วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หนูน้อยโตไวในขวบปีแรก

หนูน้อยโตไวในขวบปีแรก

การเจริญเติบโตของทารกแรกเกิด จนอายุประมาณ 1 ขวบ เป็นช่วงที่น่ามหัศจรรย์ เพราะว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
ความยาว/ความสูง
ทารกมีช่วงที่มีอัตราเร่งในเชิงความสูง อยู่หลายช่วง กล่าวคือในช่วงอายุ 7-10 วันแรก, ช่วง 3-6 อาทิตย์, และช่วง 3-4 เดือน ในเดือนแรก ลูกจะมีความยาว (สูง) เพิ่มขึ้น ประมาณ 2.5 ถึง 4 ซ.ม.,

ขนาดของศีรษะ
อาจจะดูโต เมื่อเทียบกับส่วนของลำตัว โดยเส้นรอบศีรษะ จะมีขนาดโตขึ้น เดือนละประมาณ 1-1.5 ซ.ม. ในช่วง 6 เดือนแรก แต่ส่วนร่างกาย ซึ่งก็มีการเจริญเติบโตที่เร็วมาก เช่นกัน จะเติบโตอย่างมาก จนในที่สุดก็จะดูว่าขนาดของศีรษะกับลำตัวนั้นได้สัดส่วนที่พอดี

น้ำหนักตัว/หนูน้อยอ้วนพี
เด็กทารกจะดูอ้วนท้วนจ้ำม่ำ เนื่องจากเด็กมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวได้เร็ว และมากกว่าการเพิ่มขึ้นของส่วนสูง ซึ่งพออายุมากขึ้น ก็จะค่อยๆปรับเปลี่ยนไป การที่เด็กบางคนดูเหมือนพุงยื่น(หรือที่คุณแม่หลายคนสงสัยว่าพุงโร) ไม่ใช่เกิดจาการที่อ้วนเกินไป หรือเป็นเด็กขาดอาหาร แต่เป็นจากการที่ กำลังกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องของเด็ก ยังหย่อนยาน ทำให้ดูเหมือนว่าเด็กมีพุงใหญ่ ซึ่งจะดูดีขึ้น เมื่อเด็กโตขึ้น เนื่องจากเด็กได้ออกกำลังมากขึ้น

ในช่วง 4 เดือนแรก เด็กจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละประมาณ 800-1,000 กรัม แต่พอหลังจากนั้น การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักจะเริ่มช้าลง เป็นประมาณ 300-500 กรัม ต่อเดือน และในตอนอายุ 1 ขวบ เด็กจะมีน้ำหนักประมาณ 9-10 กก.
การเคลื่อนไหว
ทารกอายุ 1 เดือน ดูจะมีความสุข ที่ได้มีโอกาสยกเท้าเตะไปมา เวลาที่ได้นอนหงาย พออายุได้ประมาณ 4-5 เดือน จะเป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ วิธีพลิกตัว เพื่อที่จะได้เคลื่อนตัวไปได้รอบๆ โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากการพลิกหงายตัวจากท่านอนคว่ำเป็นนอนหงาย แล้วต่อมา จึงจะหัดพลิกคว่ำได้ ซึ่งคุณแม่สามารถช่วยให้ลูก ได้ฝึกการพลิกตัวเล่นได้โดยการช่วยจัดท่า (เช่น ตะแคงตัว หรือเอาหมอน หนุนที่หลังตรงด้านข้าง) ที่ทำให้เด็กใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำการพลิกตัวได้ ซึ่งจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ การเคลื่อนไหวของตนเอง และรู้สึกสนุกไปด้วย และเด็กก็จะเริ่มหัดใช้แขน ในการการดันตัว ยกตัวขึ้น หรือ ไถไปข้างหน้า (ข้างหลัง)

ต่อไปพออายุประมาณ 6-7 เดือน เด็กก็จะเริ่มนั่งได้ ก่อนที่จะหัดคืบคลานต่อไป เมื่อตอน 8-9 เดือน , และจะเริ่มตั้งไข่ เกาะยืนได้ ในช่วงประมาณ 1 ขวบ เส้นผม ทารกแรกเกิดบางคน จะดูผมบางเหมือนไม่มีผม แต่บางคนก็มีผมดกสวย แต่ผมที่เห็นในตอนแรกเกิดนี้ เป็นแค่ผมไฟ (ชั่วคราว) ซึ่งจะค่อยๆ หลุดร่วงไปเอง ทำให้บางครั้งดูแหว่งๆ เมื่ออายุประมาณ 1-2 เดือน ทำให้ประเพณีของไทย ทางผู้ใหญ่จึงได้จัดให้มี พิธีโกนผมไฟ เพื่อเป็นการรับขวัญเด็ก และเพื่อให้เด็กดูผมไม่แหว่งไปด้วยในตัว ส่วนผมจริงที่จะอยู่ถาวร จะเริ่มขึ้นตั้งแต่อายุได้ประมาณ 6 อาทิตย์เป็นต้นไป (ในเด็กบางคนอาจจะช้ากว่านั้นมาก)
ฟัน
การขึ้นของฟันนั้น มีความคลาดเคลื่อนต่างกัน ในเด็กแต่ละคนได้ค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่แล้ว ฟันซี่แรกจะขึ้น เมื่ออายุประมาณ 8-9 เดือน และเด็กอาจจะมีอาการมันเขี้ยว ชอบกัด หรือ งอแงไม่ยอมทานอาหารได้ในบางครั้ง แต่การขึ้นของฟัน (teething) ไม่ได้เป็นสาเหตุ ที่ทำให้เด็กป่วยเป็นไข้ หรือเป็นหวัด ท้องเสีย อย่างที่มีบางคนพูดกัน ยิ่งถ้าเด็กมีไข้สูง และดูป่วยมาก ต้องนึกถึงว่าจะมีการติดเชื้อ ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่เหมาะสม

การให้ไวตามินเสริมฟลูโอไรด์ สามารถทำให้ฟันที่กำลังเจริญเติบโตนั้นมีความแข็งแรง เพราะฟลูโอไรด์เสริมความแข็งแกร่งของเคลือบฟัน (enamel) ทำให้เกิดฟันผุได้ยากขึ้น การให้ฟลูโอไรด์ในปัจจุบันแนะนำให้ให้ตั้งแต่อายุประมาณ 4 เดือนและใช้ในปริมาณน้อย (ประมาณ 0.25 ม.ก. ต่อวัน) ก็เพียงพอแล้ว และจะไม่ค่อยพบปัญหาฟลูโอโรสิส (ภาวะที่มีการให้ฟลูโอไรด์มากเกินไป ทำให้เกิดฟันมีลายดำๆ ดูไม่สวย) และมีบางคนเข้าใจผิดว่าการให้ฟลูโอไรด์จะทำให้ฟันน้ำนมไม่ยอมหลุดไป และทำให้ฟันแท้ขึ้นไม่ได้หรือเกเบียดกับฟันน้ำนม ทำให้ไม่อยากให้ฟลูโอไรด์แก่ลูก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง
ที่สำคัญคือ การรักษาสุขอนามัย ของช่องปาก และฟันที่ดี เพราะแม้ว่า จะให้ฟลูโอไรด์แล้วฟันของลูกก็ยังจะผุได้ ถ้าคุณยังปล่อยให้ลูกน้อย ดูดนมจนหลับคาขวดนม ทำให้มีคราบนม เกาะติดฟัน ซึ่งจะถูกแบคทีเรียย่อยสลาย กลายเป็นกรด และทำลายฟันได้ง่าย จึงจะเห็นว่าเด็กที่หลับไป โดยขวดนมคาปาก มักจะมีฟันซี่หน้าที่ผุมากได้ ตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เด็กมีปัญหาเจ็บป่วย ได้บ่อยๆ และทานอาหารได้น้อย คุณแม่จึงควรระวัง อย่าฝึกให้ลูกดูดนม จนหลับคาขวดนมไปนะคะ
กระหม่อมหน้าและกระหม่อมหลัง
ตรงบริเวณศีรษะส่วนหน้า และส่วนหลัง จะพบว่า มีรอยบุ๋มเล็กน้อย เป็นส่วนที่เรียกว่า กระหม่อมหน้า และกระหม่อมหลัง ซึ่งเป็นส่วนรอยต่อ ของกระดูกกระโหลก ซึ่งเป็นกระดูกแผ่นบางหลายชิ้นมาเรียงชิดกัน แต่ยังไม่ได้ติดกันสนิท เพราะธรรมชาติได้เตรียมเผื่อไว้ ให้สมองได้เจริญเติบโตขึ้น ซึ่งส่วนของกระโหลกนี้ จะเริ่มสมานกัน และปิดไป โดยปกติกระหม่อมหลังนั้น จะปิดไปก่อน คือ ช่วงอายุประมาณ 6-8 เดือน และกระหม่อมหน้าจะปิด ประมาณช่วงอายุ 15-18 เดือน ในกรณีที่มีความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำเลี้ยงสมอง หรือ มีเนื้อสมองที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น มีรูพรุนแบบฟองน้ำ หรือ มีความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ภาวะขาดทัยรอยด์ฮอร์โมนก็จะทำให้เส้นรอบศีรษะ มีขนาดใหญ่กว่าปกติ และกระหม่อมหน้าจะเปิดกว้าง ไม่ปิดตามเกณฑ์อายุ ซึ่งกุมารแพทย์ที่ดูแลลูก จะทราบว่ามีความผิดปกติ จากการวัดเส้นรอบศีรษะ ในตอนที่พาลูกมาตรวจสุขภาพกับคุณหมอ ตามกำหนดนัด

สายตา
ในช่วงอายุประมาณ 1 เดือนแรก เด็กจะสามารถมองเห็นได้ชัด ที่ระยะ 20-30 ซ.ม. และบางครั้ง อาจเหมือนเด็กมีตาเขเล็กน้อย ในเวลาที่คุณแม่กำลังจ้องมองอยู่ (ดูบทแนะนำการตรวจตาลูกเอง) เด็กจะชอบมองของที่มีการเคลื่อนไหว หรือ มีสีสันสดใส และถ้าเป็นภาพใบหน้าคน ที่มีลักษณะ ตา ปาก และจมูก ที่เด็กคุ้นเคย ก็จะยิ่งให้ความสนใจมากขึ้น ในราวอายุ 4-6 อาทิตย์ เด็กจะเริ่มจับความสัมพันธ์ ของสิ่งที่เด็กเห็น กับเสียงที่ได้ยิน สายตาของเด็กจะเห็นได้ดีเหมือนผู้ใหญ่ เมื่ออายุประมาณ 1 ขวบ


พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น