ข้อดี – ข้อเสียของอิเลคโทรด EDM ชนิดต่างๆ
“รจนา” เคยเขียนถึงข้อดี-ข้อเสียของทองแดงและกราไฟท์มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็มีผู้อ่านสอบถามถึงวัสดุอื่นที่ใช้ทำอิเลคโทรด “รจนา” จึงขออธิบายอย่างคร่าวๆ ให้ทราบดังนี้
ทองเหลือง สามารถนำมาทำเป็นอิเลคโทรดได้โดยเกรดที่ใช้คือ “ Free-Machining Brass” อัตราการสึกอยู่ในระดับดีพอใช้ถ้าชิ้นงานเป็นเหล็ก แต่จะสึกเร็วมากถ้าชิ้นงานเป็นคาร์ไบด์ และไม่แนะนำให้ใช้กับ Power Supply แบบ Resistor-Capacitor (R-C)
ทองแดง แบ่งออกเป็น 2 เกรด คือ Electrolytic Grade หรือ ทองแดงบริสุทธิ์ และ Tellurium-Copper Alloy หรือ ทองแดงที่ผสมธาตุ Tellurium ซึ่งสามารถขึ้นรูป(Machine) ได้ง่ายเหมือน Free-Machining Brass ทองแดงจะมีอัตราการสึกที่ดี มิลลิ่งหรือกลึงได้ง่ายแต่จะเกิดเศษเสี้ยนที่ขอบง่าย และเจียรนัยลำบาก เพราะหินเจียรจะอุดตัน ทองแดงมักนิยมใช้กับ Power Supply แบบ R-C
Copper Tungsten โดยทั่วไปจะใช้ส่วนผสมทองแดง 30% และทังสะเตน 70% มีอัตราการสึกต่ำมาก การขึ้นรูปด้วยการมิลลิ่งและกลึงยากกว่าทองแดง แต่เจียรนัยง่าย วัสดุชนิดนี้นิยมใช้สปาร์คชิ้นงานที่เป็นคาร์ไบด์
แต่ราคาค่อนข้างสูงและหายากหน่อย
กราไฟท์ จะมีเกรดให้เลือกมากตามความหนาแน่นหรือขนาดของ Grain ของผงกราไฟท์ที่ใช้ทำ ขนาดของ Grain จะมีตั้งแต่ 100 ไมครอน ซึ่งเป็นเกรดละเอียด กราไฟท์มีอัตราการสึกต่ำ ขึ้นรูปง่าย แค่ต้องระวังเรื่องฝุ่นที่เกิดขึ้นมาก กราไฟท์จะไม่หลอมละลายแต่จะระเหิดจากของแข็งเป็นก๊าซเลย ซึ่งจุดระเหิดจะสูงมากพอๆ กับจุดหลอมเหลวของทังสะเตน แม้กราไฟท์จะมีอัตราการสึกต่ำมากแต่กลับใช้สปาร์คคาร์ไบด์ไม่ดี และใช้กับ Power Supply แบบ R-C ไม่ดีเช่นกัน
Copper Graphite เป็นกราไฟท์ Grain ละเอียดที่มีทองแดงแทรกอยู่ มีคุณสมบัติแบบกราไฟท์และนำไฟฟ้าแบบทองแดง
Zinc Alloys โลหะผสมของสังกะสี สามารถนำมาทำอิเลคโทรดได้แต่อัตราการสึกสูงมาก
คาร์บอน เนื้อวัสดุคล้ายกับกราไฟท์ แต่เป็นคนละตัวกันและไม่นิยมใช้ทำอิเลคโทรดเลย แต่คนที่ไม่รู้จักอาจคิดว่าเหมือนกราไฟท์
วัสดุ 3 ตัวหลัง ไม่นิยมนำมาทำเป็นอิเลคโทรด และไม่ได้มีขายทั่วไป การจะเลือกวัสดุใดมาทำอิเลคโทรดจะมีปัจจัย 3 ข้อที่ต้องพิจารณาคือ
1. จุดหลอมเหลวหรือจุดระเหิดสูง
2. ขึ้นรูปง่าย
3. ราคาถูก
แต่ไม่มีวัสดุตัวใดมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อ ผู้ใช้จึงต้องเลือกเอาเองว่าวัสดุใดควรนำมาใช้ทำอิเลคโทรดจึงจะเหมาะสม
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น