หมอเตือนใช้ “นิ้ว” หิ้วของหนัก-บิดผ้ารุนแรง ระวังเป็นโรค “นิ้วล็อก”
นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล แพทย์โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อาการ “นิ้วล็อก” เป็นความผิดปกติของนิ้วมือ ไม่สามารถเหยียดงอได้ตามธรรมชาติ เกิดจากปลอกหุ้มเอ็นและเข็มขัดรัดเส้นเอ็นที่นิ้วมือขาดความยืดหยุ่น จากการใช้งานมือและนิ้วอย่างหนัก โดยร้อยละ 80 ของผู้ป่วยเป็นผู้หญิง พบมากอายุ 50-60 ปี
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคนิ้วล็อก คือ แม่บ้านที่หิ้วถุงพลาสติกจุของหนักๆ เช่น ผลไม้ ซักผ้าด้วยมือแล้วบิดผ้าแรงๆ คนขายของที่หิ้วสินค้าเร่ขาย ช่างตัดเสื้อ ช่างทำผม พนักงานธนาคาร พนักงานพิมพ์ดีด นักกอล์ฟ นักแบดมินตัน หมอฟัน นักเขียน ครู นักวิชาการ นักบัญชี ผู้บริหาร
ทั้งนี้ หากเป็นในระยะเริ่มแรก ควรพักการใช้งาน แช่น้ำอุ่น ฉีดยาสเตียรอยด์ แต่หากเป็นระยะรุนแรงจนนิ้วติดล็อก เหยียดไม่ออก งอนิ้วไม่เข้า นิ้วแข็งบวม นิ้วโก่งงอ เจ็บปวด รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันตนได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดโดยใช้ “เครื่องมือทำฟัน” เจาะรูเล็กๆ ที่มือ เพื่อสะกิดเข็มขัดรัดเส้นเอ็นที่ขาดความยืดหยุ่นให้คลายตัว โดยแพทย์จะฉีดยาชาที่มือ ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีก็เสร็จ เพราะเป็นการผ่าตัดเล็ก ห้ามแผลถูกน้ำ ใช้มือทำงานได้ตามปกติ หลังจากนั้น 7 วันก็เปิดแผลได้
นพ.วิชัย กล่าวว่า แนวโน้มพบผู้ป่วยนิ้วล็อกเพิ่มมากขึ้น จึงต้องการรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงรู้จักการป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงการหิ้วถุงหนักๆ ด้วยการใช้นิ้วมือเกี่ยว ควรให้หูหิ้วอยู่ในฝ่ามือ มีผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดหน้ารอง อย่าหิ้วหนัก และหิ้วนาน ผู้ที่ทำงานเป็นช่าง ทำสวน ขุดดิน ควรใช้ถุงมือ อย่าฝืนใช้มือจนเมื่อยล้า ควรพักเป็นระยะๆ หากเมื่อยอย่าฝืนทำต่อ ครูหรือนักวิชาการอย่าเขียนหนังสือนานๆ ผู้ที่เป็นแม่บ้านอย่าบิดผ้าอย่างรุนแรง เพราะการบิดผ้าบ่อยๆ ทำให้ปลอกหุ้มเอ็นของนิ้วมือเสียความยืดหยุ่น และกลายเป็นนิ้วล็อก นักกอล์ฟควรใส่ถุงมือ มือใหม่หัดเล่นอย่าขยันไดร์ฟกอล์ฟอย่างรุนแรงต่อเนื่อง ควรฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไป มิเช่นนั้น นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยมือซ้าย อาจบวมอักเสบ และกลายเป็นนิ้วล็อก
ที่มา : manager
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น