ใครว่า..ทานปลาดิบ ไม่มีพยาธิ?
สืบเนื่องจากคอลัมน์การกินวาซาบิแล้วสามารถป้องกันพยาธิได้ มีผู้อ่านสงสัยกันว่าแล้วพยาธิในปลาดิบนั้นคือพยาธิอะไร ลองมาติดตามอ่านกันครับ
ปัจจุบันนี้ คนไทยนิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่นกันมากขึ้น ปลาดิบก็เป็นเมนูหลักที่ขาดเสียไม่ได้ ถ้าปลาดิบนั้นเป็นปลาจากเขตหนาวหรือปลาต้นตำรับจากญี่ปุ่นจริง ๆ ก็มีรายงานถึงการติดเชื้อพยาธิชนิดหนึ่งนั่นคือ พยาธิอนิสซาคิส ( Anisakis ) หรือกลุ่มพยาธิในปลาเฮอริ่ง ( Herring worm )
พยาธิที่มากับปลาดิบ
พยาธิชนิดนี้ เป็นพยาธิตัวกลมขนาดกลาง มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขนาดตัวโตเต็มวัยประมาณ 1-5 เซนติเมตร ซึ่งตัวอ่อนของมัน จะฝังตัวอยู่ในกล้ามเนื้อของปลาทะเล โดยพาหะหลักก็จะเป็นปลาพวกที่กินแพลงตอน แต่เมื่อปลาที่ติดเชื้อถูกกินโดยปลาตัวอื่น ก็สามารถไปฝังตัวในปลาตัวใหม่ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นปลาทุกตัวก็มีสิทธิ์ติดเชื้อนี้ได้ แม้แต่ปลาโลมาหรือปลาวาฬและสามารถพบได้ในปลาน้ำจืดเช่นกัน
ดังนั้นถ้าคนกินปลาดิบที่มีการติดเชื้อนี้เข้าไป ก็จะได้รับตัวอ่อนของเชื้อนี้ เข้าไปฝังตัวในกระเพาะอาหาร
มีอาการอย่างไร ?
อาการที่สำคัญคือ อาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้อาเจียนและท้องเสีย บางรายอาจถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด ซึ่งอาการปวดท้องบางครั้ง อาจจะวินิจฉัยผิดพลาด เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือไส้ติ่งอักเสบก็ได้
พบบ่อยหรือไม่?
โรคนี้ เป็นโรคที่พบไม่บ่อยนัก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานไม่ถึง 10 รายต่อปี คล้ายกับอมีบาไชสมองของบ้านเราซึ่งพบน้อยมาก ๆ แต่เนื่องจากการวินิจฉัยนั้นค่อนข้างยาก คือ ผู้ปวยอาจจะอาเจียนออกมาเป็นตัวพยาธิหรืออาจจะส่องกล้องเข้าไปในหลอดอาหารแล้วพบตัวพยาธิ การรักษามีทางเดียวคือการเอาตัวพยาธิออกมาจากผนังกระเพาะ จากการส่องกล้องหรือต้องผ่าตัดออกทางหน้าท้องเลยก็ได้
ควรทำอย่างไร ถ้าไม่อยากมีพยาธิ?
ปัจจุบันนี้ในสหรัฐอเมริกาเอง ก็นิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมีคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการสามารถสุ่มตรวจเนื้อปลาโดยการส่องเนื้อปลาด้วยโคมไฟ มองหาตัวอ่อนของพยาธิ แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะใช้ได้เฉพาะเนื้อปลาที่มีสีขาวเท่านั้น
คำแนะนำขององค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ในกรณีที่จะต้องกินปลาทะเล ถ้าจะทำกึ่งสุก เช่นลวก ควรทำที่อุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 5 นาที แต่ถ้าต้องกินปลาดิบ เนื้อปลานั้นควรจะได้รับการเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง คือต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 15 ชั่วโมง หรือต่ำกว่า - 20 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 7 วัน
สำหรับในประเทศไทย ก็ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อพยาธิชนิดนี้ และพยาธิชนิดนี้ ก็เป็นพยาธิในเมืองหนาวเท่านั้น กรณีปลานำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าได้รับการแช่แข็งที่ถูกต้อง ก็น่าจะปลอดพยาธิดังกล่าว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนไทยเองก็ยังคงต้องระวังพยาธิที่มากับปลาดิบแบบไทย ๆ ด้วย เช่นพยาธิตัวจี๊ด รวมถึง สุขอนามัยของผู้ประกอบอาหาร ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินอาหารอื่น ๆ ได้บ่อยกว่าพยาธิอีกครับ
โดย นพ.รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ อายุรแพทย์
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น