การผ่าตัดผิวข้อสะโพกแบบใหม่
่
โรคข้อสะโพกในวัยทำงานที่พบบ่อยได้แก่ ข้อสะโพกเสื่อม (Osteoarthritis,OA), ข้อสะโพกขาดเลือด(Avascular Necrosis, AVN), ข้อสะโพกพัฒนาการผิดปกติ (Developmental Hip Dysplasia,DDH) ในคนไทยพบข้อสะโพกขาดเลือดได้บ่อยสุด ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณการดิ่มเหล้า การใช้สารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ส่วนสาเหตุของข้อสะโพกเสื่อมในวัยทำงานของคนไทย ที่พบมากที่สุดได้แก่ โรคข้อสะโพกขาดเลือด ข้อสะโพกรูมาตอยด์ ข้อสะโพกขาดเลือดและเสื่อมจากภาวะไตวาย หรือได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน นอกจากนี้ ในวัย 40-65 ปี ผู้หญิงไทยยังพบข้อสะโพกเสื่อมที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อสะโพกพัฒนาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก แต่มีอาการในวัยก่อนชรา
ภาพแสดงหัวสะโพกปกติ เทียบกับหัวสะโพกขาดเลือด
การรักษาในอดีต ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ จะพยายามหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนข้อสะโพก เนื่องจากอายุการใช้งานของข้อสะโพกเทียมในวัยทำงานสั้นกว่าการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมในวัยชรามาก ประมาณกันว่า หากเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมในวัยทำงาน อายุการใช้งานอยู่ได้ประมาณ 10 ปี แต่ถ้าเปลี่ยนในวัยชรา (อายุมากกว่า 60-65 ปี) อายุการใช้งานจะอยู่ได้เท่าตัว คือ มากกว่า 20 ปีขึ้นไป
สาเหตุที่อายุการใช้งานของข้อสะโพกเทียมในวัยหนุ่มสาวสั้นเพราะ ข้อสะโพกเทียมแบบดั้งเดิมเป็นข้อต่อแบบหัวโลหะชนกับเบ้าพลาสติกทางการแพทย์ (Ultra High Molecular Weight Polyethylene, UHMWPE) ซึ่งมีข้อดีที่ข้อต่อลื่นไหลดี (Low friction) และทนทาน แต่เนื่องจากว่าวัยหนุ่มสาวเป็นวัยที่มีการใช้งานสะโพกหนักมาก แม้ว่าจะเป็นการใช้ตามปกติในชีวิตประจำวันก็ตาม การสึกหรอของพลาสติกเกิดขึ้นได้เร็วและมาก เศษชิ้นส่วน(Debris)จากเบ้าพลาสติกที่สึกหรอนั้น เมื่อปริมาณสะสมมากขึ้น จะกระตุ้นให้ร่างกายจะกำจัดโดยกระบวนภูมิคุ้มกัน ผ่านการทำงานของเม็ดเลือดขาว และมีผลข้างเคียงให้เนื้อเยื่อโดยรอบสะโพก รวมทั้งกระดูกยึดเกาะกับข้อสะโพกเทียมละลายตัว (Osteolysis)
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแบบเดิม
ข้อสะโพกเทียมที่ใส่อยู่จะเกิดอาการหลวมจากการละลายการยึดเกาะของกระดูกได้เร็วกว่าปกติ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยวัยทำงานเมื่อใช้งานไปได้ 5-10 ปี จะมีการปวดสะโพกอีก และศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ จึงจำเป็นแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกใหม่(Revision Surgery) ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกใหม่นี้ ผลการรักษาและอายุการใช้งานจะแย่กว่าการผ่าตัดครั้งแรกมาก หมายความว่า อายุการใช้งานหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกใหม่นี้ น้อยกว่า 10 ปี ทั้งนี้เป็นเพราะกระดูกรอบข้อสะโพกเหลือน้อยกว่ากรณีการผ่าตัดครั้งแรกมาก เนื่องการการหลอมละลายของกระดูก (Osteolysis) และเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกมีพังผืดอันเป็นผลมาจากการผ่าตัดครั้งแรก
การรักษาแบบใหม่
การผ่าตัดแบบใหม่เพื่อใช้ในวัยทำงานได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรกในเบอริมิงแฮม ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ 1991 และได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก ช่วยให้ผู้ป่วยวัยหนุ่มสาว สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายหนักได้ ข้อสะโพกแบบใหม่นี้เป็นแบบโลหะชนกับโลหะ แทนที่จะเป็นโลหะชนกับพลาสติกทางการแพทย์
นอกนี้หัวสะโพกมีขนาดใหญ่เท่ากับหัวสะโพกเดิมของผู้ป่วย (ข้อสะโพกคนไทยทั่วไปมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40-52 มิลลิเมตร) ซึ่งข้อสะโพกเทียมดั้งเดิมจะมีขนาดหัวสะโพกเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 28 มิลลิเมตร ทำให้การหลุดของสะโพกในข้อสะโพกเทียมแบบใหม่ยากกว่าในข้อสะโพกเทียมแบบดั้งเดิม หัวสะโพกใหญ่จะหลุดยากกว่า หัวสะโพกเล็ก
ผู้ป่วยข้อสะโพกในวัยทำงานที่เป็นชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก (ทั่วโลกมีมากกว่า 1 แสนข้อในปัจจุบัน) ที่รับการรักษาด้วยข้อสะโพกแบบใหม่นี้ ประทับใจในผลการรักษามาก ทำให้เกิดความนิยมอย่างรวดเร็วมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ และเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นข้อสะโพกเทียมเบอร์มิงแฮม
สำหรับในประเทศไทย เริ่มมีการรักษาแบบใหม่แล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายนัก แต่ผลการรักษาก็เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งแพทย์และผู้ป่วยต้องร่วมกันวางแผนการรักษา เพราะถ้าหากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแบบดั้งเดิมไปแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนใจมาผ่าตัดข้อสะโพกแบบใหม่นี้ได้เลย
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaibhr.org/
พ.ต.ท. นพ. วิโรจน์ ลาภไพบูลย์พงศ์
ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ อนุสาขา ข้อสะโพกและข้อเข่า
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น