตุจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาสนใจเท่านั้นเอง
     ถึงตรงนี้แล้ว พอจะเห็นอะไรเกียวกับเรื่องนี้เป็นภาพชัดขึ้นมาบ้างหรือเปล่าครับ แต่ผมเชื่อว่าอย่างน้อยๆ ถึงตรงนี้แล้วคุณๆ ก็คงได้ความกระจ่างชัดกันไปพอประมาณนะครับ แต่เรื่องนี้ยังไม่จบสนิทครับ เพราะอย่างที่ผมได้กล่าวไว้แต่แรกที่พูดถึงเรื่องนี้ก็คือ นอกจากเรื่องของ 6.1 แล้วยังมีชื่อของ7.1 เข้ามาเกี่ยวพันในระบบเสียงเซอร์ราวน์ดอีกด้วย และเชื่อว่าเวลานี้หลายท่านเริ่มจะได้ยินชื่อของ 7.1-แชนเนล หนาหูขึ้นจนอาจจะกลายเป็นเรื่อง
ธรรมดาสำหรับบางท่านไปบ้างแล้วใช่ไหมครับ
     แต่กับเรื่องของ 7.1 นี้ เมื่อคุณได้ติดตามรายละเอียดในส่วนของ 6.1 มาตั้งแต่ต้นแล้ว คุณย่อมต้องมีคำถามขึ้นในใจแล้วใช่ไหมครับว่า ขนาดระบบ 6.1 แท้ๆ นั้น มันยังมีเพียงระบบเดียวเลย แล้วไอ้เจ้า 7.1 ที่ได้ยินใครต่อใครเขาพูดถึงกันนั้น มันจะอีกท่าไหนกันล่ะ
     ครับ ใช่เลย เพราะปัจจับันแม้แต่ 6.1 แท้ๆ ที่มีเพียงระบบเดียวนั้น มันยังไม่ได้รับความนิยมกันสักกี่มากน้อยเลย แล้วจะไปสนใจไอ้ที่มากกว่านั้นกันทำไม เพราะเชื่อได้เลยว่ามันต้องไม่ใช่อะไรที่คือของแท้อย่างแน่นอน ดังนั้นไม่ต้องไปให้ความสนใจเลยนะครับ และกับเรื่องนี้ สิ่งที่ทำให้ใครต่อใครสับสนก็คือเรื่องจำนวนของลำโพงที่ใช้ระบบครับ ผมเชื่อว่าหลายๆคนมีความเข้าใจว่าลำโพงแต่ละตัวนั้น มันหมายถึงแต่ละแชนเนลของระบบเสียง อย่างระบบ 5.1 มีลำโพงหกตัว ก็หมายถึง 6-แชนเนล พอเป็น 6.1 ที่มีลำโพงเซอร์ราวน์ดหลังหรือ Back Surround เพิ่มมาอีกหนึ่งตัว ก็รวมเป็นลำโพงเจ็ดตัว หมายถึง 7-แชนเนล และเพราะดังที่ได้บอกเอาไว้ในระบบอของ THX Surround EX ที่เขากำหนดให้ใช้ลำโพงเซอร์ราวน์ดหลังสองตัวทำให้มีลำโพงในระบบเพิ่มขึ้นมาเป็นแปดตัว หลายๆคนก็เลยเข้าใจไปว่ามันเป็นระบบ 7.1-แชนเนล ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ครับ มันยังคงเป็นระบบ6.1 อยู่ดีนั่นเอง
     แต่ถามว่า 7.1-แชนเนล จริงๆนั้น มีไหม ก็ต้องตอบว่ามีครับเพียงแต่มันไม่ใช่ระบบที่นำมาใช้งานได้ในแบบ Home Used สามารถหาดูหาฟัง ได้ตามโรงภาพยนต์ที่บอกว่าระบบเสียงเป็นแบบ SDDS นั่นแหละครับ 7.1 ล่ะ  ระบบนี้คิดค้นและพัฒนาขึ้นมาโดย Sony เพื่อให้นำไปใช้ในโรงหนังโดยเฉพาะชื่อเต็มๆ คือ Sony Dynamic Digital Sound ครับ
surround sound

     เรื่องการใช้ลำโพงเซอร์ราวน์ดหลังหรือ Back Surround สองตัว ก็เหมือนกับระบบเสียงเซอร์ราวน์ดยุคแรกๆ สมัย Dolby Pro-Logic นั่นแหละครับที่สัญญาณของลำโพงเซอร์ราวน์ดทางด้านหลังนั้นมันเป็นสัญญาณโมโน คือ แชนเนลเดียว แต่เขาให้ใช้ลำโพงสองตัวกระหนาบตำแหน่งนั่งดู นั่งฟังทั้งทางด้านซ้าย และขวา เหมือนทางด้านหน้า ทำให้หลายๆคนมีความเข้าใจผิด คิดว่ามันเป็นเสียงของแต่ละแชนเนลที่แยกอิสระจากกันนั่นเอง
     ซึ่งกับเรื่องของลำโพงที่ใช้สำหรับแชนเนลเซอร์ราวน์ดหลังนี้ มิเพียงในระบบ THX Surround EX เท่านั้นดอกนะครับ ที่กำหนดเอาไว้ว่าต้องใช้ลำโพงสองตัว เพราะแม้แต่ทาง Dolby Lab เอง ก็ยังยอมรับว่าหากเป็นไปได้แล้วล่ะก็ ที่แชลเนลนี้ควรใช้ลำโพงสองตัววางแยกออกจากกันในระยะที่เหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาในเรื่องของเสียงที่จะมารวมตัวกันเป็นจุดเดียวตรงกึ่งกลางด้านหลังตำแหน่งนั่งดูหนังนั่นเอง การใช้ลำโพงสองตัววางห่างจากกันหน่อย จะช่วยให้ได้บรรยากาศเสียงที่ดีกว่า
     เพราะฉะนั่นจึงใคร่เรียนย้ำว่าอย่าได้เอาเรื่องจำนวนของตู้ลำโพงที่ใช้ในระบบมาเป็นตัวกำหนดอย่างเด็ดขาด ว่าที่เห็นนั้น เป็นแบบกี่แชนเนลหรือกี่ร่องเสียง เพราะมิฉะนั้นแล้ว หากคุณเข้าไปในโรงภาพยนตร์แล้วเขาเปิดให้ดูว่าทั้งโรงใช้ลำโพงกี่ตัว กี่ตู้ แล้วล่ะก็ คุณอาจจะร้อง-โอ้โห แล้วคิดว่ามันเป็นระบบยี่สิบ สามสิบ แชนเนลขึ้นมาก็เป็นได้
     ถึงตรงนั้ก็สรุปได้เลยนะครับ ว่าระบบเสียงเซอร์ราวน์ดที่มีที่ใช้กันอยู่ตามบ้านนั้น เวลานี้ที่มีเต็มที่เลยก็คือระบบ 6.1-แชนเนล และการทำงานของระบบ 6.1ที่ว่านี้ ก็ยังต้องอาศัยระบบพื้นฐาน คือระบบ 5.1 แชนเนล เพราะฉะนั้นหากคุณพบเห็นอะไรผิดไปจากที่ว่านี้ หรือเป็นอะไรที่มากกว่านี้ฟันธงได้เลยนะครับ ว่าไม่ใช่ของจริง อย่างที่เห็นระบุหราอยู่บนแผงหน้าปัดเครื่องบางรุ่น บางยี่ห้อ ว่าเป็นแบบ 7.1 บ้าง เป็น 8.1 บ้าง หรือบางเครื่องก็ว่ากันถึง 9.1 เลยนั้น มันไม่ใช่เรื่องของสัญญาณที่จริงแท้ที่ถูกถอดออกมาเพื่อเล่นกลับในความหมายของ Play Back ให้ได้ยินกันนะครับ แต่มันเป็นเสียงที่เกิดจากการที่เครื่องนั้นๆ มีวงจรในการสังเคราะห์สัญญาณอยู่ในตัว ที่จับเอาสัญญาณจากแชนเนลโน้น มาผสมกับแชนเนลนี้ ด้วยกรรมวิธีที่แตกต่างกันไป แล้วทำขึ้นมาเป็นสัญญาณใหม่ให้ไปออกลำโพงอื่นๆ ต่อไปอีกหลายๆ ตัว แบบเครื่อง AV Amplifier หรือ AV Receiver บางตัวสามารถสังเคราะห์สัญญาณใหม่ขึ้นมาสำหรับลำโพงเสียงเอฟเฝ็คท์ทางด้านหน้าซ้าย ขวา อีกคู่หนึ่งก็มี ซึ่งทำให้เห็นว่าที่ด้านหน้านั้นมีลำโพงถึงห้าตัวด้วยกัน คือ นอกจากลำโพงหลักซ้าย ขวาและเซ็นเตอร์แล้ว ก็มีเอฟเฝ็คท์ที่ว่านั้นเพิ่มขึ้นมาอีกสองตัว เป็นต้น
     บางรายเพิ่มเอฟเฝ็คท์ที่ด้านหน้าขึ้นมาถึงสองแล้ว ไม่พอ ยังไปเพิ่มต่อที่ด้านหลังอีกสอง ทำให้ลำโพงเซอร์ราวน์ดแต่เดิมที่มีสอง กลายมาเห็นเป็นสี่ บวกรวมแล้วมีลำโพงในระบบถึงเก้าตัวด้วยกัน ก็เลยคิดไปว่าเป็นระบบ 8.1 ไปโน่นเลย แถมบางรายใช้สับ-วูฟเฟอร์ตัวเดียวไม่พอ เพิ่มเป็นสองเลย ทีนี้พอนับรวมทั้งหมดได้ลำโพงกี่ตู้ล่ะครับ ถึง 10 แล้วใช่ไหมครับ นั่นแหละครับคือที่มาของระบบที่เรียกๆ กัน (เอง) ว่า 9.1 นั่นแล
     เหล่านั้นล่วนแล้วแต่เกิดจากการที่ 'เครื่องทำเอง' ทั้งสิ้นเลยนะครับและการที่ออกแบบมาให้เครื่องทำเองในลักษณะนี้แหละครับ ที่ทำให้เกิดความ
สับสนว่าเป็นระบบที่มากเกินกว่า 6.1 ไป
     หากถามว่าเครื่องพวกนั้นน่าเล่นไหม ตอบได้ว่าขึ้นอยู่กับตัวคุณเองครับ กับประสบการณ์ที่เคยลองเล่นเครื่องพวกนี้ ก็ให้รู้สึกว่ามันแปลกๆ ดีเหมือนกัน แต่ก็ใคร่ให้ข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ถ้าห้องของคุณไม่ได้ใหญ่โตอะไรเลย การเล่นเพียงแค่ระบบ 5.1 มาตรฐาน ที่ใช้ลำโพงหกตัวก็เพียงพอแล้วล่ะครับ ปรับเซ็ทจัดซิสเต็มให้ลงตัว น้ำเสียงที่ได้ผมว่าเกินพอด้วยซ้ำไป แต่ถ้าห้องมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และลำโพงที่เลือกใช้ไม่สามารถให้การกระจายที่เสียงครอบคลุมได้อย่างทั่วถึง การเพิ่มลำโพงเข้ามาในระบบเพื่อให้ได้บรรยากาศเสียงถ้วนทั่วภายในห้อง ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำ ก็เหมือนกับในโรงหนังไงครับ ที่เขาต้องใช้ลำโพงถึงยี่สิบ สามสิบตัว ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้เสียงครอบคลุมทั่วทั้งโรงนั่นเอง
surround sound
     แล้วถ้าถามถึงระบบ 6.1 ล่ะ ว่าน่าลงทุนด้วยสักกี่มากน้อย ก็ต้องถามกลับล่ะครับ ว่าถึงวันนี้มีซอฟท์แวร์มากสักแค่ไหน ที่เป็น 6.1 จริงๆ
     ก่อนจบ ขอเพิ่มเติมอีกสักนิดครับ เพราะเชื่อว่าถึงวันนี้หลายๆ ท่านคงคุ้นตากับคำว่า TrueHD เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมักจะได้ยินหรือเข้าใจไปในทำนองว่าเป็นระบบเสียงที่ให้บรรยากาศรายรอบหรือ Surround Sound ฟอร์แม็ตใหม่ ซึ่งดูท่าว่ากำลังจะกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของระบบเสียงในHome Theater System ซึ่งที่เข้าตามากในเวลานี้คือ Dolby TrueHD เชื่อว่าคงมีหลายๆ ท่านที่สงสัย ว่าคือแบบไหน อย่างไร จึงถือโอกาสนำมาพูดคุย
กันเที่ยวนี้เลย
     โดยขอยกเอาบทความที่ Craig Eggers ผู้จัดการอาวุโสด้านการตลาดในส่วนของ Consumer Electronics Technology แห่ง Dolby Laboratories,Inc.เขียนและตีพิมพ์ไว้ในนิตยสาร Home Theater/USA มาสรุปพอเป็นสังเขป ดังนี้ครับ
     คุณเครกบอกว่าปี 2007 นั้นเป็นปีที่ระบบเสียงมีพัฒนาการก้าวไปอีกระดับ โดยเฉพาะในส่วนของ Dolby Lab เองที่ปัจจุบันระบบเสียงของ Dolby แบบต่างๆ ได้ถูกตำไปใช้ในมาตรฐานการบันทึกลงซอฟท์เวร์นานาประเภทอย่างกว้างขวางนั้น จะมีฟอร์แม็ตออกมาให้สัมผัสกันอีกอย่างน้อยๆ ก็สองรูปแบบด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบสนองต่อเทคโนโลยีการแสดงผลภาพที่เป็นแบบรายละเอียดสูง ซึ่งก้าวไปถึงระดับ High Resolution 1920x1080p ทั้งในส่วนของจอภาพ และเครื่องเล่นไม่ว่าจะเป็น Blu-ray Disc Play หรือ  HD-DVD Player (ซึ่งตอนที่คุณเครกเขียนบทความนี้ฟอร์แม็ตนี้ยังคงมีลมหายใจอยู่ครับ ยังไม่ได้กลายเป็นตำนานไปแล้วอย่างในวันนี้) ก็ตาม ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลคความบันเทิงที่ข้อมูลทางด้านภาพและเสียงได้ผสมผสานกลมกลืนกันเพื่อให้เกิดความสุนทรีย์สูงสุดแก่ผู้บริโภคทั่วโลก
surround sound
     โดยปีนี้ Dolby Lab จะมีมาตรฐานใหม่ของระบบเสียงจากสองเทคโนโลยี คือ Dolby Digital Plus และ Dolby TrueHD
     Dolby Digital Plus แม้จะมีพื้นฐานของการเข้ารหัสสัญญาณเสียงในแบบ 5.1 เหมือน Dolby Digital แต่ด้วยการลดอัตราการเข้ารหัสสัญญาณข้อมูลน้อยกว่าเดิมในแบบ 1/3 - 1/2 ทำให้ได้คุณภาพเสียงที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยมีเจตนาในการนำไปใช้กับสื่อที่ให้บริการทางด้านภาพและเสียงโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น Cable หรือสถานีแพร่ภาพและเสียงในแบบ Digital Broadcasting รวมทั้งบรรดา Internet Provider ทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม Dolby Digital Plus ยังได้รับการพัฒนาไปสู่ความต้องการเพิ่มช่องสัญญาณใช้งานในรูปแบบ 7.1 ด้วย โดยมีอัตราการส่งผ่านข้อมูลความเร็วสูงเพิ่มขึ้นเป็น 3.0 Mbps (3 เมกะบิทต่อวินาที) ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอัตราการส่งผ่านข้อมูลที่รวดเร็วมาก ผลที่ตามมาก็คือได้คุณภาพที่เสมือนจริงมากขึ้น
นั่นเอง
    
    ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพของสัญญาณเสียงที่ดีที่สุดเท่าทีจะเป็นไปได้ Dolby Digital Plus จึงถูกวางเป้าหมายเอาไว้ ว่าจะต้องพัฒนาอัตราการส่งผ่านข้อมูลให้รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว โดยตั้งเอาไว้ที่ 6.0 Mbps และสามารถขยายช่องสัญญาณขึ้นไปได้ถึง 13.1 Channels ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ลองคิดกันดูนะครับ ว่าระบบเสียงของ Home Theatre ในบ้านที่เป็นแบบ 13.1 นั้น จะให้บรรยากาศเสียงออกมาได้สมบูรณ์แค่ไหน
     (แค่พูดก็พูดเถอะนะครับ หากต้องติดตั้งลำโพงกันถึง 13-14 ตัวแล้ว ห้องนั้นๆจะต้องมีพื้นที่กี่ตารางเมตร กว้าง-ยาวแค่ไหน แล้วมีบ้านใครสักกี่คนที่พอจะมีห้องขนานนั้นให้ตั้งลำโพงได้หมดทั้งระบบที่ว่า อย่างไรก็ตาม นั้นเป็นเพียงแค่แนวคิดที่จะ 'ไปให้ถึง' เท่านั้นเอง เพราะเจตจำนงจริงๆ นั้นดูๆไปแล้วน่าจะหยุดอยู่เพียงแค่ 7.1 ด้วยแค่นี้ก็เกินพอสำหรับชุด Home Theater ทั่วๆไปแล้ว)
     ปัจจุบันค่ายหนังยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Sony Pictures หรือ Warner Brothers รวมทั้ง Universal ที่แม้ใช้ระบบเสียงแบบ Dolby Digital 5.1 กับ PCM 5.1 เป็นหลัก ต่างก็เริ่มมี Dolby Digital Plus 5.1 ให้เห็นในหนังบางเรื่องบ้างแล้วทั้งในฟอร์แม็ต Blu-ray (และฟอร์แม็ต HD-DVD ก็มีเหมือนกัน) ยิ่งไปกว่านั้น ทาง BDA หรือ Blu-ray Disc Association ยังได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับทาง Dolby Lab เพื่อการนำเสนอแผ่นภาพยนตร์ Blu-ray 7.1 นั่นเอง
     ในส่วนของ Dolby TrueHD นั้น เมื่อดูจากหลักการทำงานแล้วเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นระบบเสียงที่ให้อรรถรสได้อย่างสมบูรณ์เกือบ 100% เต็ม เพราะปลอดจากการสูญเสียสัญญาณอย่างสิ้นเชิงก็ว่าได้ เนื่องเพราะมีการแสดงผลแบบ bit-to-bit หรือว่ากันแบบบิตต่อบิตนั่นเอง
     ทำให้สามารถพูดได้ว่าหากได้ฟังเสียงจากการบันทึกหรือเข้ารหัสสัญญาณมาในรูปแบบนี้แล้ว จะเสมือนกับการได้ฟังเสียงในสติวดิโอที่มีการบันทึกเสียงนั้นๆ ในเวลานั้นๆ นั่นเทียว  หรือหากเป็นการชมแผ่นบันทึกการแสดงสด ก็จะได้สัมผัสคุณภาพเสียงเหมือนกับว่าได้อยู่ใน Live Concert นั่นด้วย โดย Dolby TrueHD เป็นระบบเสียงที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อนำไปใช้เฉพาะใน HD-DVD และ Blu-ray Disc เท่านั้น ไม่เหมือนกับเจตนาเดิมของDolby Digital Plus ที่เริ่มต้นมาทางด้าน Broadcasting หรือกลุ่มที่ให้บริการในลักษณะการแพร่ภาพและเสียงก่อน
surround sound
     หากเปรียบเทียบกันทางด้านหลักการแล้ว อาจจะมองได้ว่า Dolby TrueHD นั้นมีคุณภาพที่เหนือกว่า Dolby Digital Plus เนื่องเพราะสามารถให้การแสดงผลออกมาได้ใกล้เคียง หรือเหมือนกับต้นฉบับมากกว่าก็ว่าได้ แต่ข้อดีของ Dolby Digital Plus ก็คือขีดความสามารถในการขยาย Channels นั่นเอง
    พูดถึง Dolby แล้ว จะไม่พูดถึง DTS บ้าง ก็ดูกระไรอยู่ เพราะฝ่ายหลังก็มีระบบเสียงแบบ HD ออกมาเหมือนกัน โดย Tom Dixon ผู้อำนวยการด้านแผนการตลาดของ DTS ได้บอกว่านอกเหนือไปจาก DTS Digital Surround ที่เราท่านต่างคุ้นกันดีอยู่แล้ว ยังมี DTS-HD อีกสองฟอร์แม็ตคือ DTS-HD Master Audio และ DTS-HD High Resolution Audio ที่ต่างก็รองรับระบบ 7.1 เหมือนกัน
     โดยแบบแรกนั้นก็คล้ายๆกับ Dolby TrueHD คือมีการแสดงผลแบบ bit-to-bit และมีอัตราการส่งผ่านสัญญาณข้อมูลที่ผันแปรได้ด้วย Bit Rates สูงสุดถึง 24.5 Mbps รองรับระบบ 7.1 ที่ 94kHz/24-bit ซึ่งไปได้สูงสุดที่ 192kHz/24-bit ในขณะที่ DTS-HD High Resolution Audio นั้นมีการส่งผ่านข้อมูลแบบคงที่ซึ่งมีอัตราความเร็วสูงสุดที่ 6.0 Mbps รองรับระบบ 7.1 ที่ 96kHz/24-bit   
 .....ครับ ทั้งหมดนั้นเป็นระบบเสียงฟอร์แม็ตใหม่ที่เวลานี้เรากำลังได้สัมผัสเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว
ที่มา :นิตยสาร  What AV

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น