วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ข้อแนะนำการดูแลสุขภาพเมื่อเที่ยวทะเลเดือนเมษายน

ข้อแนะนำการดูแลสุขภาพเมื่อเที่ยวทะเลเดือนเมษายน 


ข้อแนะนำการดูแลสุขภาพเมื่อเที่ยวทะเลเดือนเมษายน
หน้าร้อนเดือนเมษายน สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมคือชายทะเล คนส่วนใหญ่จะเพลิดเพลินไปกับการท่องเที่ยว โดยลืมนึกถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพของตนและเพื่อนที่ร่วมทาง เมื่อเกิดปัญหาก็อาจทำให้ต้องยกเลิกการท่องเที่ยวกระทันหัน หมดสนุกไปอย่างน่าเสียดาย ปัญหาในการท่องเที่ยวทะเลที่อาจพบได้บ่อยๆคือ
1.อาหารเป็นพิษ
ปัญหานี้พบบ่อยมาก โดยเฉพาะอาหารทะเล ซึ่งอาจพบเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ หรืออาหารยอดฮิตของไทยคือ ส้มตำ ยิ่งส้มตำปูอาจมีปัญหาทำไม่สะอาด ภาชนะที่ใส่ล้างไม่สะอาด วิธีกินก็อาจใช้มือ น้ำสำหรับล้างทำความสะอาดก็มีจำกัด จึงทำให้คนเมืองที่ท้องไม่ทนทานต่อเชื้อโรคต้องท้องเสียตามๆกัน ดังนั้นในการทานอาหารก็ควรเลือกร้านที่สะอาด น้ำดื่มควรเป็นน้ำขวดยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงการทานน้ำแข็ง ถ้าต้องนำอาหารไปทานระหว่างทางควรเลือกอาหารที่ไม่เสียง่าย เก็บในภาชนะที่มิดชิด เตรียมภาชนะจาน ชาม ช้อน แก้วน้ำให้เพียงพอกับจำนวนคน เตรียมน้ำเกลือซองไว้เพื่อมีคนท้องเสียจะช่วยบรรเทาอาการได้
2.ผิวหนังไหม้จากแสงแดด
ในการอาบแดดหรือลงเล่นน้ำ ถ้าอยู่นาน โดยเฉพาะในช่วงสายหรือบ่ายที่มีแสงแดดแรง อาจเกิดปัญหาผิวหนังไหม้จากแสงแดด มีอาการแสบร้อน และผิวลอกตามมา วิธีป้องกันที่ดีคือการทาโลชั่นป้องกันแสงแดดที่มี SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไปทาก่อนถูกแสงแดดประมาณ 1 ชั่วโมง และถ้าลงเล่นน้ำเมื่อขึ้นจากน้ำควรทาซ้ำอีกครั้ง
3.ถูกสัตว์ทะเลมีพิษต่อย
สัตว์ทะเลมีพิษที่อาจพบได้ตามชายทะเล เช่น แมงกะพรุน ปะการัง ปลิงทะเล เมื่อสัมผัสถูกอาจทำให้เกิดอาการปวดบวม ดังนั้นก่อนลงเล่นน้ำทะเลควรสำรวจให้ดีก่อนว่าแถวนั้นจะมีสัตว์มีพิษดังกล่าวหรือไม่ ลงเล่นอาจไม่คุ้มเพราะถ้าเกิดแผลพุพองต้องรักษาเป็นปีแผลเป็นจึงจะจางลง เมื่อถูกสัตว์มีพิษเป็นแผล การปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำได้โดยการนำแอลกอฮอล์หรือน้ำส้มสายชูราดลงบนแผล ใช้ผงฟูหรือแคลเซียมคาร์โบเนตละลายน้ำแล้วราดลงบนแผล หลังจากนั้นใช้ผงฟูที่แห้งโรยโดยรอบอีกครั้งหนึ่ง จะช่วยลดพิษลงได้ และควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อ
4.เท้าเป็นแผลจากถูกความร้อน
พบได้บ่อยในคนที่มีปัญหาปลายประสาทที่เท้าชา เช่นผู้ที่เป็นเบาหวาน ผู้สูงอายุที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เมื่อเดินบนพื้นทรายที่ร้อน อาจทำให้เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดการติดเชื้ออักเสบ ต้องกลับมารักษาแผลกันอีกนาน ดังนั้นถ้าท่านหรือญาติเป็นโรคดังกล่าวก็ไม่ควรเดิน ด้วยเท้าเปล่าบนทราย หรือพื้นที่ร้อน
5.อุบัติเหตุทางเรือ
ประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี เราจะได้ยินข่าวเรือล่มแถวภาคตะวันออกของไทยเสมอ เพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนของฤดู มีพายุฝนและเกิดเรือล่มประจำ ถ้าท่านจะไปเที่ยวทะเลและมีการนั่งเรือ ควรศึกษาสภาพอากาศก่อนไปทุกครั้ง เลือกเรือที่มีความปลอดภัยมีเสื้อชูชีพเพียงพอ หรืออาจเตรียมไปเผื่อด้วยก็ดี โดยเฉพาะในเด็กเล็กควรสวมไว้ตลอดการเดินทาง เพราะอาจมีปัญหาพลัดตกลงน้ำได้
6.การดำน้ำ
ถ้าดำน้ำลึก ควรได้รับการฝึกการดำน้ำมาก่อน ควรมีเพื่อนคู่หู หรือ partner ร่วมลงดำน้ำพร้อมกัน อย่าลงๆไปเพียงคนเดียว
7.อุบัติเหตุทางรถ
ข้อนี้สำคัญไม่แพ้อุบัติเหตุทางเรือ ไม่ควรชับรถภายหลังจากดื่มสุราหรือเหม่อง่วงเพลียมาก ถ้าระยะทางไกลควรมีการจอดรถเพื่อพักเป็นระยะๆ ถ้านั่งรถเป็นหมู่คณะควรเลือกรถที่อยู่ในสภาพดี คนขับที่ไว้ใจได้ไม่ขับรถเร็ว และข้อสำคัญคืออย่าชวนคนขับดื่มเหล้าขณะขับรถ ควรให้คนขับได้พักผ่อนเพียงพอ อย่าใช้งานเขาในเรื่องที่ไม่จำเป็น และถ้าขับกลางคืนควรมีคนคอยชวนคุยเพื่อไม่ให้หลับใน อย่าลืมว่าชีวิตของเราฝากอยู่ในมือของเขา
8.การเตรียมยาและอุปกรณ์การแพทย์
ในการไปเที่ยวควรมีการเตรียมยาและอุปกรณ์การแพทย์บางอย่างไปด้วยเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาลดน้ำมูก เพราะถูกแดดมากๆอาจเป็นหวัดได้ น้ำเกลือซองเผื่อเวลาท้องเสีย ยาทาแผล พลาสเตอร์ปิดแผลควรมีไว้บ้างเมื่อมีอุบัติเหตุเป็นแผลเลือดออก ยาประจำตัวควรเตรียมไว้เป็นส่วนตัวแต่ละคน และควรจัดไว้เกินกว่าจำนวนวันที่จะไปเที่ยวเล็กน้อย เผื่อถ้าเที่ยวเพลินหรือกลับหลังกำหนด เวลาเดิมจะได้ไม่มีปัญหา นอกจากนี้ควรเตรียมโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถโทรได้ในบริเวณที่ไปเที่ยว และจดหมายเลขโทรฉุกเฉินไว้ ถ้ามีปัญหาจะได้ขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
เมษายนนี้วันหยุดนานหลายวัน หวังว่าทุกท่านคงได้เที่ยวกันอย่างสนุกสนานไม่มีปัญหามากวนใจ
โดย พ.ญ. รุ่งทิพย์ วรรณวิมลสุข แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น