วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ข้อควรปฏิบัติสำหรับวิทยุมือถือ

ข้อควรปฏิบัติสำหรับวิทยุมือถือ

บทความจากหนังสือ 100 วัตต์
วิทยุมือถือใคร ๆ ก็มีได้ (ถ้ามีเงื่อนไขถูกต้อง) แต่จะใช้อย่างไร ให้ถูกต้อง วิทยุสื่อสาร หรือที่เรียกเป็นทางการว่า วิทยุคมนาคม นั้นมีอยู่ 3 แบบใหญ่ ๆ ด้วยกัน ที่ใช้กันในบ้านเราแบบแรกคือ Hand held หรือที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า "วิทยุมือถือปฏิบัติการ" แบบที่สองคือ Mobile หรือวิทยุประจำสถานีชนิดเคลื่อนที่ได้ (จะเป็น รถ เรือ หรือเครื่องบิน ก็เรียกเหมือนกัน) และ Base หรือเครื่องวิทยุประจำสถานีอยู่กับที่
ถ้าถ้าจะพิจารณาถึงวิทยุสื่อสารทุกประเภทแล้ว ประเภท Hand held transceiver หรือมือถือนั้น มีจำนวนผู้ใช้สูงสุด เรียกได้ว่า นักวิทยุคนหนึ่งก็มีวิทยุ 1 เครื่องเป็นเรื่องปกติ
เมื่อมีเครื่องวิทยุแล้วก็ต้องมี "ส่วนควบ" หรือเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันเพื่อให้มันทำงานได้ ที่เห็นชัดเจนก็คือสายอากาศ และแบตเตอรี่แพ็ค เท่าที่ผู้เขียนรับงานมา ทั้งข่าย Ham และข่ายราชการพบว่าสาเหตุการเสียส่วนใหญ่ อาการเสียมันจะเกิดจากการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมีทั้งแบบเสียทันทีและค่อย ๆ เสีย หลายสาเหตุที่ พบชวนให้นึกว่า หากผู้ใช้ งานอย่างมทีความรู้สักหน่อย ก็คงไม่ต้องเสียเงิน (ค่าซ่อม) และเสียเวลา (วิ่งไปวิ่งมา) บ่อยนัก ประกอบกับมีเพื่อนนักวิทยุบางกลุ่ม ที่เพิ่งเข้ามาในวงการ มาขอทราบวิธี การใช้เครื่องอย่างถูกต้อง หลายคน จึงขอประมวลเรื่องที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้

1. อย่าปรับเครื่องอย่าซาดิสม์

ก.ทันทีที่คุณได้เครื่องมา ไว้ในครอบครองอาจจะมีคนบอกคุณว่า เอาไปให้ช่างเขาจูน ให้วัตต์สูง ๆ อย่างเช่น 2 G เนียนะ อัตต์ได้ 7 วัตต์ สบายเลย ทำนองนี้ คุณก็เชื่อ เอาไปให้ช่างเขาจูน อาจจะได้ 6-7 วัตต์จริง แต่เดิมคุณใช้อยู่ 5 วัตต์อัดไปเป็น 7 วัตต์ สามารถเพิ่มกำลังส่งได้ 2 วัตต์ แต่ถ้าคิดเป็น dB คือเอามาเข้าสูตร dB = 10Log(7/5) = 1.46 คือกำลังเพิ่มขึ้น 1.46 dB ซึ่งไม่คุ้มกันนักกับการที่ PA (Power Amp) ในเครื่องของคุณจะต้องทำงานหนักสาหัสร้อนจัด และเสื่อมเร็ว นอกจากนั้นยังทำให้แบตของคุณหมดเร็วเกินจำเป็นอีกต่างหาก
อย่าปรับเครื่องอย่าซาดิสม์
ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ หากไปเจอกับสายอากาศที่ไม่ค่อย Match ด้วยแล้ว Reflect จะยิ่งทำให้ PA ยิ่งพังเร็วขึ้นไปอีก สู้คุณจูนไว้ที่ 5 วัตต์ ตามที่กรมไปรษณีย์กำหนดไว้ดีกว่า แล้วเพิ่มกำลังในลักษณะ ERP (Effective Radiated Power) โดยการ ใช้สายอากาศดี ๆ มาช่วย ซึ่งอาจจะได้ Gain เพิ่ม 2-3 dB (1.6-2 เท่า) จะดีกว่า
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันยากมาก เพราะทุกคนอยากจะให้เครื่องของตนใช้งานได้ "เหนือกว่าของคนอื่น" ถึงมีการทดสอบแบบท้าทายกันบ่อย ๆ ว่าของใครจะไปแรงกว่าของใคร" ถึงขั้นพนันก็เคยพบ การทำอะไรทำนองนี้ก็ไม่มีอะไรต่างกับการขับรถ ซึ่งแทนที่จะขับไปถึงจุดหมายอย่างสวัสดิ์ภาพ กลายเป็นติดเทอร์โบมา ชิ่ง จนตายกันไปข้างหนึ่ง ไม่มีคุณค่าอะไรกับชีวิตเลย
ข. ในการส่งออกอากาศ ถ้าคุณรู้ว่าผู้ที่คุณจะติดต่อด้วยอยู่ไม่ไกลนัก การส่งใน Mode Low Power หรือ ใช้กำลังส่งต่ำจะเป็นการประหยัดแบตเตอรี่ และถนอมเครื่องนอกจากนั้นยังทำให้ความถี่ที่คุณใช้ไม่แออัดด้วย
ค. ในภาวะรับ (RX) ก็เช่นกัน ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเร่งความดังสุดๆ เพราะจะทำให้ Voice Coil ของลำโพงขาดง่าย และเปลืองไฟโดยใช่ที่ ถ้าจำเป็นต้องใช้ในที่ที่มีเสียงจอแจก็ควรใช้หูฟังจะได้ยินชัดเจนและแน่นอนกว่า

2. อย่ากดคีย์นานเกินไป


ปกติแล้วเครื่องมือถือปฏิบัติการ เขาออกแบบมาให้ใช้งานในภาวะส่งครั้งละสั้นๆ เช่น 10 - 30 วินาที ดังนั้นคุณจึงพบเสมอว่าเวลาที่คุณส่งข้อความยาวๆ แค่ 1 - 2 นาที เครื่องของคุณจะอุ่นจัด ยิ่งถูกห่อหุ้มด้วยเครื่องตกแต่งมากมาย ยิ่งอมความร้อนไว้มาก ระบายความร้อนไม่ทัน อุปกรณ์ภายในยิ่งจะเสื่อมเร็ว

3.เลือกใช้สายอากาศที่เหมาะสมเสมอ

สายอากาศที่ควรมีติดตัวไว้ก็คือ รับเบอร์ดัค (เสายาง) 1 ต้น และเสาชักอีก 1 ต้น โดยมีวิธีการใช้ดังนี้
สายอากาศแบบรับเบอร์ดัค (เสายาง) ที่ติดมากับเครื่องคุณอาจจะเห็นว่ามันสายอากาศที่ไม่มีอัตราการขยายอะไรก็เลยไม่ใส่ใจกับมัน แต่ความจริงแล้วถ้ามันไม่เข้าท่าเขาคงเลิกผลิตไปนานแล้ว และถ้าคุณทริมมันให้พอดีกับความถี่กลางของคุณจริงๆ มันจะอยู่ในขั้นที่พอใช้ได้ทีเดียว และคุณสมบัติอันวิเศษอันหนึ่งของมันที่ไม่มีใครลบได้ก็คือ ความอ่อนตัวที่คุณสามารถพกพาเหน็บเอวไปไหนต่อไหนได้ โดยมีแรงกดดันไปกระทำหรือกดขั้ว BNC ของคุณน้อยที่สุดในบรรดาสายอากาศเสียบติดเครื่องทั้งหลาย

ส่วนสายอากาศแบบชัก (Telescopic) ปัจจุบันมักออกแบบโดยใช้ขดสปริงทำหน้าที่เป็น Coli เพื่อให้เกิดความอ่อนตัวได้พอสมควร แต่ถ้าใครเคยเกาะดู หรือซื้อคอยล์มาทำเอง จะเห็นว่าสปริงมันแข็งมาก หากจะกดให้โค้งตัว ก็คงต้องใช้แรงข้อนข้างมาก อย่างน้อยก็ทำให้ ขั้ว BNC ของคุณแบกรับภาระ เกินกว่าที่ทางผู้ผลิตออกแบบเผื่อไว้ ยิ่งเวลาเสาชักโอนตัวไปมา ความสูงของเสาจะเพิ่มแรงงัด อาการเบื้องต้นคือ รูด้านในของเจ็ก BNC ตัวเมีย จะหลวมโพลกทำให้จุดสำผัสไม่ค่อยแน่น เกิดอาการขาด ๆ หาย ๆ ในตอนรับก็ไม่อันตรายมากนัก แต่สำหรับตอนส่ง มันจะคล้าย ๆ กับเราคีย์ออกอากาศโดยมีเสาบ้าง ไม่มีเสาบ้าง ภาวะที่มันไม่แตะ ทางทฤษฎี ถือว่า เป็นอินพินิตี้ นั่นคือ Reflect เป็น 100% เครื่องคุณจะโคม่าเร็วมาก อาการต่อมาก็คือเขี้ยวของ BNC จะสึกกร่อนหรือหัก
อย่างไรก็ตาม สายอากาศแบบชักจะมีความหมายมากในกรณีที่คุณต้องการ ขยายการระยะทางในการรับส่ง เพราะหากคุณใช้เสาชักดี ๆ Gain ขนาด 3 dB ส่งด้วยกำลังส่ง 5 วัตต์ คุณจะได้ค่า ERP เทียบได้กับใช้เสายางส่งออกอากาศด้วยกำลัง 10 วัตต์
ดังนั้นให้คุณใช้เสายางเสมอเวลาพกพา และเก็บเสาชักของคุณไว้ในกระเป่า จนกว่าจำเป็น หรือจะตั้งเครื่องอยู่กับที่ เพื่อการ Monitor ระยะยาว ถึงจะเปลี่ยนเป็นเสาชัก

4.ใช้เสาชักอย่างถูกต้องทางเทคนิค

ในข้อ 3 ที่พูดถึงเสาชักไปนั้น เป็นการใช้อย่างถูกต้องกาลเทศะ แต่ในแง่เทคนิคแล้วชวนให้นึกถึงสุภาษิตฝรั่งเศสบทหนึ่งที่ว่า "อะไรที่เสียได้ก็กัดได้" นั่นก็คือในขณะที่เสาชักจะมีคุณสมบัติทางอัตราการขยายสูง แต่ในบางกรณีมันก็มีจุดวิกฤตของมันเหมือนกันถ้าหากใช้งานผิดๆ
ถ้าคุณเคยทำสายอากาศเล่น หรือเคยอ่านผ่านตามาบ้างคุณคงพอนึกออกว่าการที่เราจะต้องตัดอลูมิเนียมทีละเซ็นต์ ทีละครึ่งเซนต์เพื่อให้ได้ค่า SWR ที่งดงาม ดังนั้นความยาวของ Element ที่แปรไปเพียง 1 ซม. ก็มีผลต่อ SWR ซึ่งก็หมายถึงพลังงานขาออกที่ด้อยลง เพราะส่งไปไม่หมดแถมส่วนที่ไม่ยอมออกอากาศไปยังจะย้อนกลับมาทำลายเครื่องมากขึ้นอีกด้วย
ใช้เสาชักอย่างถูกต้องทางเทคนิค
ดังนั้นการใช้เสาชัก ในภาวะรับนั้น คุณจะหดยืดแค่ไหนก็ตามใจคุณ ถ้าหดลงมาความสามารถในการรับก็ลดลงไม่มีอะไรมาก แต่ในภาวะส่งคุณต้องยืดให้สุดเสมอ เพราะเวลาที่เขา Match เสาต้นนั้นเขา Match ตอนยืดออกมาสุด ถ้าคุณเปลี่ยนแปลงความยาว ค่า SWR จะขึ้นสูง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเครื่องของคุณเลย
ที่ไม่ควรทำอีกอย่างหนึ่งคือใช้สายอากาศผิดย่านความถี่ เช่นคุณเป็นตำรวจ ใช้ความถี่ย่าน 150 MHz มาขอยืมเสาชักของนักวิทยุสมัครเล่นย่านความถี่ 140 MHz ไปใช้ การทำเช่นนี้ค่า SWR สูงแน่นอนเพราะสายอากาศแต่ละต้น จะดีที่ย่านความถี่ของตัวเองเท่านั้น
สุดท้ายนี้ ทุกอย่างในโลกนี้ย่อมถึงกาลแตกดับ เมื่อใดก็ตามที่เสาชักหลวมคลอน ไม่ว่าจะเป็นที่ขั้วหรือ ตัวเสาชักแต่ละท่อน ควรส่งซ่อมโดยเร็ว ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเปลี่ยน เสียเลย ถ้าผืนใช้เสาชักที่หลวมคลอนจะมีอาการขาด ๆ หาย ๆ ซึ่งมีผลเสียต่อวิทยุมือถือของคุณ อีกทั้งเสาชักในปัจจุบันราคาไม่สูงมากนัก ถ้าเฉลี่ยว่าเสาชักใช้ได้ 1 ปี ค่าใช้จ่ายต่อวันก็คงไม่เกินวันละ 1 บาท ซึ่งก็ไม่ใช่เหตุผลที่ต้องประหยัดอะไร

5.ใช้ซัพพลายอย่างถูกต้อง

ในกรณีที่คุณจะประหยัดแบตเตอรี่โดยการใช้ Power Supply คุณจะต้อง
ก. เลือก Power Supply ที่ออกแบบมาสำหรับเครื่องรับส่งวิทยุ จะใช้อแดปเตอร์ธรรมดาไม่ได้ เพราะแรงดันอาจไม่เหมาะสม กระแสอาจไม่พอ การกรองกระแสอาจไม่เรียบดีพอ รวมทั้งไม่มีวงจรป้องกันการรบกวนจากคลื่นวิทยุ (RFI - Radio Frequency Interference)
ข. หาก Power Supply ของคุณสามารถปรับแรงดันได้ ขอแนะนำแรงดันที่เหมาะสมคือ 12 โวลต์ นอกจากวิทยุของคุณจะระบุเป็นอย่างอื่นเพราะ การเพิ่มโวลต์ขึ้นแทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะในเครื่องรุ่นใหม่นั้นมักจะมีวงจรควบคุมแรงดัน (Regulator) อยู่ภายใน ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเร่งแรงดันเข้าไปเท่าไร เครื่องก็จะไม่มีกำลังเพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำภาค Regulator ของเครื่องยังต้องทำงานหนักโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
ส่วนเครื่องรุ่นเก่าที่มีกำลังส่งแปรไปตามแรงดันไฟที่ป้อนให้มันนั้น แม้ว่าการเพิ่มแรงดันไฟจะทำให้กำลังส่งออกแรงขึ้น แต่จากกราฟแสดงการทำงานจะพบว่ากำลังส่งจะแปลไปในลักษณะเส้นโค้ง เมื่อใช้ในอัตราส่วนคงที่ ซึ่งช่วง 7-11 โวลต์ การเปลี่ยนแปลงกำลังส่งจะเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ถัดไปจากนั้นกำลังส่งก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายเท่าไร ในขณะเดียวกันยังมีโอกาสให้เครื่องพังได้ง่ายกว่า
ค.ในการป้อนไฟเข้าเครื่อง ระวังเรื่องขั้วให้ดีด้วย โดยสังเกตจากเครื่องหมายกำกับที่รูเสียบสายไฟว่าเป็นขั้ว + หรือ - ถ้าอาการเบาะ ๆ คือเครื่องไม่ทำงาน ในกรณีเครื่องมีไดโอดป้องกันการกลับขั้ว และการพังจากไฟกลับขั้วรุนแรงมาก
ใช้ซัพพลายอย่างถูกต้อง
กราฟแสดงกำลังส่งต่อค่าแรงดันต่าง ๆ
กราฟแสดงกำลังส่งต่อค่าแรงดันต่าง ๆ

6.ใช้แบตเตอรี่อย่างถูกต้อง

ถ่านแต่และแพ็คนั้นราคาแพงเกินกว่า 1,000 บาท ทั้งสิ้น (ราคาตอนปี 2536) การใช้งานอย่างไม่ถูกต้องจะทำให้อายุการใช้งานของมันสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก จึงขอแนะนำดังนี้
ก. เปลี่ยนแบตเตอรี่ หรือเลิกใช้ทันทีที่เครื่องบอกอาการว่าถ่านหมด ในการใช้งานไประยะหนึ่งเครื่องจะเตือนคุณว่า ถ่านหมดโดยขึ้นเครื่องหมาย B หรือ Battery Low ที่หน้าปัด และจะคีย์ไม่ออกขอให้หยุดใช้ ปิดเครื่องและถอดถ่านไฟชาร์จ การฝืนใช้ต่อไปจะทำให้ถ่านคุณเสียเร็ว
ข. ชาร์จด้วยกระแสต่ำเสมอ (ชาร์จช้า) นอกจากเร่งด่วนจริงๆ จึงจะปรับเป็นภาวะชาร์จเร็ว
ใช้แบตเตอรี่อย่างถูกต้อง
ค.เลือกใช้ชาร์จเจอร์ ที่มีคุณภาพสูง เพราะของถูก ๆ ดี ๆอาจจะมีในโลกแต่หายาก การเลือกชื้อโดยคำนึงถึงแต่ราคาถูก ๆ เพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้ไปเจอ "ของถูกราคาแพง" ทำให้แบบเตอรี่แพ็คของคุณเสียหายได้ ซึ่งการที่จะทราบว่า เป็น ชาร์จเจอร์ที่ดีหรือไม่ก็ต่อเมื่อเห็นรวงจรและอุปกรณ์ภายใน จึงยังไม่ขอกล่าวถึงในรายละเอียด ในที่นี้
ถ้าพูดถึงในแง่ของนักวิทยุสมัครเล่น ชาร์จเจอร์ ไม่ใช่อุปกรณ์ที่สร้างยากนัก ถ้าคุณสร้างมันขึ้นมาใช้งานเองสักเครื่องหนึ่งก็น่าจะให้ความเชื่อถือได้สูง และประหยัดกว่าอีกด้วย
ง.อย่าเก็บถ่านเอาไว้ในที่ร้อน เช่น ในรถซึ่งอยู่กลางแดด ในรถอาจจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 60 -70 องศาได้ง่าย ๆ ถ้าถ่านเสื่อมเร็ว หรือถ้าชาร์จไฟไว้แล้วไฟก็ตกด้วยตัวมันเอง (Self Discharge) ในอัตราที่สูงกว่าปกติ เรื่องนี้รวมทั้งตัวเครื่องวิทยุด้วย ถ้าร้อนจัด ๆ หน้าจอซึ่งเป็นแบบ LCD (Liquid Crystal Display) อาจจะดำมืดไปเลย
จ.เมื่อพบว่าถ่านเริ่มรวม เช่นเคยใช้ได้ 2 วันต่อมาใช้ได้แค่วันกว่า ๆ ก็หมดไปดื้อ ๆ แสดงว่า เริ่มมีถ่านบางก้อนภายในแพ็คถ่าน เริ่มเสียแล้ว ให้ส่งซ่อมหรือเปลี่ยนก้อนที่เสียโดยด่วน ถ้าขืนใช้ต่อไปจะเสียหายมากขึ้น และอาจจะพาให้ก้อนอื่นเสียตามไปด้วย

7.ส่งเครื่องไปเช็คบ้างเป็นครั้งคราวถ้ามีเวลา

เรื่องนี้มีความจำเป็นมาก แต่ขอให้เลือกศูนย์ซ่อมที่มีคุณภาพดี ๆ ช่างดี ๆ เพื่อปรับจูนภาครับให้ไว ภาคส่งให้ความถี่ถูกต้อง เพราะว่าความถี่อาจจะเพี้ยนไปได้ หากใช้ไปนาน ๆ เนื่องจากความชรา และความชื้น ปรับกำลังส่งให้อยู่ในภาวะเหมาะสมคือประมาณ 75-80 % ของความสามารถในการส่งสูงสุด นอกจากนั้นการส่งตรวจเป็นครั้งคราว (ประมาณ 6 เดือน / ครั้ง) นี้จะทำให้ช่างประจำของคุณทำความสะอาดขั้วต่อต่าง ๆ และเห็นอาการไม่ชอบมาพากลบางประการที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้ดูแลเสียก่อน ที่มันจะพังหนักไปกว่านั้น

8. ใช้วิทยุอย่างมีกฎเกณฑ์ มีมารยาท

และคำนึงเสมอว่าทุกคำพูดที่เราพูดออกไป ใครก็ตามที่เปิดเครื่องรับฟังอยู่ก็จะรับทราบพร้อม ๆ กัน ลักษณะพิเศษของนักวิทยุนั้น แม้ไม่เห็นหน้าค่าตากัน แต่สามารถเรียนรู้อัธยาศัย อุปนิสัยและคุณภาพชีวิตของกันและกัน ได้จากน้ำเสียง ถ้อยคำที่ใช้ และวิธีการใช้ความถี่ การสร้างความสดชื่นหรือความระคายเคืองบนความถี่ จะมีผลไม่เฉพาะแต่คู่สถานีของคุณเท่านั้น แต่จะกระทบไปถึงความก้าวหน้า หรือถดถอยของพวกเราทั้งมวลด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น