โรคที่มากับอาหารช่วงหน้าร้อน
โรคท้องเสีย
โรคท้องเสีย ยังคงเป็นปัญหาการเจ็บป่วยที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย เป็นโรคติดเชื้อที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในทุกกลุ่มอายุของคนไทย ยกเว้นในช่วงอายุ 5-14 ปี ที่พบโรคไข้เลือดออกมากกว่า แต่โรคท้องเสีย ก็ยังพบบ่อยเป็นอันดับสองในกลุ่มอายุดังกล่าว
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคติดต่อ พบว่ามีอุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคท้องเสีย อุจจาระร่วงสูงสุดในช่วงเดือน มีนาคม ถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน ต่อต้นฤดูฝน
เหตุใดหน้าร้อนคนจึงป่วยเป็นโรคท้องเสียอุจจาระร่วงกันมาก
เป็นเพราะอากาศร้อนจัด แบคทีเรียที่เป็นเชื้อก่อโรคท้องเสียอุจจาระร่วงสามารถเจริญเติบโตได้ดี เมื่อปนเปื้อนในอาหาร ก็จะเพิ่มจำนวนได้เร็ว นอกจากนั้น ประชาชนยังเดินทางท่องเที่ยวกันมาก มีโอกาสที่จะรับประทานอาหารและน้ำดื่มนอกบ้าน ที่ไม่สะอาดหรือปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้บ่อยกว่าฤดูอื่น ๆ
อาหารที่มีโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดท้องเสียมีอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่ จะเป็นอาหารที่ปรุงไม่สุก จัดเก็บไม่ดี หรือผู้ปรุงอาหาร มีสุขอนามัยที่ไม่ดี สามารถแพร่เชื้อโรคไปในอาหารได้ ได้แก่
1. อาหารที่ปรุงไว้นาน จัดเก็บไม่ถูกวิธี มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรค หรือ บูดเสียง่าย
2. เนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก ทั้งตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ เช่นการปรุงอาหารคราวละมาก ๆ อาจสุกไม่ทั่วถึง
3. อาหารที่ถูกเตรียมโดยผู้ประกอบอาหารที่สุขอนามัยไม่ดี ล้างมือไม่สะอาดก่อนปรุงอาหาร หรือเป็นคนที่เป็นพาหะของเชื้อนั้นอยู่ เช่น เชื้อทัยฟอยด์
4. อาหารทะเล ที่จัดเก็บไม่ถูกต้อง
5. ผักสด ที่จัดเก็บและล้างไม่สะอาด
6. อาหารกระป๋องที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย จากกระบวนการผลิต การจัดเก็บ หรือหมดอายุ
7. อาหารที่คนทั่วไป ไม่คุ้นเคย เช่น เนื้อสัตว์ป่า เห็ดป่า ปลาปักเป้า แมงกะพรุน ฯลฯ
อาการของท้องเสียอุจจาระร่วงจากอาหารเป็นพิษ เป็นอย่างไรบ้าง
โดยทั่วไปมักจะมีอาการหลังได้รับอาหาร ได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 5 วัน แล้วแต่ชนิดของเชื้อแบคทีเรียนั้น ๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากตัวเชื้อแบคทีเรียเอง หรือพิษที่แบคทีเรียสร้างขึ้น นอกจากนั้น ยังมีพิษจากอาหารบางชนิด ที่ทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน ได้แก่ อาหารทะเล เห็ดพิษ ฯลฯ อาการก็มักแตกต่างกันไป ได้แก่
1. คลื่นไส้ อาเจียน
2. ท้องเสีย ถ่ายบ่อย ๆ อาจจะถ่ายเป็นน้ำหลาย ๆ ครั้ง ถ้าเกิดจากพิษของแบคทีเรีย หรือ ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนั้น ทำลายผนังลำไส้โดยตรงหรือทำใหเกิดลำไส้อักเสบ
3. ปวดท้อง มักจะปวดเป็นพัก ๆ ปวดจนตัวงอ เนื่องจากลำไส้บีบตัว อย่างรุนแรง
4. มีไข้ ในกรณีมีลำไส้อักเสบ
5. อ่อนเพลีย เนื่องจากขาดน้ำ และเกลือแร่ ที่สูญเสียไปกับการถ่ายอุจจาระ
6. ในเด็ก จะซึม ไม่เล่น มีลักษณะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ผิวหนังเหี่ยวย่น ตาโหล กระหม่อมหน้าบุ๋ม ถ้าเสียน้ำมาก อาจจะช้อค ถึงขั้นเสียชีวิตได้
ต้องระมัดระวัง และใส่ใจเป็นพิเศษ สำหรับ อาการท้องเสียในเด็ก ผู้สูงอายุ และคนที่มีภูมิต้านทานต่ำอื่น ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไตวาย ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือเคมีบำบัด และผู้ป่วยโรคเอดส์
การดูแลตนเองเบื้องต้น
1. การดูแลที่สำคัญที่สุด คือ การรักษาทดแทนการสูญเสียน้ำที่ถ่ายไป โดยเฉพาะในเด็ก
รักษาโดยให้ดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่ละลายน้ำ ที่มีขายเป็นซองตามท้องตลาดทั่วไป หรือ ถ้าหาไม่ได้ สามารถ เตรียมเองที่บ้าน โดยใช้เกลือป่น ครึ่งช้อนชา กับน้ำตาลทราย 2 ช้อนแกง ผสมในน้ำเปล่าสุก 1 ขวดน้ำปลา
ในผู้ใหญ่ ให้ดื่มทดแทน ตามปริมาณที่ถ่าย หรือ ที่รู้สึกกระหาย หรือ ยังอ่อนเพลียอยู่
ในเด็ก ให้ทดแทน ในกรณีที่ยังถ่ายมาก ดูว่ามีภาวะขาดน้ำ คือ ปากแห้ง ตาโหล หรือ กระหม่อมบุ๋ม ให้ในปริมาณ 50-100 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในเวลา 4 ชั่วโมง โดยทยอยป้อนทางปากทีละน้อย
2. รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย โดยเน้นอาหารที่มีแป้งหรือข้าวเป็นหลัก เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ฯลฯ
3. การรักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยา แก้อาเจียน แก้ปวดท้อง ยาลดไข้
สำหรับยาหยุดถ่าย โดยทั่วไป ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะถ้ากินมากไป จะทำให้ท้องอืด ปวดแน่นท้องมาก ถ้าจำเป็นจริง ๆ เช่น ต้องเดินทาง อาจทานได้ 1- 2 เม็ด ห่างกัน 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
แต่ยังมียากลุ่มใหม่ ๆ ที่ยับยั้งการขับน้ำจากลำไส้โดยตรง แต่ราคาค่อนข้างแพง และไม่ออกฤทธิ์หยุดถ่ายได้เร็วทันที
โดยส่วนใหญ่ อาการท้องเสีย จากอาหารเป็นพิษ มักหายได้เอง เมื่อรักษาตามอาการ ส่วนน้อย ที่ต้องการการรักษาเฉพาะ
เมื่อใดควรไปพบแพทย์
1. อาการท้องเสีย ไม่ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง ยังถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง
2. เป็นในผู้ป่วย โรคที่มีภูมิต้านทานต่ำ ดังกล่าวข้างต้น
3. เป็นในเด็ก หรือ ผู้สูงอายุ ที่มีอาการขาดน้ำมาก ซึมลง กินอะไรไม่ได้
4. อาเจียนรุนแรง ไม่สามารถกินอาหารหรือสารน้ำทดแทนได้
5. ถ่ายเป็นมูกเลือด เพราะอาจจะต้องให้ยาปฏิชีวนะ
6. มีไข้สูง หนาวสั่น ซึมลง
เมื่อไปหาแพทย์ แพทย์จะดูแลอย่างไรบ้าง
1.ประเมินภาวะการขาดน้ำ และประเมินว่ากินได้ไหม ถ้ากินไม่ได้ เช่น ซึม หรือ อาเจียนมาก หรือถึงขั้นช้อค อาจจะต้องให้สารน้ำทดแทน โดยให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด แต่ถ้ากินได้ ขาดน้ำไม่มาก อาจจะให้เป็นผงน้ำตาลเกลือแร่ชงดื่ม
2. รักษาตามอาการ เช่น ถ้าอาเจียนมาก หรือ ปวดท้องมาก อาจให้ยาฉีดรักษาอาการดังกล่าว เพราะในกลุ่มนี้มักกินยาทางปากไม่ได้ ถ้ากินได้ อาจให้ยารับประทานลดอาการดังกล่าว
3. ถ้าถ่ายเป็นมูกเลือด หรือ มีไข้ด้วย แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ
4. ถ้ามีอาการ ไข้สูง ซึมลงบ่งชี้วามีการติดเชื้อในกระแสโลหิต โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีภูมิต้านทานต่ำ อื่น ๆ อาจต้องเจาะเลือดเพาะเชื้อ ตรวจดูระดับเกลือแร่ในเลือด ตรวจอุจจาระและเพาะเชื้อจากอุจจาระด้วย และต้องรับไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาปฏิชีวนะ และสารน้ำทดแทน
คำแนะนำเพื่อป้องกันตนเองจากโรคท้องเสียเมื่อต้องเดินทาง
1.ถ้าเตรียมอาหารไปจากบ้าน ไม่ควรเตรียมอาหารที่บูดเสียง่าย ควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิท ไม่ควรเก็บในที่ร้อนเกินไป ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป ถ้าเป็นไปได้ ควรทำให้ร้อนก่อนรับประทาน
2. กรณีใช้อาหารกระป๋องสำเร็จรูป เลือกยี่ห้อและร้านค้าที่เชื่อถือได้ ฉลากอยู่ครบไม่ลบเลือน มีวันหมดอายุชัดเจน กระป๋องไม่มีรอยบุบ หรือโป่ง
3. เมื่อรับประทานอาหารตามร้าน ควรเลือกร้านที่ได้รับการรับรองจากกรมอนามัย เลือกทานอาหารที่ปรุงสุก ใช้วัตถุดิบที่สด จัดเก็บได้ถูกต้อง ไม่มีแมลงวันตอม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และผักสด
4. หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่คุ้นเคย เช่น เนื้อสัตว์ป่า เห็ดป่า ปลาปักเป้า แมงกระพรุนสด ฯลฯ
5. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนเตรียมอาหารและรับประทานอาหาร รวมทั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ
6. ดื่มน้ำดื่มที่สะอาด ถ้าต้องดื่มน้ำนอกบ้าน เลือกดื่มน้ำเปล่าบริสุทธิ์ที่มีตรา อย. และถ้ามีความจำเป็นต้องดื่มน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรนำมาต้มให้เดือดเสียก่อน
ขอให้ฤดูร้อนนี้ มีความสุขกับการท่องเที่ยวและพักผ่อนครับ
โดย นพ.รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ อายุรแพทย์
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น