มาลาเรียพันธุ์ใหม่จากลิงสู่คน
มาลาเรียพันธุ์ใหม่จากลิงสู่คน
|
มาลาเรียพันธุ์ใหม่จากลิงสู่คน |
<><>>>
โดย รศ.นพ.เผด็จ สิริยะเสถียร ภาควิชาปรสิตวิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาลาเรีย หรือไข้จับสั่น หรือไข้ป่า เป็น โรคที่เกิดจากเชื้อปรสิตซึ่งติดต่อสู่คนโดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ คนมักเป็นโรคนี้เมื่อเดินทางเข้าไปในแหล่งที่มีการระบาดของโรคอยู่ เช่น บริเวณป่า เนื่องจาก เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงก้นปล่อง เชื้อมาลาเรียที่สามารถถ่ายทอดจากผู้ป่วยผ่านยุงก้นปล่อง และไปสู่บุคคลอื่นนั้นมีอยู่ 4 ชนิดคือ เชื้อ Plasmodium falciparum, Plasmodium vivax, Plasmodium malariae และ Plasmodium ovale ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบเชื้อมาลาเรียทั้ง 4 ชนิดนี้ได้ แต่ส่วนมากพบเป็น Plasmodium falciparum และ Plasmodium vivax โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตมักเกิดจากการติดเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum การติดเชื้อมาลาเรียจากลิงสู่คน
นอกจากเชื้อมาลาเรียทั้ง 4 ชนิดนี้แล้ว ยังมีเชื้อมาลาเรียชนิดอื่นอีกมากกว่า 100 ชนิดในสัตว์หลายจำพวก เช่น นก สัตว์เลื้อยคลาน หนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ รวมทั้งลิง เชื้อมาลาเรียในลิงบางจำพวกซึ่งเป็นเชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium knowlesi พบว่าสามารถติดต่อสู่คนได้โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ โดยมีรายงานพบเชื้อชนิดนี้ในคนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2508 ในทหารอเมริกันที่มาสำรวจป่าในรัฐปาหังของมาเลเซีย และมีรายงานการพบเชื้อชนิดนี้ในคนในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2547
โอกาสที่เชื้อ Plasmodium knowlesi จะเกิดการระบาดในคนมีมากน้อยเพียงใด ยังไม่พบหลักฐานว่าเชื้อ Plasmodium knowlesi สามารถถ่ายทอดเชื้อจากผู้ป่วยผ่านยุงก้นปล่องไปสู่ผู้อื่นเหมือนเชื้อมาลาเรีย 4 ชนิดที่กล่าวมา การพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อ มาลาเรียชนิด Plasmodium knowlesi นี้ยังพบจำกัดเฉพาะผู้ที่เดินทางเข้าไปในแหล่งที่มีการระบาดของโรค ซึ่งมักเป็นแหล่งที่มีลิงบางชนิดซึ่งเป็นแหล่งโรค และมียุงก้นปล่องบางจำพวกเป็นพาหะ และจากการสำรวจจากเลือดผู้ป่วยในประเทศไทย พบเชื้อชนิดนี้เพียง 0.57% เมื่อเทียบกับเชื้อมาลาเรียอีก 4 ชนิด
ความรุนแรงของการติดเชื้อ Plasmodium knowlesi จากรายงานของประเทศมาเลเซียพบว่า อาการของโรคจะคล้ายกับการติดเชื้อมาลาเรียชนิดอื่น คือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และเมื่อได้รับการรักษาด้วยยาต้านมาลาเรียจะพบว่าเชื้อหายไปจากกระแสเลือดภายใน 2-3 วัน ผู้ป่วยมักจะนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเฉลี่ยประมาณ 3 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 4 รายในประเทศมาเลเซียที่สงสัยว่าติดเชื้อมาลาเรียชนิดนี้
การป้องกันการติดเชื้อมาลาเรีย สำหรับผู้ที่เดินทางไปในแหล่งที่มีการระบาดของโรคมาลาเรียเพื่อท่องเที่ยวหรือ อยู่ช่วงสั้น ๆ 2-3 วัน ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สารทาป้องกันยุงกัด สวมเสื้อผ้าที่รัดกุม และนอนในมุ้ง และเมื่อเดินทางกลับหากเกิดอาการไม่สบายหรือมีไข้ หนาวสั่น ควรมาพบแพทย์และแจ้งแพทย์ให้ทราบด้วยว่าได้เดินทางไปในแหล่งระบาดของโรค สำหรับผู้ที่ต้อง เดินทางเข้าไปอยู่ในแหล่งระบาดเป็นเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาป้องกันมาลาเรียสนับสนุนเนื้อหาโดย DNA ฉบับที่ 41
|
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น