วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ข้อเท็จจริงที่น่ารู้เกี่ยวกับไข้หวัด

ข้อเท็จจริงที่น่ารู้เกี่ยวกับไข้หวัด
ไข้หวัดคืออะไร
ไข้หวัด หรือ Common cold คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ที่เยื่อบุโพรงจมูก ซึ่งอาจจะลุกลามไปสู่โพรงไซนัสบริเวณข้างโพรงจมูก หูชั้นกลางและหลอดลม
ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับไข้หวัด กายวิภาคของโพรงจมูก
ภายในโพรงจมูกประกอบด้วยผนังที่มีลักษณะคล้ายหิ้งวางของที่เรียกว่า "Turbinate" ซึ่งมีหน้าที่ในการที่จะดักอนุภาคเล็กที่เข้ามาภายในโพรงจมูก และจะค่อยเคลื่อนย้ายสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นไปทางด้านหลังของโพรงจมูก และโดยเฉพาะที่บริเวณส่วนที่เรียกว่า Adenoid ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองที่มี cellที่เป็นเป้าหมายของเชื้อไวรัสไข้หวัด

Rhinovirus: ตัวก่อการร้าย
ในปัจจุบันพบว่ามีไวรัสกว่า 100ชนิดที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด โดยตัวการสำคัญที่สุดคือ Rhinovirus ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดไข้หวัดถึง 50%ของผู้ป่วยไข้หวัดทั้งหมด
เชื้อไวรัสเหล่านี้จะแบ่งจำนวนได้ก็ต่อเมื่ออยู่ใน cell เท่านั้น อีกทั้งยังเป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดไข้หวัดเฉพาะกับคนหรือลิงชิมแปนซี หรือลิงที่มีลักษณะใกล้เคียงกับคนเท่านั้น ไม่ติดต่อในสัตว์ชนิดอื่น
นอกจากนี้แล้วเชื้อแบคทีเรียก็เป็นสาเหตุที่สำคัญของไข้หวัด ซึ่งอาจจะลุกลามลงไปทำให้เกิดเป็นคออักเสบ (acute pharyngitis) หรือ ทอนซิลอักเสบ (acute tonsillitis) ได้

่เชื้อโรคไข้หวัดเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร
เชื้อหวัดเข้าสู่โพรงจมูกส่วนหน้าโดยติดมากับนิ้วมือเวลาที่แคะจมูก หรือหายใจสูดเอาละอองเสมหะจากการไอหรือจามของคนที่เป็นโรคนี้เข้าไป หลังจากนั้นก็จะถูก cell ที่สามารถพัดโบกให้อนุภาคไวรัสเคลื่อนไปที่บริเวณผนังด้านหลังซึ่งจะมีที่เกาะให้กับไวรัส (receptor) ที่ผนังของ cell เยื่อบุทางเดินหายใจ และจะนำไวรัสเข้าสู่ cellได้ หลังจากที่เข้าสู่ cell แล้วเชื้อไวรัสก็จะเพิ่มปริมาณและทำให้ cell นั้นตายไป จากนั้นก็จะเข้าสู่ cell ข้างเคียงต่อไป ไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ระยะเวลาตั้งแต่ที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่โพรงจมูกจนกระทั่งทำให้เกิดอาการของโรค(Incubation period) นี้ใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง และจะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 10-12ชั่วโมง จากนั้นอาการจะแสดงมากที่สุดเมื่อได้รับเชื้อไปแล้ว 36-72 ชั่วโมง เชื้อหวัดสามารถทำให้เกิดโรคได้ง่ายมากเพราะปริมาณไวรัสเพียงแค่ 1-30 particles ก็เพียงพอที่จะก่อให้เกิดอาการต่างๆของไข้หวัดได้แล้ว
การแพร่กระจายของเชื้อหวัด
กล่าวโดยสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้
ติดต่อทางการหายใจสูดเอาละอองเสมหะหรือน้ำมูกของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อยู่แล้ว เนื่องจากพบเชื้อโรคชนิดนี้อยู่เป็นปริมาณในน้ำมูกหรือเสมหะ
ติดต่อโดยการที่มือไปสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกับบุคคลอื่น เครื่องใช้ในที่สาธารณะเช่น โดยเฉพาะถ้าสัมผัสกับลูกบิดประตู ราวโหนรถเมล์หรือราวบันได 
ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจจะมีคนที่ป่วยเป็นไข้หวัดอยู่แล้ว หลังจากการสัมผัสนั้น เราก็นำเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการที่มือมาสัมผัสกับจมูกหรือช่องปากของเราเอง
เชื้อกระจายเข้าสู่ร่างกายโดยที่มือที่ไปสัมผัสเชื้อ มาสัมผัสกับดวงตาของเรา ซึ่งเชื้อจะไหลลงไปกับน้ำตาลงสู่ท่อน้ำตา ที่จะเทลงสู่โพรงจมูกต่อไป ทำให้เชื้อเข้าไปในโพรงจมูกได้
อาการแสดงต่างๆและการดำเนินโรคของไข้หวัด
ผู้ป่วยส่วนมากก็จะมีอาการจาม(sneezing) น้ำมูกไหล(running nose) โพรงจมูกตีบหรือตัน(nasal obstruction) เจ็บคอ(sore throat) ไอ เสียงแหบ(hoarseness) และอาการตามร่างกายทั่วๆไปเช่น ปวดศีรษะ มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว(malaise) เป็นต้น
โดยทั่วไปอาการต่างๆเหล่านี้จะเป็นอยู่นานประมาณหนึ่งสัปดาห์ ถ้ารายที่เป็นไม่มากก็จะมีอาการเพียงแค่สองสามวัน ในขณะที่กลุ่มที่รุนแรงอาจจะมีอาการนานถึงสองสัปดาห์ได้
อาการแสดงต่างๆเหล่านี้บางครั้งก็คล้ายๆกับไข้หวัดใหญ่หรือที่เราเรียกว่า Influenza แต่ต่างกันที่อาการของไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่า เช่นมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมากกว่า หรือไออย่างรุนแรงกว่า อย่างไรก็ตามไข้หวัดใหญ่ชนิดที่ไม่รุนแรงก็มีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดามากจนแยกจากกันไม่ออก
โดยทั่วไปผู้ใหญ่คนหนึ่งๆจะเป็นหวัดปีละ 2-3ครั้ง และเด็กปีละ 6-10 ครั้ง จากการศึกษาพบว่าจมูกของเด็กเป็นแหล่งสำคัญของเชื้อหวัด

ผลแทรกซ้อนหรือปัญหาที่เกิดตามมาของไข้หวัด
1. การอักเสบของไซนัสที่เกิดจากการแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย
2. การอักเสบของหูชั้นกลาง
3. หอบหืด
4. สำหรับผู้ที่มีโรคถุงลมในปอดโป่งพอง ไข้หวัดจะทำให้อาการทางปอดเรื้อรังเป็นมากขึ้นอย่างรุนแรง

การป้องกันและการปฏิบัติตัวในระหว่างที่เป็นไข้หวัด
หลักการทั่วไป
เนื่องจากไข้หวัดเป็นโรคที่เกิดกับเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน ตั้งแต่จมูกลงไปถึงบริเวณคอหอย เชื้อที่ก่อโรคจะมีปริมาณมากอยู่ในน้ำมูกหรือเสมหะของผู้ป่วย ดังนั้นหลักการทั่วๆไปของการป้องกันก็คือ

ลดการสัมผัสกับผู้ป่วยหรอสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย 
ล้างมือบ่อยๆหรือทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับผู้ป่วยหรือข้าวของเครื่องใช้ในที่สาธารณะเช่น โดยเฉพาะถ้าสัมผัสกับลูกบิดประตู ราวโหนรถเมล์หรือราวบันได ประโยชน์ของการล้างมือคือ ชะล้างเอาเชื้อโรคที่เกาะอยู่ที่มือออกไป โดยเฉพาะก่อนและหลังการสัมผัสผู้ป่วย แต่พึงระลึกไว้ว่าน้ำยาล้างมือที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อโรคนั้นไม่สามารถฆ่าเชื้อหวัดได้ เพียงแต่ชะล้างออกไปเท่านั้นเอง
อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา
หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม
การรักษาไข้หวัด
หลักการที่สำคัญคือการเริ่มให้การรักษาเร็วที่สุด ทันทีที่เริ่มมีอาการ
การรักษาอาการโดยทั่วไป

การดื่มน้ำมากๆ ช่วยทำให้น้ำมูกหรือเสมหะใสขึ้นและทำให้ขับน้ำมูกหรือเสมหะได้ง่ายขึ้น น้ำอุ่นจะทำให้เสมหะที่เกาะอยู่บริเวณคอหอยละลายได้ง่ายกว่าน้ำเย็น แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีหลักฐานทางการแพทย์ชี้ชัดว่าลงไปว่าอะไรดีกว่ากันระหว่างการดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น 
พักผ่อนให้เพียงพอและทำให้ร่างกายอบอุ่น แต่ไม่ควรร้อนเกินไป
หลีกเลี่ยงการจามหรือสั่งน้ำมูกอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้น้ำมูกที่มีเชื้อโรคเข้าไปในไซนัสได้โดยง่ายและทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในไซนัสได้
ทำอากาศให้ชื้นมากขึ้นด้วยเครื่องทำละอองความชื้น (Humidifier) เพราะจะทำให้อากาศไม่แห้งและทำให้เยื่อบุโพรงจมูกชุ่มชื้น น้ำมูกจะใสขึ้นและถูกขับออกมาได้ง่าย
อยู่ในสถานที่ที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี
หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่หรือควันไฟมากเพราะจะทำให้เยื่อบุระคายเคืองอีกทั้งทำให้การระบายน้ำมูกหรือเสมหะเป็นไปได้ลำบาก
การรักษาด้วยยา 
ยาต้านฮิสตามิน (antihistamine) เพื่อลดการคัดจมูกและ ลดน้ำมูก
ยาแก้อักเสบ (ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะนะครับ) ในกลุ่ม Non-steroidal anti-inflammatory
drugs (NSAID) ช่วยลดอาการทางร่างกายทั่วไปเช่นปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ หรือไข้ รวมทั้งอาจจะช่วยลดอาการไอได้ด้วย

ยาลดบวมในโพรงจมูก และยาแก้ไอ
ยาปฏิชีวนะ จะเริ่มให้เมื่อเริ่มมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่นน้ำมูกหรือเสมหะเป็นสีเขียว 
คำถามที่ถูกถามบ่อยๆในเรื่องไข้หวัด
คำถามส่วนใหญ่ที่ถามมาผมไม่สามารถหาหลักฐานทางการแพทย์มายืนยันได้ชัดเจน จึงขออาศัยหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายครับ ดังนั้นบางคำตอบอาจจะไม่ได้ถูกต้องจริงๆก็ได้ เพราะเป็นความคิดเห็นของผมแต่เพียงผู้เดียว
1. ถ้าจะเดินผ่านฝนที่ตกปรอย ๆ หรือน้อยมาก ๆ ต้องเอาอะไรมาคลุมไม่ให้ฝนโดนเส้นผม ไม่งั้นจะเป็นหวัด และเสี่ยงที่จะเป็นหวัดได้ง่ายกว่าฝนตกแรงๆ .... จริงหรือไม่
ตอบ จริงครับ แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของการทำให้เส้นผมเปียก แต่เพราะว่าฝนที่ตกปรอยๆมีขนาดของเม็ดฝนเล็ก สามารถเข้าสู่โพรงจมูกได้ง่าย ทำให้เชื้อโรคที่มากับเม็ดฝนเล็ดลอดเข้าไปในช่องจมูกได้สะดวกขึ้น

2. การโดนละอองฝน แค่ชื้น ๆ ไม่แฉะ จะทำให้เป็นหวัด...จริงหรือไม่
ตอบ เป็นความจริงครับ ด้วยเหตุผลตามข้อหนึ่ง

3. คนที่ผ่าทอนซิลออกแล้วหลายปี มีอาการเจ็บคอเวลากลืนน้ำลาย อย่างนี้เป็นอาการเริ่มต้นก่อนเป็นหวัด....จริงหรือไม่
ตอบ การผ่าทอนซิลไปแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำให้เจ็บคอ เพราะการที่เป็นหวัดนั้นทำให้ผนังเยื่อบุบริเวณคอหอยอักเสบได้อยู่ดี ดังนั้นความเข้าใจที่ว่าการที่มีอาการเจ็บคอเกิดขึ้นอีกคืออาการของการที่เริ่มเป็นหวัด ก็ถูกต้องแล้วครับ

4. ถ้าโดนแดดแรง ๆ ตอนกลางวันแล้ว จะทำให้ตอนกลางคืนเป็นหวัด
ตอบ ไม่จริงเสมอไปครับ ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันคำกล่าวนั้นครับ แต่แสงUltravioletที่เป็นส่วนประกอบในแสงแดดสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ครับ

5. ถ้าเป็นหวัดแล้ว พยายามอย่าให้น้ำโดนหัว ไม่งั้นหวัดไม่หาย (สรุปง่าย ๆ ว่าห้ามสระผม)...จริงหรือไม่
ตอบ ไม่ทราบครับ ไม่เคยพบเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะในวารสารทางการแพทย์และวารสารอีเลคโทรนิคครับ

6. ถ้าไอเจ็บคอ ต้องเอาผ้ามาพันคอ จะช่วยให้อาการดีขึ้น...จริงหรือไม่
ตอบ การที่ไอเกิดเนื่องจากมีการระคายคอ หรือไม่ก็เกิดจากการที่มีเสมหะออกมาแล้วกระตุ้นให้มีการไอเกิดขึ้น การที่จะไอได้ดีนั้นต้องประกอบไปด้วยเสมหะที่ไม่เหนียวข้นเกินไป 

7. ในระหว่างที่เป็นหวัด และมีอาการไอ การกินของทอด ทำให้ไอมากขึ้น ....จริงหรือไม่
ตอบ ใช่ครับ เนื่องจากของทอดจะระคายเคืองเยื่อบุบริเวณคอหอยได้อย่างง่ายดายทำให้กระตุ้นให้เกิดการไอ

8. ระหว่างเป็นหวัด ควรหลีกเลี่ยงน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง...จริงหรือไม่
ตอบ เรื่องน้ำเย็นยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่าจะมีผลทำให้อาการแย่ลงหรือไม่ ไม่มีการศึกษายืนยันแน่ชัด เพราะที่จริงความเย็นที่เกิดจากการดื่มน้ำเย็นหรือรับประทานน้ำแข็งจะอยู่เพียงแค่ระยะสั้นๆ หลังจากกลืนลงไปไม่นานอุณหภูมิของเยื่อบุบริเวณช่องปากก็จะกลับมาสู่ปกติ ซึ่งไม่น่าจะมีผลอะไรต่อไข้หวัดครับ

โดย นพ.ปิยะ สมานคติวัฒน์ ศัลยแพทย์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น