วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สร้างความสูงก่อนจะสาย

สร้าง “ ความสูง ” ก่อนจะสาย .

ที่มา :   เอมอร คชเสนี

อัตราการเจริญเติบโตของร่างกายในแต่ละช่วงวัยจะไม่เท่ากัน ก่อนคลอดและหลังคลอด อัตราการเจริญเติบโตจะเร็วที่สุด และจะค่อยๆ ลดลงจนมีอัตราคงที่เมื่อเข้าสู่วัยเด็ก เด็กหญิงจะมีความสูงและน้ำหนักตัวมากกว่าเด็กชายเล็กน้อย ส่วนความแข็งแรงของร่างกายจะพอๆ กัน
ระยะวัยรุ่นหรือวัยเจริญพันธุ์ ร่างกายจะเจริญเติบโตเร็วมาก เด็กหญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยนี้เมื่ออายุ 12-13 ปี ส่วนเด็กชายเริ่มเมื่ออายุ 14-15 ปี เด็กชายจะสูงเร็วกว่าเด็กหญิง แขนขาของเด็กหญิงจะหยุดเจริญเติบโตเมื่ออายุ 15-16 ปี แต่เด็กชายจะหยุดที่อายุ 17-18 ปี หลังจากนั้นกระดูกสันหลังจะเจริญเติบโตต่อไปได้อีก โดยเด็กหญิงถึงอายุ 19-20 ปี เด็กชายถึงอายุ 21-22 ปี
อายุ
อัตราการเพิ่มความสูง
แรกเกิด – 1 ปี
25 ซม.ต่อปี
1 – 2 ปี
10 – 12 ซม.ต่อปี
2 – 4 ปี
6 – 7 ซม.ต่อปี
4 - 10 ปี (เด็กหญิง) 4 - 12 ปี (เด็กชาย)
5 ซม.ต่อปี
วัยรุ่น
7 – 8 ซม.ต่อปี
คนเราจะสูงได้จำเป็นต้องมีมวลกระดูกที่ดีและแข็งแรง มวลกระดูกหมายถึง ความหนาแน่นของเนื้อกระดูก ที่ประกอบด้วยโครงสร้างหลักและแร่ธาตุต่างๆ ที่เสริมให้กระดูกมีทั้งความแข็งแรง ความหนา ความใหญ่ ความยาว เนื่องจากความสูงเกิดจากการขยายตัวของกระดูกทั้งด้านยาวและด้านกว้าง
ปัจจัยที่มีผลต่อความสูงของคนเรา ประกอบด้วย
1. กรรมพันธุ์
รูปร่างของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เป็นตัวกำหนดโครงสร้างพื้นฐานของลูกหลาน หากพ่อแม่สูงหรือเตี้ย ลูกก็มีแนวโน้มที่จะมีรูปร่างแบบนั้น ความสูงของลูกสามารถกะคร่าวๆ ได้ ด้วยการนำความสูงของพ่อรวมกับของแม่ แล้วหารสอง (บวก-ลบ ได้ 10 เซนติเมตร)
2. ภาวะโภชนาการ
อาหารมีผลต่อความแข็งแรงของกระดูกอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น ซึ่งกระดูกจะมีการพอกพูนให้มีความแข็งแกร่งได้ ต่างจากในช่วงวัยอื่น เช่น วัยหนุ่มสาว ซึ่งกระดูกจะไม่สามารถพอกพูนให้แข็งแรงได้มากกว่าเดิมอีก
วัยเด็กตอนปลายต่อวัยรุ่นตอนต้นจะเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ควรได้รับอาหารครบ 5 หมู่อย่างพอเพียง สารอาหารที่สำคัญในการทำให้กระดูกแข็งแรง ก็คือแคลเซียม
อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม แต่บางคนดื่มนมแล้วท้องเสีย ก็ให้เลี่ยงไปรับประทานปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งก้าง กุ้งแห้ง ผักที่มีสีเขียวเข้มๆ ถั่วเหลือง และงา เป็นต้น
3. ฮอร์โมน
ฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโต คือ growth hormone ต่อมใต้สมองจะผลิตฮอร์โมนตัวนี้ออกมากระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้กระดูกขยายตัวในแนวยาว ทำให้ตัวสูงขึ้น
นอกจาก growth hormone จะมีผลต่อการเจริญเติบโตแล้ว ยังมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เด็กที่ขาดฮอร์โมนตัวนี้จะมีหน้าตาอ่อนกว่าอายุจริง รูปร่างเตี้ยเล็กแต่สมส่วน แต่เนื่องจากมีไขมันสะสมบริเวณลำตัวมาก จึงทำให้ดูอ้วนกลม ถ้าเป็นเด็กชายมักมีอวัยวะเพศเล็กไม่สมวัย อย่างไรก็ตามภาวะขาด growth hormone ไม่มีผลต่อระดับสติปัญญาของเด็ก
คนที่ขาดฮอร์โมนตัวนี้ หากได้รับการฉีด growth hormone ตั้งแต่เด็ก จะทำให้สูงขึ้นได้ แต่ในเด็กปกติ ถึงแม้จะฉีด growth hormone ก็ไม่ได้ทำให้สูงขึ้นอีก
การนอนหลับให้สนิทและนานพอ จะทำให้ร่างกายหลั่ง growth hormone ออกมาได้อย่างเต็มที่ เด็กที่นอนไม่พอ จะหลั่ง growth hormone ออกมาน้อย และมีผลต่อความสูงได้
ไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งสร้างจากต่อมไทรอยด์ ก็มีผลต่อสมองและความสูงอย่างมาก ถ้าเด็กขาด ฮอร์โมนตัวนี้ มักจะมีพัฒนาการช้าและเตี้ย
ฮอร์โมนเพศก็สำคัญเช่นกัน หากเด็กเป็นสาวเป็นหนุ่มเร็ว จะส่งผลให้กระดูกปิดเร็วและค่อยๆ หยุดเจริญเติบโตในที่สุด พบว่าเด็กผู้หญิงที่มีประจำเดือนเร็ว มีแนวโน้มที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สูง ส่วนมากเด็กหญิงที่มีประจำเดือนแล้ว 3 ปี และเด็กชายที่เสียงแตกมาแล้ว 3 ปี มักจะหยุดโตและหมดโอกาสที่จะสูงได้อีก
นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนบางชนิดก็อาจทำให้เด็กเตี้ยได้ ได้แก่ การมีฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตมากเกินไป เด็กจะมีรูปร่างอ้วนเตี้ย
4. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองหลั่ง growth hormone ได้เหมือนกัน และยังกระตุ้นให้เซลล์ที่สร้างเนื้อกระดูกดึงแคลเซียมจากเลือดมาสร้างกระดูก และสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกด้วย นอกจากนี้การได้รับแสงแดดอย่างพอเพียงในตอนเช้าหรือเย็น จะช่วยให้มีการสร้างวิตามินดีในร่างกาย เพิ่มการดูดซึมแคลเซียมได้ คนที่เอาแต่นั่งๆ นอนๆ พัฒนาการของกระดูกจะช้ากว่าคนที่เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ
5. สุขภาพร่างกายและจิตใจ
สาเหตุที่ทำให้เด็กตัวเตี้ย อาจเนื่องมาจากมีโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระดูก หรือมีโรคเจ็บป่วยเรื้อรังในวัยเด็ก หรือเนื่องมาจากน้ำหนัก และ/หรือ ความยาวแรกเกิดน้อยกว่าเด็กปกติ
การดูแลสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วย จะทำให้ร่างกายเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ การเจ็บป่วยบ่อยๆ จะทำให้การเติบโตหยุดชะงัก การใช้ยาบางชนิดก็มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย นอกจากนี้ ความเครียดก็เป็นตัวบั่นทอนการเจริญเติบโตได้เช่นกัน
โดยทั่วไปความสูงของเราจะเป็นค่าเฉลี่ยของความสูงของพ่อแม่ ความสูงเฉลี่ยของประชากร เชื้อชาติ เพศ และวัยเดียวกัน ไม่มียาใดที่ทำให้สูงขึ้น ในทางการแพทย์มีการรักษาโดยการผ่าตัดกระดูก แต่ก็เป็นการรักษาเพื่อแก้ไขความพิการมากกว่าเพื่อเสริมบุคลิกภาพ
หลายคนมานึกอยากสูงเอาเมื่อสายไปเสียแล้ว ดังนั้น คนที่ยังอยู่ในวัยที่สร้างความสูงได้ และพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรใส่ใจกับการสร้างความสูงและความแข็งแรงของกระดูกเสียตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น