ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน
เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ไทย คือประมาณ 2.5-6 % ของประชากร ( ถ้าคิดจากคนไทย 60 ล้านคน ก็จะมีคนเป็นโรคเบาหวานประมาณ 3 ล้านคน ) โรคเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญอันดับแรกที่ทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง นอกจากนั้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้เกิดโรคของหลอดเลือดตีบตันได้ในทุกส่วนของร่างกาย เช่น โรคอัมพฤกษ์อัมพาตจากเส้นโลหิตสมองตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงปลายมือปลายเท้าอุดตัน และยังเป็นสาเหตุของตาบอดจากทั้งเบาหวานขึ้นตา และต้อกระจกได้อีกด้วย
เบาหวานมีอาการอย่างไรบ้าง
อาการที่สำคัญ ของเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะกลางคืน ทานน้ำบ่อยขึ้น กินเก่งขึ้น แต่น้ำหนักลดลง แต่บางรายก็ไม่มีอาการ ตรวจพบโดยบังเอิญ
แพทย์จะวินิจฉัยเบาหวานได้อย่างไร
การวินิจฉัยเบาหวาน ทำได้โดยการเจาะระดับน้ำตาลในเลือดเท่านั้น โดยให้งดอาหารก่อนเจาะเลือด 8 ชั่วโมง ถ้าระดับน้ำตาลในเลือด สูงกว่า 126 มก./ดล.ให้ทำซ้ำอีกครั้ง ถ้ายังสูงกว่า 126 มล./ดล. ถือว่าเป็นเบาหวาน
แต่ถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้น แล้วเจาะเลือดโดยไม่ต้องอดอาหาร แล้วระดับน้ำตาล ในเลือดสูงกว่า 200 มก./มล. ก็ถือว่าเป็นเบาหวาน
แล้วใครบ้างมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน
ผู้ที่ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ ได้แก่
อ้วน
มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัวสายตรง
เคยคลอดบุตรตัวโต มากกว่า 4 กก.
ความดันโลหิตสูง
ไขมันในเลือดชนิด HDL น้อยกว่า 35 มก./ ดล.
เคยมีประวัติของการตรวจความทนน้ำตาลกลูโคส แล้วผิดปกติ
แนะนำให้ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุเกิน 45 ปี ควรตรวจระดับน้ำตาลเลือดเพื่อหาความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ทุก 3 ปี
เรารักษาเบาหวานไปเพื่ออะไร
จุดประสงค์ของการรักษาเบาหวาน คือ
1. แก้ไขภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันที่เกิดจากระดับน้ำตาลสูงมาก จนอาจหมดสติ
2. แก้ไข อาการของเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด ฯลฯ
3. ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากเบาหวาน โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดตีบตัน เช่น อัมพาต โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคไตวาย แผลเรื้อรัง การอุดตันของหลอดเลือดแขนขา รวมทั้ง เบาหวานขึ้นตา และต้อกระจกด้วย
การควบคุม เบาหวานที่ดี คือ สามารถ ควบคุมระดับน้ำตาลหลังงดอาหาร ได้น้อยกว่า 120 มก./ดล.
การรักษาเบาหวานทำอย่างไร
การรักษาโรคเบาหวาน ผู้ป่วยมีส่วนสำคัญในการรักษา มากกว่าแพทย์ การดูแลตนเองที่ถูกต้อง จะช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี และไม่มีโรคแทรกซ้อน
การควบคุมอาหาร เลือกทานอาหารที่มีความหวานต่ำ ปรับสัดส่วนอาหารให้เหมาะสม จะทำให้การดูดซึมกลูโคสช้าลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้
การให้ยารับประทาน ยารับประทาน จะช่วยกระตุ้นการหลั่งอินสุลิน ทำให้มีการใช้กลูโคสมากขึ้น ลดการสร้างกลูโคสใหม่ในร่างกาย และยับยั้งการดูดซึมกลูโคส ทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลงได้
การฉีดอินสุลิน เพื่อทดแทนอินสุลินที่ขาดไป อินสุลินจะพากลูโคสเข้าไปใช้ในเนื้อเยื่อร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลลดลงได้
การออกกำลังกาย ทำให้มีการใช้พลังงาน ระดับน้ำตาลลดลงได้
การเลือกใช้การรักษาใด ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของเบาหวาน
โดย นพ.รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ อายุรแพทย์
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น