วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

IQดีEQเด่นด้วยเพลง


หัวหน้าสาขาดุริยางคศาสตร์ มศว เผยการฟังเพลงคลาสสิค ช่วยพัฒนาสมองและสติปัญญา โดยเฉพาะได้ความคิดของเหตุและผล ส่วนดนตรีช่วยบำบัดเด็กสมาธิสั้นได้ พร้อมแนะผู้ปกครองถึงวิธีเรียนดนตรีสำหรับเด็ก ต้องใช้เวลาให้เด็กได้พัฒนาเองตามลำดับ อย่าเคี่ยวเข็ญให้เด็กเล่นดนตรีได้ทันที
    นายสมชาย อัศวโกวิท หัวหน้าสาขาดุริยางคศาสตร์สากล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า การเลือกฟังเพลงคลาสสิคจะเกิดประโยชน์กับผู้ฟังในเชิงของความคิด เพราะดนตรีประเภทนี้จะมีเหตุมีผลในตัวของมันเอง สามารถบอกเหตุผลได้ว่าผู้แต่งในยุคนั้นๆ มีวิธีการแต่งอย่างไร เหมือนการแต่งกลอนบ้านเรา แต่ละยุคจะมีการแต่งที่แตกต่างกันออกไป ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมในยุคนั้นๆ ทำให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ของมนุษยโลก ถ้าบ้านเมืองยุคไหนเจริญดนตรี ศิลปะจะมีการพัฒนา ถ้าบ้านเมืองขณะนั้นมีสงครามดนตรี ศิลปะยุคนั้นก็ไม่เกิด จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของประวัติศาสตร์ เมื่อเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์จะได้ไม่ทำอะไรผิดพลาดอีก
        “หลายคนที่ไม่มีพื้นทางด้านดนตรีคลาสสิคก็สามารถฟังเพลงประเภทนี้เกิดความซาบซึ้งซึ้งได้ ขอให้มีอารมณ์ที่จะฟังก็จะเริ่มเข้าใจ ผลที่ได้อารมณ์สงบและเยือกเย็นขึ้น ถือเป็นการพัฒนาสมองทั้งสองด้านเหมือนคำสวดของบางศาสนาเมื่อสวดแล้วใจสงบ จึงควรจะได้สนับสนุนให้เด็กไทยรู้จักฟังเพลงคลาสสิคสมองและสติปัญญาของเขาจะได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะในแง่ของเหตุผล” หัวหน้าสาขาดุริยางคศาสตร์ มศว กล่าวและว่า จากประสบการณ์ทางการสอนดนตรีที่โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ทำให้พบว่าเด็กที่ไม่นิ่งหรือมีความพิเศษกว่าคนอื่น เราสามารถพัฒนาเด็กเหล่านี้ได้ด้วยดนตรี จากที่เด็กยุ่งตลอดเวลา นั่งนิ่งๆ ไม่เป็น สมาธิสั้นดนตรีช่วยได้มาก ครูมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างให้เด็กมีพัฒนาการในทุกด้าน ตั้งแต่ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา สมาธิ ความคิด อารมณ์ความรู้สึก เด็กจะรักดนตรีหรือรักเรียนในวิชาอื่นๆ อยู่ที่ครูเป็นสำคัญ ถ้าครูมีลักษณะบีบบังคับเด็ก ไม่ว่าวิชาไหนที่เด็กรักเด็กจะเกลียด
           นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้พ่อ แม่ผู้ปกครองนิยมพาลูกหลานไปเรียนดนตรี ถือเป็นการหากิจกรรมให้เด็กได้ทำ เป็นสิ่งที่ดีมาก แต่จะสังเกตว่ากลุ่มเด็กที่มีโอกาสตรงนั้น เป็นคนที่มีฐานะ ตนเป็นห่วงสังคมที่ด้อยโอกาส จึงทำโครงการเยาวชนดนตรีนำเด็กที่ด้อยโอกาสให้ได้มาเรียนดนตรี เพื่อขัดเกลาเสริมสร้างคุณลักษณะที่ดีให้กับพวกเขา มีเด็กจากโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในโรงเรียนสังกัด กทม. เข้าร่วมโครงการแต่ก็ยังทำได้น้อย เพราะเครื่องดนตรีมีราคาแพง ส่วนพ่อแม่ที่มีความพร้อมมักให้ลูกเรียนดนตรี แล้วเคี่ยวเข็ญลูกเพื่อจะได้หน้าได้ตาในสังคมเพื่อนฝูงว่าลูกตัวเองเก่ง ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก อยากแนะนำว่าเมื่อพาเด็กไปเรียนดนตรีแล้วควรให้เป็นหน้าที่ของครู พ่อ แม่อยู่ห่างๆ หากพ่อ แม่ไปยุ่งวุ่นวายมาก เด็กจะสับสน อย่าลืมว่าต้นไม้กว่าจะโตเต็มที่ต้องใช้เวลา เด็กก็เหมือนกันเมื่อเขามาเล่นดนตรีแล้วคาดหวังว่าต้องเล่นได้ทันที ตรงนี้เป็นการสร้างภาพ อย่าลืมว่าการเรียนดนตรีเป็นการพัฒนาอย่างเป็นระบบ บางคนเรียนรู้ได้เร็ว บางคนต้องค่อยๆ สอน เหมือนนิ้วมือคนเรายังไม่เท่ากัน ความสามารถของเด็กก็เช่นเดียวกัน อย่าไปลงโทษหรือทำร้ายเด็กโดยการไปชี้นำว่าเขาต้องเก่ง ต้องทำได้ เป็นแนวทางที่ผิด

ผู้จัดการออนไลน์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น