"ยาง" เป็นอุปกรณ์สำคัญยิ่งของรถ หากปราศจากยางก็เหมือนคนไม่ใส่รองเท้า การเลือกซื้อยางจึงน่าจะมีความรู้ความเข้าใจช่วยประกอบการตัดสินใจบ้าง จะได้ไม่ต้องฟังคำแนะนำกึ่งยัดเยียดจากผู้จำหน่ายเพียงฝ่ายเดียว
บทความนี้ ขอนำท่านผู้อ่านเข้าสู่โลกของดอกยางรถยนต์ ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งที่กำลังจะเปลี่ยนยางรถอยู่พอดี
ปัจจุบันยางรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นยางแบบ "จู๊บเลส" (TUBELESS) คือไม่ต้องใช้ยางใน (ยกเว้นยางรถบรรทุกและรถแทรกเตอร์) แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ยางรถสำหรับทางเรียบ (ON ROAD) และยางสำหรับทางลุย(OFF ROAD) ส่วนจะแบ่งย่อยออกเป็นยางทางเรียบกึ่งลุยวิบาก ยางสำหรับลุยทรายหรือลุยหิมะโดยเฉพาะนั้น ก็แล้วแต่บริษัทผู้ผลิตยางจะระบุไว้เป็นการจำเพาะ
อย่างไรก็ตาม ลักษณะของรถก็กำหนดลักษณะของยางไว้แล้วในตัว เช่น รถเก๋ง รถสปอร์ต รถปิกอัพธรรมดา ต้องใส่ยางทางเรียบ รถจี๊ป รถวิบากขับเคลื่อน 4 ล้อ ต้องใช้ยางทางลุย เป็นต้น
เมื่อก้าวเข้าสู่ร้านจำหน่ายยางรถยนต์ สิ่งแรกที่เรียกหาคือ ขนาดของยางที่มีวงในเดียวกับวงล้อรถ ส่วนหน้ากว้างและความสูงของแก้มยางก็เป็นเรื่องต้องพอเหมาะพอดีกับแรงม้าของรถ ซึ่งขนาดของยางและสมรรถนะก็มีระบุไว้บริเวณโดยรอบแก้มยางแล้ว ทว่าสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมคือ ลักษณะการออกแบบ หรือลวดลายของดอกยางว่าดีหรือด้อยต่างกันตรงไหน ก่อนตัดสินใจเชื่อตามคำโฆษณาของยางรุ่นนั้นๆ ทั้งนี้ผู้เขียนขอวิพากย์ดอกยางอย่างละเอียดต่อไป จะผิดถูกอย่างไร เชื่อถือได้หรือไม่ ขอได้โปรดใช้วิจารณญาณพิจารณาดู
ยางแต่ละเส้นประกอบด้วยลวดลายดอกยาง 3 แห่ง คือ หน้ายาง มุมยาง และแก้มยาง แต่ละแห่งมีหน้าที่สร้างความฝืดยึดหน่วงป้องกันการลื่นไถลมากน้อยต่างกันตามสภาพถนนที่แข็ง แห้ง เปียก ร่วน ทุกกรณีเมื่อมีการส่งกำลังไปที่ล้อและยางเพื่อขับเคลื่อนตัวรถ หรือห้ามล้อเพื่อหยุดรถให้ทันเหตุการณ์ (ดูภาพประกอบ ชุด 1)
ดอกยางบริเวณหน้ายาง ทำหน้าที่สัมผัสสร้างความฝืดกับผิวถนน เพื่อการขับขี่บังคับรถได้ดังใจบนถนนที่แข็ง ส่วนดอกยางบริเวณมุมยางและแก้มยางทำหน้าที่สร้างความฝืดเสริมให้กับหน้ายางเมื่อขับเคลื่อนบนทางร่วนซุยที่ล้อและยางจมลงไปบางส่วน
การออกแบบดอกยางที่บริเวณหน้ายางมักอาศัยร่องลึกรูปแบบต่างกัน 3 ร่องแนวเป็นอย่างน้อยประกอบกันเพื่อสร้างดอกยาง ซึ่งร่องแนวทั้ง 3 นี้มีคุณสมบัติเฉพาะตัวคือ
ร่องแนวตรงตลอดรอบเส้นยาง เพื่อสร้างดอกยางแนวตรงที่มีคุณสมบัติในการยึดเกาะถนนขณะเลี้ยวโค้งและรักษาทางตรงอย่างมั่นคง
ร่องแนวขวาง เพื่อสร้างดอกยางแนวขวางที่ช่วยขับเคลื่อนและหยุดรถไม่ให้ลื่นไถล
ร่องแนวเฉียง โค้ง เว้า หรือซิกแซก เพื่อสร้างดอกยางที่ช่วยยึดเกาะถนนตอนเลี้ยวโค้ง ช่วยขับเคลื่อนและหยุดเฉลี่ยกัน
ทั้งนี้แนวร่องและรูปแบบต่างๆ ยังทำหน้าที่ระบายน้ำให้ออกจากผิวหน้าของดอกยางอย่างรวดเร็วเมื่อมีการบดทับบนผิวถนนเจิ่งน้ำ
ส่วนการออกแบบยางที่บริเวณมุมยางและแก้มยางนั้น ก็อาศัยร่องลึกแนวขวาง หรือเฉียงลากเลยจากหน้ายางขึ้นมาทางแก้มยางเล็กน้อย อาจเพิ่มเติมเหลี่ยมหลุมหรือลิ่มหยักตื้นๆ โดยรอบมุมยาง รวมทั้งมีอักษรตัวนูนบอกยี่ห้อ บอกรุ่น และบอกขนาดรอบๆ แก้มยาง ซึ่งล้วนช่วยสร้างความฝืดยึดเกาะถนนตอนเข้าโค้งแรงๆ หรือขับเคลื่อนลุยจมในทางร่วนซุยได้ดี
อนึ่งดอกยางบางแบบจะมีรูหรือขีดร่องเล็กๆ ที่มีความลึกประมาณครึ่งหนึ่งของร่องดอกยางอยู่ตามบริเวณหน้ายาง เพื่อทำหน้าที่เตือนการสึกหรอของยาง กล่าวคือ เมื่อรู หรือขีดเหล่านี้หายไปหมดเมื่อใดก็ควรเปลี่ยนยางใหม่เมื่อนั้น (ดูภาพประกอบ ชุด 1)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น