วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อันตรายผิดท่า ? เอวเสียนะจะบอกให้

ทุกคนเมื่อย่างเข้าสู่วัยกลางคนมักจะประสบปัญหาเรื่อง “ปวดหลัง” ตรงบั้นเอวเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่มักหายไปเองโดยการนอนพัก หรือรับประทานยาแก้ปวด มีส่วนน้อยที่มีอาการปวดเรื้อรัง หรือมากขึ้นจนทนไม่ไหว ต้องไปให้แพทย์ตรวจรักษา ที่จริง “ปวดหลัง” เป็นเพียงอาการไม่ใช่โรคแล้วแต่สาเหตุว่ามาจากอะไร หลายๆคนคงจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับอาการปวดหลังนี้มาบ้าง
ในความเป็นจริงอาการปวดหลังพบได้เป็นอันดับสองของอาการปวดในร่างกาย รองมาจากอาการปวดหัว และเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ทางศัลยกรรมกระดูก
อาการปวดหลังโดยทั่วไปไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่เป็นปัญหากับผู้คนในวัยทำงาน และการดำรงชีวิต ประจำวัน ในต่างประเทศเคยมีการวิจัยถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากอาการปวดหลัง การเข้ารับการตรวจรักษา รวมถึงการหยุดงานเพื่อพักฟื้น พบว่าต้องสูญเสียเงินและเวลาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการตรวจรักษาที่ถูกต้อง รวมไปถึงการป้องกัน และ ปฏิบัติตัวที่ถูกวิธี จะเป็นวิธีจัดการ กับอาการนี้ได้ถูกต้อง
กระดูกสันหลังเป็นกระดูกแกนกลางของร่างกาย เป็นส่วนที่ต่อเนื่องมาจากศีรษะ เป็นส่วนเชื่อมกับกระดูกไหปลาร้าและสะบัก เพื่อต่อเนื่องไปยังกระดูกแขนทั้งสองข้าง ส่วนล่างของกระดูกสันหลังเชื่อมกับกระดูกเชิงกราน เป็นข้อต่อให้กับสะโพก และกระดูกขาทั้งสองข้าง เนื่องจากมนุษย์วิวัฒนาการตัวเองจนกลายเป็นสัตว์ที่ยืนด้วยสองเท้า ดังนั้น กระดูกสันหลังย่อมจะเป็นแกนหลักในการรับน้ำหนักตัวส่วนบนของร่างกายผ่านมาสู่ขาทั้งสองข้าง
กายวิภาคของหลัง
แกนกลางประกอบด้วยกระดูกสันหลัง 33 ชิ้น ส่วนคอ 7 ส่วนอก 12 ซึ่งจะเป็นที่ยึดเกาะของกระดูกซี่โครง กระดูกสันหลังส่วนเอว 5 กระดูกกระเบนเหน็บ 5 ชิ้น เชื่อมรวมเป็นชิ้นเดียว กระดูกส่วนก้นกบ 4 ชิ้น มักจะเชื่อมรวมเป็นชิ้นเดียว

กระดูกสันหลังแต่ละปล้อง เชื่อมต่อกันด้วย หมอนรองกระดูก และข้อต่อของตัวกระดูกสันหลัง ทำให้สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ ในแกนกลางของโพรงกระดูกสันหลัง เป็นที่อยู่ของไขประสาทสันหลัง
ที่ต่อเนื่องมากจากสมองและมีแขนงเป็นรากประสาทสันหลังส่งไปเลี้ยง แขน ลำตัวและขา

นอกจากนี้ยังมีเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ หลายๆมัด และเนื้อเยื่ออ่อนยึดต่อเนื่องเป็นแผ่นหลัง
อาการปวดหลัง
อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท
1. ปวดเฉพาะบริเวณสันหลังเพียงอย่างเดียว
อาจมีสาเหตุจาก
  • การอักเสบติดเชื้อในกระดูกสันหลัง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้หลังค่อม หรือเป็นอัมพาตได้
  • การอักเสบของกล้ามเนื้อจากการทำงานในลักษณะท่าผิดปกติ หรือได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
  • จากเนื้องอกของกระดูกสันหลัง หรือไขสันหลัง
  • การเสื่อมตามวัยของกระดูกข้อต่อ และหมอนรองกระดูกสันหลัง
 2. ปวดสันหลัง และเสียวร้าวไปที่อื่น
เช่น สะโพก ขาข้างหนึ่งข้างใด หรือ 2 ข้าง เกิดเนื่องจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังข้อต่อเลยทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท ในรายที่เป็นมากจะมีอาการชาและอ่อนแรงในขา ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เดินตัวเอียง หลังคด และก้มหลังไม่ได้เลย
3. ปวดสันหลังจากอวัยวะหรือโรคอื่น
โรคที่ทำให้ปวดหลังได้เช่น ไข้หวัดใหญ่ กระเพาะอาหารอักเสบ โรคไต โรคเกี่ยวกับสตรี มะเร็งบางชนิด
สาเหตุของการปวดหลัง
  1. จากความผิดปกติของส่วนประกอบของหลังเอง
  2. จากความผิดปกติของอวัยวะภายใน แล้วมีอาการปวดร้าวไปที่หลังจากอาการทางระบบประสาท แล้ว ทำให้มีอาการปวดที่หลัง
  3. จากความผิดปกติของส่วนประกอบของหลังเอง เช่นการได้รับอุบัติเหตุ แล้ว มีการบาดเจ็บ ต่อโครงสร้าง เช่น อุบัติเหตุกระดูกสันหลังหัก และ หรือ ร่วมกับมีการกดทับไขสันหลัง ซึ่งถ้ารักษาไม่ทันท่วงที อาจจะทำให้เกิดอัมพาตได้
  4. จากการทำงาน หรือใช้งานหลังไม่ถูกวิธี จะทำให้เกิดการล้าหรืออักเสบต่อเนื้อเยื่ออ่อน เช่น กล้ามเนื้อ และ เส้นเอ็นที่หลังหรือข้อต่อของกระดูกสันหลัง พบได้บ่อยในคนวัยทำงาน
  5. จากความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกตั้งแต่กำเนิด เช่นกระดูกสันหลังไม่เชื่อม กระดูกสันหลังคด
  6. จากหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับรากประสาท เนื่องจากเป็นโครงสร้างที่อยู่ใกล้กัน เมื่อมีการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูกมักจะมีการกดทับรากประสาท ทำให้มีอาการปวดหลังและปวดร้าวลงไปที่ขาตามแนวรากประสาทนั้นๆ
  7. จากความเสื่อมของข้อกระดูกสันหลัง ทำให้มีการหนาตัวของกระดูกหลังและเส้นเอ็น ทำให้โพรงกระดูกสันหลังแคบกดรัดไขสันหลังมักพบในคนสูงอายุ มักจะมีอาการชาขา เวลาเดิน
  8. จากความเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้สูญเสียความมั่นคงของข้อต่อกระดูก ทำให้มีอาการปวดหลังเมื่อมีการเคลื่อนไหว  หรืออาจจะมีการเคลื่อนตัวระหว่างปล้องกระดูกสันหลังนั้นๆด้วย สามารถทำให้มีอาการของการกดทับรากประสาทร่วมด้วยได้
  9. จากการอักเสบ เช่น ข้ออักเสบ หรือ ว่ามีการติดเชื้อ เช่น วัณโรคกระดูกสันหลัง
  10. จากเนื้องอกของกระดูกสันหลังหรือมะเร็งกระจายมาที่กระดูกสันหลังรวมทั้งมะเร็งไขกระดูก
  11. จากภาวะกระดูกพรุน มักจะทำให้มีอาการปวดเมื่อยเมื่อมีการใช้งานหลัง เช่น ยืน นั่ง เดิน แต่เมื่อนอนจะไม่ค่อยมีอาการปวด และอาการจะมีการทรุดตัวของกระดูกสันหลัง ทำให้มีลักษณะของหลังค่อม
  12. จากความผิดปกติของอวัยวะภายใน แล้วมีอาการปวดร้าวไปที่หลัง เช่น อาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะ อาการปวดท้องจากระบบทางเดินอาหาร จะร้าวไปที่หลังได้
  13. จากอาการทางระบบประสาท แล้วทำให้มีอาการปวดที่หลังโดยที่ไม่ได้มีความผิดปกติร้ายแรงโดยตรงต่อโครงสร้างนั้น อาจจะเป็นจากความเครียดหรืออาการทางระบบประสาท ทำให้มีอาการปวดหลังที่ไม่มีลักษณะจำเพาะ
การให้การวินิจฉัยสาเหตุการปวดหลังมีได้มากมายหลายอย่าง การหลงรักษาอย่างผิด ๆ นอกจากโรคไม่หายแล้ว ยังสิ้นเปลืองทั้งเวลา และเงินทอง บางรายยังเกิดโทษรุนแรง มีอันตรายจนถึงขั้นพิการ หรือถึงแก่ชีวิตก็มี ฉะนั้นเมื่อมีอาการปวดหลังขึ้นครั้งใด ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการักษาที่ถูกต้องซึ่งจำเป็นจะต้องได้ประวัติอาการที่ชัดเจน และรวมไปถึงการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยละเอียด เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่สมควร ก็อาจจะต้องรับการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อได้ข้อมูลช่วยในการวินิจฉัย เช่น การ Xray การXray computer การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ฯลฯ
การรักษารักษาตามสาเหตุ เนื่องจากบางโรคมีวิธีรักษาเฉพาะของโรคนั้นๆ เช่น มะเร็ง การติดเชื้อ หรือ นิ่วในทางเดินปัสสาวะแต่ในกลุ่มที่มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของกระดูกสันหลังเอง การรักษามีเป้าหมายเพื่อลดอาการปวดและสามารถให้ผู้ป่วยกลับไปทำงาน หรือดำรงชีวิตได้ตามปกติได้โดยเร็ว และสามารถจะป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของโครงสร้างได้ด้วย
การรักษาจะเริ่มต้นด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม (Conservative Treatment) คือการรักษาโดยไม่ผ่าตัดก่อนเสมอ ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น กระดูกสันหลังหักกดทับไขสันหลัง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดด่วนเพื่อไม่ให้เกิดภาวะอัมพาต
การรักษาแบบอนุรักษ์นิยม
ได้แก่
  1. การพัก เป็นการนอนพัก โดยที่สามารถลุกนั่ง ทานอาหาร และ เข้าห้องน้ำได้ ในกรณีที่ปวดหลังจากสาเหตุทั่วไป การพักจะทำให้อาการดีขึ้นได้ภายใน 1-2 วัน
  2. ยา ในรายที่มีอาการปวดเฉียบพลัน ได้แก่ ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ steroid ยาคลายกล้ามเนื้อ และยากล่อมประสาท ซึ่งจำเป็นจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์โดยใกล้ชิด เนื่องจากอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้ เช่น อาการระคายเคืองทางเดินอาหาร หรือ แพ้ยา
  3. การบริหารร่างกาย
  4. การทำกายภาพบำบัดหรือการให้การฟื้นฟูสภาพ
การรักษาด้วยการผ่าตัด
จะพิจารณาทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ ผลการผ่าตัดจะต้องมีอัตราเสี่ยงให้น้อย และ ให้ผลดีจึงจะพิจารณาทำ ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดเพื่อเอาหมอรองกระดูกที่เคลื่อนทับรากประสาทออก การผ่าตัดเพื่อแก้ไขโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ การผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกสันหลัง การเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง เป็นต้น
การทำกายภาพบำบัดหรือการให้การฟื้นฟูสภาพ
การทำกายภาพบำบัดเพื่อรักษาอาการปวดหลังนั้นก็คือการใช้เครื่องมือเพื่อให้ความร้อน ความเย็น หรือเครื่องมือในการดึงหลัง หรือกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า เพื่อบรรเทาอาการปวดอักเสบที่หลัง นอกจากนั้นแล้วที่สำคัญที่สุดของการฟื้นฟูสภาพหลังก็คือการให้การบริหารกล้ามเนื้อและกระดูกที่ถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละราย ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆไป การให้ความรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน การทำกิจวัตรประจำวันหรือลดปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง
นอกจากนี้แล้วในปัจจุบันยังมีการรักษาอื่นๆอีกซึ่งเราเรียกว่าการแพทย์ทางเลือก เช่น การนวดไทย การฝังเข็ม และการใช้โยคะ ซึ่งแต่ละอย่างก็เหมาะสมกับการปวดหลังซึ่งเกิดในภาวะต่างๆไม่เหมือนกัน ที่สำคัญที่สุดการใช้การรักษาแบบอื่นๆนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของผืที่เชี่ยวชาญจริงๆ และได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องจากกองประกอบโรคศิลป นอกจากนั้นแล้วก่อนการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้น่าจะต้องปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอยู่ก่อน
และที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าอื่นๆสำหรับเรื่องปวดหลังก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิด ซึ่งน่าจะดีกว่าการปล่อยให้เกิดอาการปวดแล้วจึงค่อยทำการรักษา
การป้องกันที่สำคัญ ได้แก่ การจัดท่าทางการทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันให้ถูกต้อง ซึ่งหลักการที่สำคัญก็คือการให้แนวกระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรงเสมอ ไม่เอียง หรือไม่ทำงานติดด่อกันนานๆ หรือการทำงานที่ต้องอยู่ในท่าทางที่ยากลำบาก หรือมีการบิดตัวก้มตัวและเอี้ยวตัว และควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังมากๆเช่น การยกของหนัก ซึ่งในต่างประเทศมีกฎหมายกำหนดถึงน้ำหนักสูงสุดที่ยกได้ในผู้ชาย และหญิง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดดังกล่าว เพราะฉะนั้นคงต้องระวังให้มาก นอกจากนั้นแล้วการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงไว้เสมอก็เป็นการป้องกัน ไม่ให้เกิดอาการปวดหลังได้ดีเพราะกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังเป็นกล้ามเนื้อที่คอยตรึงแนวกระดูกสันหลังไม่ให้มีการเคลื่อนไหวมากเกินไปซึ่ง ท่าทางการบริหารมีมากมาย อาจจะต้องปรับให้เหมาะสมในแต่ละคน
นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเช่นน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไปหรือไม่ให้รูปร่างอ้วนเกินไปเพราะการที่มีรูปร่างอ้วนจะทำให้แนวกระดูกสันหลังเปลี่ยนไป การใส่รองเท้าที่ส้นสูงเกินไปก็ควรหลีกเลี่ยง
นั่นคือข้อสรุปที่ว่าการดูแลตัวเองหรือการป้องกันไม่ให้มีการปวดหลังเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการรักษา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น