วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Green Building Design guide แนวทางการออกแบบให้ได้การรับรองอาคารเขียว (1)

Green Building Design guide แนวทางการออกแบบให้ได้การรับรองอาคารเขียว (1)

การออกแบบอาคารเขียวให้ได้ตามเป้าหมายการรับรองระดับอาคารเขียวที่ไม่มีผลทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่ม หรือเป็นการออกแบบให้ได้ตามเป้าหมายการรับรองระดับอาคารเขียว โดยที่ทำให้การลงทุนได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิมเมื่อคำนวณตามมูลค่าปัจจุบันสุทธิ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้ออกแบบสามารถมองภาพองค์รวมและสามารถบูรณาการองค์ประกอบต่างๆ ของอาคารเข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างที่พื้นฐานที่สุด คือ การออกแบบเปลือกอาคารเพื่อลดค่าการถ่ายเทความร้อนที่มีผลทำให้ระบบปรับอากาศมีขนาดเล็กลงยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกมาก ตามหัวข้อการประเมินอาคารเขียวดังต่อไปนี้

1. ผังบริเวณและภูมิทัศน์ (Sustainable Sites)(26) การประเมินในหัวข้อนี้มีอยู่ 15 รายการ โดยที่การเลือกสถานที่ก่อสร้างที่เป็นพื้นที่เสื่อมโทรมมาพัฒนา อยู่ใกล้กับระบบขนส่งมวลชน และการระบายน้ำฝน เป็นหัวใจของหัวข้อนี้ส่วนการจัดให้มีพื้นที่เปิดโล่ง พื้นที่เขียวการลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน การป้องกันแสงสะท้อน การจัดที่จอดรถการจัดที่จอดจักรยาน เป็นรายละเอียดที่ออกแบบได้ไม่ยากหากพิจารณาว่ารายการไหนเป็นรายการที่จะทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากปกติ ก็น่าจะเป็นเรื่องของการระบายน้ำฝน ซึ่งอาจจะต้องจัดทำถังรองรับน้ำฝนขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากสามารถจัดทำบ่อน้ำหรือคูน้ำได้ นอกจากจะไม่ทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นแล้ว บ่อน้ำยังช่วย
1.1 ลดค่าก่อสร้างระบบท่อน้ำฝนและท่อระบายน้ำ
1.2 เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ เป็นพื้นที่สีเขียว และลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน
1.3 ใช้สำรองน้ำฝนสำหรับรดน้ำสวน
1.4 ลดค่าก่อสร้างระบบรดน้ำสวน
1.5 ใช้เป็นรั้วรักษาความปลอดภัย
1.6 อาจใช้เป็นบ่อน้ำในการระบายความร้อนของเครื่องปรับอากาศ
1.7 อาจใช้ในการสร้างผลผลิต เช่น ปลา พืช
1.8 อาจใช้ในการดับเพลิง
1.9 อาจใช้ดินที่ขุดสำหรับการถมที่
1.10 ขอบบ่อและก้นบ่ออาจใช้กลบฝังเศษวัสดุจากการก่อสร้าง
blog23 01.jpg
รูปที่ 1 ตัวอย่างการวางผังบริเวณให้มีพื้นที่สีเขียว และการให้มีคูน้ำรอบโครงการเพื่อใช้ในการรองรับน้ำฝน และน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

ดังนั้น หากผู้ออกแบบสามารถบูรณาการในเรื่องนี้ได้ นอกจากจะไม่เป็นการเพิ่มค่าก่อสร้างแล้ว ในหลายๆ กรณีที่ผ่านมา ยังสามารถลดค่าก่อสร้างลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องค่าก่อสร้างระบบท่อน้ำฝนและท่อระบายน้ำ ซึ่งในแต่ละโครงการมีมูลค่าสูงมาก
2. ประสิทธิภาพการใช้น้ำ (Water Efficiency)(10) รายการส่วนใหญ่ในหัวข้อนี้เป็นเรื่องของการประหยัดน้ำและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้โดยไม่ต้องเพิ่มค่าก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำจะทำให้ระบบการจ่ายน้ำประปามีขนาดเล็กลง เพียงแค่เปลี่ยนโถส้วมและโถปัสสาวะจากระบบฟลัชวาล์วเป็นสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ ก็ทำให้ขนาดเครื่องสูบน้ำและระบบท่อเล็กลงเป็นอย่างมาก ส่วนสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำในปัจจุบันก็มีราคาปกติ ค่าอุปกรณ์ในกรณีที่ใช้ก๊อกน้ำแบบอัตโนมัติอาจเพิ่มขึ้นบ้างแต่ก็ไม่มากนัก ส่วนการติดตั้งมิเตอร์น้ำเพิ่มก็ไม่มีผลกับค่าก่อสร้างมากนัก โดยรวมขนาดของระบบประปาที่เล็กลงน่าจะทำให้ค่าก่อสร้างโดยรวมเท่าเดิมหรือลดลง สำหรับระบบบำบัดน้ำเสียที่อาจทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มในกรณีที่ต้องการบำบัดน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ แนะนำให้การนำน้ำกลับมาใช้ ให้นำไปใช้สำหรับรดน้ำสวน ก็จะไม่ทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่ม และอาจใช้พืชน้ำช่วยในการบำบัดน้ำขั้นสุดท้าย
3. การใช้พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere)(35) หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่มีคะแนนสูงที่สุด และผู้ออกแบบอาคารต้องมีความรู้ความชำนาญด้านการอนุรักษ์พลังงานในระดับมืออาชีพหากต้องการให้ได้รับการประเมินในระดับสูง แต่ก็เหมือน 2 หัวข้อแรกที่ผู้ออกแบบอาคารสามารถออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานที่ไม่มีผลทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่ม หรือเป็นการออกแบบให้ได้ตามเป้าหมายการรับรองระดับอาคารเขียวโดยที่ทำให้การลงทุนได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิมเมื่อคำนวณตามมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ดังกรณีศึกษาดังต่อไปนี้
3.1 การออกแบบเปลือกอาคารเพื่อให้เป็นฉนวน
3.2 การออกแบบเปลือกอาคารให้มีพื้นที่ลดลง
3.3 การออกแบบระบบการทำความเย็นร่วม
3.4 การออกแบบอาคารพลังงาน
3.5 การออกแบบระบบปรับอากาศ
3.6 ระบบการสำรองความเย็น
3.7 พลังงานทดแทน
3.8 การประหยัดพลังงานในระบบแสงสว่าง
3.9 ระบบการบริหารจัดการพลังงาน
ผู้อ่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือเทคโนโลยีอาคาร
blog23 07.jpg
รูปที่ 2 ตัวอย่างการวางผังอาคารเพื่อให้อาคารมีพื้นที่กรอบอาคารน้อยลง เป็นการประหยัดค่าก่อสร้างเปลือกอาคาร และลดภาระการปรับอากาศลง
รูปที่ 3 ตัวอย่างของอาคารพลังงานที่มีระบบการผลิตไฟฟ้าและใช้ความร้อนทิ้งจากการผลิตไฟฟ้าในการผลิตความเย็น
รูปที่ 4 ตัวอย่างของการจัดวางหม้อแปลงไฟฟ้าโดยรอบอาคารเพื่อลดการเดินสายไฟฟ้าและการสูญเสียพลังงานในระบบไฟฟ้า
รูปที่ 5 ตัวอย่างของอาคารอนุรักษ์พลังงานที่ใช้เครื่องปรับอากาศที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ 2-3 เท่า และใช้วิธีการจ่ายความเย็นด้วยท่อน้ำเย็นแทนการใช้ท่อลมขนาดใหญ่


แนวทางการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เป็นแนวทางการออกแบบที่พิสูจน์ได้ว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน และส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาในการคืนทุน 1-7 ปีเท่านั้นหัวใจของการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน อยู่ที่การวางแผนในส่วนของระบบการจ่ายพลังงาน ระบบการส่งพลังงานและระบบการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพส่วนของระบบการจ่ายพลังงาน เช่น การจัดให้มีอาคารพลังงานที่ประกอบด้วยเครื่องทำน้ำเย็น และหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงส่วนของระบบการส่งพลังงาน เช่น การจัดให้ระยะของท่อและสายไฟฟ้าสั้นและมีการสูญเสียน้อยส่วนของระบบการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้โคมไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง การใช้เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง การใช้ระบบการควบคุมอาคารอัตโนมัติในขบวนการวิศวกรรมคุณค่า หัวข้อเหล่านี้เป็นหัวข้อหลักในการพิจารณาที่จะช่วยให้งบประมาณค่าก่อสร้างลดลงได้เป็นอย่างมาก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น