ชนิดของไฟฉาย เวลาเราเตรียมตัวเดินป่า เรามักจะพยายามเอาของไปให้น้อยที่สุด เบาที่สุด แต่เราก็ต้องยอมรับว่าของบางอย่างก็จำเป็นที่จะต้องเอาติดตัวไปด้วยทุกครั้ง ถึงแม้มันจะต้องเพิ่มน้ำหนักในเป้ของเรามากขึ้นก็ตาม ไฟฉายก็เป็นหนึ่งในของใช้จำเป็นที่จะขาดไม่ได้ในการเดินทางเข้าป่าแต่ละ ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของตัวเราเองในยามค่ำคืน หรือในยามที่ต้องเข้าถ้ำหรือสถานที่มืดๆ ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ
ไฟฉายเป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่ผู้ผลิตพยายามแข่งขันกันค้นคว้า วิจัยโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เพื่อพัฒนาคุณภาพของไฟฉายให้ดีขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาการของไฟฉายในแต่ละรุ่นเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ไฟฉายในปัจจุบันจึงมีหลายลักษณะ หลายรูปแบบ สำหรับการใช้งานต่างๆ กันไป ซึ่งเราพอจะแบ่งประเภทของไฟฉายที่ใช้สำหรับเดินป่าได้ 2 แบบใหญ่ ๆ คือ ไฟฉายแบบธรรมดาที่ใช้มือถือ (Hand-held lights) และไฟฉายที่ติดกับศีรษะ (Head-held lights หรือ Headlamps)
ไฟฉายมือถือ (Hand-held lights)
ไฟฉายแบบมือถือ
ไฟฉายมือถือที่คนไทยรู้จักกันดีและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือ Mini Maglite ซึ่งผลิตโดยใช้อลูมิเนียมเป็นวัสดุภายนอก มีวิธีการเปิด-ปิดไฟฉายโดยการหมุนกระเปาะหลอดไฟด้านบน วัสดุที่ใช้ภายนอกทำให้ตัวไฟฉายมีความทนทานสูงมาก ไม่บุบสลายง่ายๆ ลักษณะเด่นของไฟฉายรุ่นนี้คือบริเวณหัวเกลียวจะมีห่วงยางโอริง (Rubber O-ring) ที่ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปด้านในตัวไฟฉาย และบริเวณเกลียวด้านบนนี้นอกจากจะเป็นสวิตช์เปิด-ปิดไฟฉายแล้ว ยังสามารถใช้ปรับลำแสงของไฟฉายให้โฟกัสไปยังจุดใดจุดหนึ่งหรือจะให้สว่างใน บริเวณกว้างได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้มีการผลิตอุปกรณ์เสริมสำหรับไฟฉายชนิดนี้ขึ้นมามากมาย เช่น สายรัดศีรษะ ซองหนัง สายรัดข้อมือ คลิปหนีบกับเข็มขัด หรือแม้กระทั่งกระบอกพลาสติกที่เอาไว้หุ้มตัวไฟฉายเวลาต้องการคาบไว้ในปาก!
ปัจจุบัน มีไฟฉายที่ใช้หลักการทำงานในลักษณะเดียวกับ Maglite นี้มากมาย (เปิด-ปิดโดยการหมุนเกลียวด้านบน) ซึ่งมีการทำงานอย่างง่ายๆ คือเมื่อเราหมุนเกลียวลงมา หลอดไฟก็จะสัมผัสกับแบตเตอรี่ด้านล่าง ทำให้เกิดความสว่าง แต่ข้อควรคำนึงอย่างหนึ่งก็คือ การเปิดไฟในลักษณะนี้จะต้องใช้สองมือในการเปิด (ไม่เหมือนกับไฟฉายแบบอื่นที่เราสามารถใช้มือเดียวกดหรือเลื่อนสวิตช์เพื่อ เปิด-ปิดได้) บางคนที่ชำนาญหน่อยก็อาจจะใช้มือเดียวหมุนเปิดได้ โดยใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับบริเวณกระเปาะหลอดไฟด้านบนและใช้นิ้วที่เหลือ จับด้ามไฟฉายเอาไว้ แล้วจึงหมุนเปิด แต่นั่นก็ต้องอาศัยการฝึกฝนเล็กน้อย บางคนอาจจะต้องการทำให้เปิดง่ายๆ โดยการหมุนปิดไฟฉายเอาไว้หลวมๆ เพื่อที่ว่าจะได้หมุนเปิดมือเดียวได้ง่ายๆ แต่ควรจะระวังว่าการทำแบบนี้อาจจะทำให้ไฟฉายเปิดเองได้เวลาเราเก็บไว้ใน กระเป๋า เพราะหากเกิดการกดทับจากสิ่งของอื่นๆ หลอดไฟก็จะสัมผัสกับแบตเตอรี่ได้ง่ายขึ้น ทำให้ไฟฉายติดเองได้เป็นการสิ้นเปลืองแบตเตอรี่โดยใช่เหตุ ดังนั้นเพื่อป้องกันกรณีดังกล่าว สามารถทดสอบได้ง่ายๆ โดยในเวลาที่เราหมุนไฟฉายปิดแล้ว เมื่อไฟดับแล้วก็ลองกดตรงบริเวณกระเปาะหลอดไฟลงไปเล็กน้อย เพื่อดูว่าไฟติดหรือไม่ ผู้ผลิตไฟฉายส่วนมากมักจะออกแบบไฟฉายมาให้สามารถหมุนได้อีกประมาณ 180 องศาหลังจากที่เราหมุนปิดสวิตช์ไฟฉายไปแล้ว
ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งของ Maglite ที่คนเริ่มหันมาคำนึงถึงมากขึ้นก็คือการที่ตัวด้ามไฟฉายทำจากอลูมิเนียมนั่น เอง สาเหตุเป็นเพราะตัวด้ามอลูมิเนียมนั้นจะเปลี่ยนอุณหภูมิตามสภาวะอากาศภายนอก ได้ง่ายกว่าพลาสติก โดยเฉพาะในบริเวณที่มีอากาศเย็นจัด ซึ่งความเย็นของตัวด้ามจะเป็นศัตรูตัวร้ายต่ออายุของแบตเตอรี่ภายใน ทำให้แบตเตอรี่หมดเร็วขึ้น ใครที่เคยใช้ไฟฉายแบบ Maglite นี้ไปเดินเที่ยวป่าก็คงจะพอนึกออกว่าในหน้าหนาวนั้นบางครั้งเราต้องเปลี่ยน แบตเตอรี่เร็วกว่าที่คาดเอาไว้ ทำให้ในระยะหลังนี้มีคนสนใจหันมาใช้ไฟฉายที่มีด้ามจับเป็นพลาสติกมากขึ้น
ไฟฉายติดศีรษะ (Head-held lights, Headlamps)
ไฟฉายติดศรีษะ
จาก ข้อเสียประการหนึ่งของไฟฉายมือถือ นั่นคือการที่ทำให้เราต้องทำงานได้เพียงมือเดียวเพราะอีกมือหนึ่งต้องถือ ไฟฉายอยู่นั้น ทำให้มีการพัฒนาไฟฉายขึ้นมาเป็นอีกประเภทหนึ่ง คือไฟฉายติดศีรษะ ถึงแม้บางครั้งไฟฉายติดศีรษะอาจจะมีน้ำหนักมากกว่าไฟฉายมือถือ แต่ผู้คนก็นิยมใช้ไฟฉายติดศีรษะกันมากขึ้นเนื่องจากความสะดวกในการใช้งาน เพราะช่วยให้เราสามารถใช้มือทั้งสองข้างในการทำกับข้าว ตั้งเต็นท์ หรือกิจกรรมอื่นๆ ได้โดยสะดวก
ไฟฉายติดศีรษะนี้มีสองประเภทใหญ่ๆ คือแบบที่มีที่ใส่แบตเตอรี่อยู่ติดกับตัวไฟฉายเลย และแบบที่แยกแบตเตอรี่ออกต่างหากจากตัวไฟฉาย แบบแรกที่สามารถใส่แบตเตอรี่ติดกับตัวไฟฉายได้เลยนั้นจะมีน้ำหนักมากกว่า ซึ่งในบางครั้งอาจจะทำให้ปวดศีรษะได้เหมือนกันหากใช้ไปนานๆ กับอีกประเภทหนึ่งคือไฟฉายติดศีรษะแบบที่แยกตัวแบตเตอรี่ออกจากตัวไฟฉายและ จะมีเฉพาะส่วนที่เป็นหลอดไฟและเลนส์เท่านั้นที่ติดกับสายรัดศีรษะ แบบนี้จะทำให้ไฟฉายที่ติดบนศีรษะมีน้ำหนักเบา ส่วนตัวแบตเตอรี่ก็อาจจะหนีบไว้ที่เสื้อผ้าหรือใส่กระเป๋าเอาไว้ก็ได้ แต่แบบนี้ก็จะมีข้อเสียที่จะต้องมีสายเชื่อมต่อระหว่างตัวไฟฉายกับแบตเตอรี่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความรำคาญหรือไม่ค่อยถนัดนัก และยังจะต้องคอยเก็บแบตเตอรี่เอาไว้ให้อุ่นอยู่ตลอดเวลาด้วย
ไฟฉายติดศีรษะที่เป็นที่รู้จักกันมากในปัจจุบันคือ Petzl Micro ซึ่งมีหลักการทำงานง่ายๆ โดยการหมุนเปิด-ปิดไฟที่บริเวณกระเปาะหลอดไฟ และหัวไฟฉายยังสามารถหมุนไปได้รอบๆ นอกจากสายรัดศีรษะแล้ว ยังมีสายคาดบริเวณกลางศีรษะด้านบนพาดเป็นแนวยาวไปด้านหลังศีรษะเพื่อช่วย พยุงให้ไฟฉายสามารถรัดอยู่บนศีรษะได้โดยไม่เลื่อนไหลลงมาง่ายๆ นอกจากนี้ บริเวณที่ใส่แบตเตอรี่ยังทำจากยางซึ่งทำให้แบตเตอรี่ไม่หมดเร็วเกินไปและยัง มีที่สำหรับใส่หลอดไฟสำรองอีกด้วย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น