วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

'คอนกรีตมวลเบา' มีข้อดีต่างจาก'อิฐมอญ'อย่างไร

 'คอนกรีตมวลเบา' มีข้อดีต่างจาก'อิฐมอญ'อย่างไร

    แม้ว่าอิฐมอญจะเป็นวัสดุที่หาง่าย ราคาถูก และเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างผนังอาคารมานมนานแล้ว แต่อิฐมอญก็มีข้อด้อยในเชิงอนุรักษ์พลังงาน เพราะมันเป็นวัสดุที่ยอมให้ความร้อนถ่ายเทเข้า-ออกได้ง่ายและยังดูดเก็บความร้อนไว้ในตัวเองเป็นเวลานานกว่าจะเย็นตัวลง จะสังเกตได้ว่าเมื่อเราใช้มือสัมผัสผนังภายในบ้านในตอนบ่ายที่ถูกแดดร้อนจัด ผนังจะร้อนมาก และยังคงร้อนอยู่จนถึงช่วงหัวค่ำแล้วจึงเย็นลงใกล้เคียงกับอากาศปกติ
            นอกจากนี้ เมื่อเทียบค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของผนังด้านนอกอาคารหรือส่วนของอาคารที่มีการปรับอากาศที่เรียกว่าค่า OTTV (Overall Thermal Transfer Value) แล้วพบว่า อาคารที่ก่อด้วยอิฐมอญมีค่านี้สูงถึง 51 – 53 วัตต์ต่อตารางเมตร ซึ่งเกินกว่าในกฎหมายตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 ที่กำหนดเอาไว้ไม่เกิน 45 วัตต์ต่อตารางเมตรสำหรับอาคารควบคุมที่มีพิกัดการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 1 พันกิโลวัตต์ เป็นต้นไป ดังนั้น อิฐมอญจึงไม่ใช่วัสดุก่อสร้างเพื่อการประหยัดพลังงานที่ดีเมื่อเทียบกับคอนกรีตมวลเบา

รู้จักกับ ‘คอนกรีตมวลเบา’ 
 
 

            คอนกรีตมวลเบาเป็นวัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ที่ผลิตได้จากการสังเคราะห์ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ทราย ยิปซั่มและปูนขาว และสารกระจายฟองอากาศขนาดเล็กอย่างสม่ำเสมอในเนื้อวัสดุ แล้วผ่านการอบไอน้ำภายใต้อุณหภูมิและความดันที่เหมาะสม การผลิตด้วยเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงทำให้ได้วัสดุที่มีสมบัติพิเศษ เบาแต่แข็งแกร่ง รับแรงอัดได้สูง มีความหนาแน่น 500-700 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เบากว่าอิฐมอญ 2-3 เท่า และเบากว่าคอนกรีต 4-5 เท่า ลดน้ำหนักผนังอาคารเหลือ 90 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แข็งแกร่ง รับกำลังอัดได้สูงตั้งแต่ 30-80 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร มีค่าการนำความร้อนต่ำ กันความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญ 4-6 เท่า ทนไฟได้นานกว่า 4 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 1,100 องศาเซลเซียสโดยไม่แตกร้าวหรือพังทลาย นอกจากนั้นยังเป็นฉนวนกันเสียงและลดการสะท้อนของเสียงอีกด้วย (ที่ความหนา 10 เซนติเมตร ฉาบปูน 2 ด้านๆละครึ่งเซนติเมตร สามารถกันเสียงได้ 42 เดซิเบล) และจากการวิเคราะห์สมรรถนะเชิงความร้อนด้วยค่า OTTV ของบ้านที่สร้างด้วยคอนกรีตมวลเบาพบว่าค่าดังกล่าวมีค่าต่ำกว่าบ้านที่สร้างด้วยอิฐมอญถึง 41.56 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ที่มา : "คอนกรีตมวลเบา วัสดุผนังเพื่อการประหยัดพลังงาน" โดย ธนา จัดวัฒนกุล อาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วารสารวิศวกรรมสาร ฉบับที่ 10-11 ปีที่ 54

 
 ขั้นตอนการผลิต*

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น