วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปัญหาของไฮเปอร์แอคทีฟ

ปัญหาของไฮเปอร์แอคทีฟ
 
ในเรื่องของเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางด้านการเรียนรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า "เด็กพิเศษ" นั้น นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและส่งผลกระทบต่ออารมณ์ สังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อมของเด็กมาก จึงนับเป็นความจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูจะต้องมีความรู้ความเข้าใจต่อภาวะดังกล่าวนี้เป็นอย่างดีด้วย เพราะในปัจจุบันบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนั้นยังอยู่ในวงแคบ ทำให้มีเด็กพิเศษจำนวนมากได้รับการปฏิเสธให้เข้าชั้นเรียนปกติร่วมกับเด็กปกติอื่น ๆ เพราะความไม่เข้าใจของคุณครูและผู้บริหารโรงเรียนส่งผลให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขและส่งเสริมอย่างถูกวิธี

นิตยสาร "บันทึกคุณแม่" ฉบับนี้ จึงขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงความเข้าใจระหว่างคุณพ่อคุณแม่และคุณครูกับเด็กพิเศษเหล่านี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะมาไขข้อข้องใจในแต่ละเรื่องให้อย่างละเอียด สำหรับฉบับนี้ รศ.นพ. อัมพล สูอำพัน จิตแพทย์เด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้กรุณาอธิบายในเรื่องของเด็กที่มีความซนผิดปกติ (Hyperactive) และเด็กที่มีการเรียนรู้ที่บกพร่อง (Learning Disability)

ปัญหาของไฮเปอร์แอคทีฟ

ที่ใช้คำว่า "ปัญหา" ในที่นี้มีความหมายว่า เด็กกลุ่มที่เป็นไฮเปอร์แอคทีฟนี้ พวกเขาได้รับความทุกข์อันเนื่องมาจากความซนที่ผิดปกติ รวมทั้งการอยู่ไม่นิ่งตลอดเวลา เป็นผลให้การเรียนของพวกเขามีปัญหาและสังคมเกิดความไม่เข้าใจ เด็กอาจเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองน้อย ดังนั้นจึงต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที
นพ. อัมพล : เมื่อไหร่เราจะเรียกว่า เด็กสมาธิสั้น อันนี้สำคัญ เราคงต้องมองดูในแง่ของพัฒนาการของเด็กเป็นหลัก เพราะว่าเด็กเล็ก ๆ พอเริ่มเดินได้ พอเริ่มคลานได้ สมาธิก็จะสั้นเป็นของธรรมดา เราถือเป็นลักษณะปกติของเด็ก แล้วในเด็กในวัยอนุบาลโดยเฉลี่ยแล้ว เด็กก็จะมีสมาธิที่ไม่ค่อยยาวนักและก็จะค่อนข้างซน เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปแล้วแพทย์เองก็จะไม่ค่อยวินิจฉัยว่าเด็กวัยอนุบาลนั้นเป็นเด็กสมาธิสั้น

อย่างไรก็ตาม เด็กวัยอนุบาลที่ค่อนข้างจะมีการอยู่ไม่นิ่งมาก ๆ และมีสมาธิสั้นมากกว่าเด็กคนอื่นตรงนั้น เราก็จะพิจารณาติดตามดู ทันทีที่เข้าประถมศึกษาตั้งแต่ ป.1 เป็นต้นไปแล้ว เด็กมีความตั้งใจสั้น อยู่ไม่นิ่ง และทนอะไรไม่ค่อยได้ เราก็จะวินิจฉัยว่า เป็นสมาธิสั้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่เมื่อมีปัญหานี้แล้วรบกวนผลการเรียนของเด็กเอง รบกวนสิ่งแวดล้อม รบกวนเพื่อนในชั้น ทำให้การเรียนไม่ดี มีปัญหากับคุณครูจนกระทั่งเด็กมีผลการเรียนที่แย่ลง เด็กมีปัญหาทางด้านอารมณ์ มีปัญหาพฤติกรรม ตรงนั้นเป็นสิ่งจำเป็นมากเลยที่เด็กจะต้องได้รับการรักษา แต่ในกรณีเป็นเด็กค่อนข้างจะซนแล้วก็เรียนหนังสือได้ดีพอใช้เราก็ไม่อยากจะเรียกเด็กคนนั้นเป็นไฮเปอร์แอคทีฟหรือเด็กสมาธิสั้น แต่น่าจะเป็นเด็กซนมากกว่า

สาเหตุ

แต่เดิมในอดีตมีการมองว่า มีสาเหตุจากจิตใจ แต่สาเหตุในปัจจุบันนั้น สาเหตุหลักของสมาธิสั้นเกิดเนื่องจากระบบควบคุมสมาธิในสมองนั้นบกพร่อง หรือยังพัฒนาไม่ถึงวุฒิภาวะ ซึ่งจะพบว่าเด็กที่สมาธิสั้นจะมีสารเคมีในสมองบางตัว ยกตัวอย่างเช่น DOPAMINE หรือ SEROTONIN อยู่ในสมองต่ำ ซึ่งเป็นไปโดยธรรมชาติของเด็กสมาธิสั้นเอง หรืออาจจะเป็นผลจากการได้รับการกระทบกระเทือนต่อสมองของเด็กวัยเล็ก ๆ อาจจะตั้งแต่ในท้องด้วยซ้ำไป และมีผลทำให้สมาธิเด็กค่อนข้างจะสั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ในเด็กสมาธิสั้นหลายคนทีเดียวที่อาจจะไม่ใช่สมาธิสี้นอย่างที่ผมพูดดังกล่าว 100 % แต่อาจจะพบรวมกับเด็กที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ หงุดหงิดมาก กระสับกระส่ายมีความกังวลมาก เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีพฤติกรรมคล้ายกับปัญหาสมาธิสั้น อันนั้นไม่ใช่สมาธิสั้นแต่มีปัญหาอารมณ์ หรือเด็กที่ไปกินยาบางอย่าง ยกตัวอย่าง ยาแก้หวัดบางชนิด หรือยาแก้ลมชักบางชนิด เมื่อรับประทานไปแล้วทำให้เด็กกระสับกระส่ายและแสดงออกมาในรูปของสมาธิสั้นได้ หรือในเด็กออทิสติก ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของออทิสติก แต่ก็มีลักษณะพ่วงไปด้วยในเรื่องของสมาธิสั้น

ลักษณะที่สำคัญของเด็กสมาธิสั้นจะมีลักษณะเด่น ๆ 3 อย่าง

อยู่ไม่นิ่ง จะยุกยิกตลอดเวลา แล้วเวลาเล่นอะไรก็เปลี่ยนบ่อย
ทนอะไรไม่ได้ พวกนี้จะคอยคิวไม่ค่อยเป็น แล้วเวลาให้รออะไรหรืออดทนอะไรบางอย่างก็จะทนไม่ได้ เพราะฉะนั้นพวกนี้ก็จะแหวกคิว แหวกกฎเกณฑ์ แสดงอารมณ์โพล่งออกไปได้ง่าย
ไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้ด้วยตัวของตัวเอง
อันนี้ก็จะเป็นลักษณะที่พบ ซึ่งจะทำให้เด็กเรียนหนังสือไม่ค่อยได้ ในชั่วโมงเรียนยังมีคาบละ 50 นาที หนูน้อยพวกนี้ก็จะมีสมาธิสัก 5 นาที เพราะฉะนั้นที่เหลืออีก 40 นาที ก็ไม่ได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้ผลการเรียนจึงเกิดปัญหาขึ้น ข้อมูลเด็กเรียนรู้ไม่ได้ ข้อมูลที่เด็กจะแสดงออกมาในการทำข้อสอบจึงไม่มี คะแนนที่ออกมาก็จะไม่ค่อยดี ทีนี้ในกลุ่มของเด็กสมาธิสั้นที่มักจะมีการเรียนร่วมด้วยเสมอ คือเกือบจะครึ่งต่อครึ่ง บางคนมีปัญหาการอ่าน บางคนมีปัญหาการเขียน บางคนมีปัญหาการประสานงานของกล้ามเนื้อมือและตา ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้ร่วมกับเด็กเป็นสมาธิสั้นทำให้เด็กเรียนหนังสือได้ไม่ดี

วิธีแก้ไข

เนื่องจากปัญหาในเรื่องนี้เกิดขึ้นจากระบบของสารเคมีในสมองเพราะฉะนั้น การแก้ไขจะต้องแก้ด้วยการใช้ยา ร่วมกับการปรับพฤติกรรมปรับระบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องในเด็ก และการประคับประคองทางจิตใจต้องมีการแก้ไขทั้ง 4 อย่างนี้ เพราะว่าในระบบการเรียนการสอน ต้องมีระบบการเรียนการสอนโดยเฉพาะ เช่น ในห้องอาจจะมีนักเรียนจำนวนไม่มากนัก เพราะเด็กพวกนี้จะวอกแวกง่าย แล้วครูก็จะต้องเข้าใจว่า เด็กเหล่านี้อาจมีปัญหาการเรียนการเขียนการอ่านการคำนวณ ครูจะต้องเข้าใจและจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกัน เพราะถ้าเอาระบบการเรียนแบบธรรมดาให้กับเด็ก ๆ ก็จะกังวลและทำไม่ค่อยได้ แล้วครูเองถ้าเกิดไม่เข้าใจก็จะพยายามบีบบังคับให้เด็กนั้นเป็นไปในแนวทางปกติ ซึ่งเด็กทำไม่ค่อยได้ ในที่สุดก็จะเกิดปัญหาอารมณ์ ผลกระทบเด็กพวกนี้ออกมาในรูปของปัญหาอารมณ์มากเลย เพราะว่าเขาจะถูกว่าถูกดุตลอดเวลา ถูกว่าทั้งที่บ้านถูกดุจากโรงเรียนเพราะฉะนั้นภาพในตัวเด็กนั้นก็จะติดลบ จะไม่สบายใจ ดังนั้น การลดความตึงเครียดกับเด็ก ด้วยการที่พ่อแม่เข้าใจและครูเข้าใจรวมทั้งให้การประคับประคองทางด้านอารมณ์สำคัญมาก
เนื่องจากว่า สาเหตุของเด็กสมาธิสั้นเกิดจากระบบสารเคมีในสมอง เรารู้ว่า สารเคมีลดลงเป็นสาเหตุของสมาธิสั้น เพราะฉะนั้นการให้ยาเพื่อเพิ่มสารเคมี จึงมีความจำเป็นก็ต้องให้ยาที่เราให้ก็จะเป็นยากระตุ้นสมองส่วนกลางอันนี้มีส่วนช่วยให้อาการดีขึ้น ทำให้เด็กเรียนได้มากขึ้น นอกจากนี้เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มักจะมีภาพลักษณ์ของตัวเองต่ำ มักจะถูกว่าเรื่อย ๆ เรื่องการเรียนมีปัญหาแม้เราจะช่วยเด็กแล้วก็ตามก็ต้องให้เด็กนั้นมีภาพของตัวเองในทางบวกชดเชยเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ให้เขาทำกิจกรรมที่เด็กเหล่านี้สนใจเป็นพิเศษ ถ้าเด็กพวกนี้สนใจเป็นพิเศษแล้วสมาธิจะดีครับ เราจะเห็นว่า เด็กพวกนี้ดูทีวีได้ ทั้ง ๆ ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นสมาธิสั้น

สำหรับระบบโรงเรียนในปัจจุบัน เนื่องจากว่าไม่มีระบบที่ตอบสนองต่อเด็กสมาธิสั้นโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นก็จะใช้ระบบโรงเรียนธรรมดานี้ประยุกต์ เช่น ให้เด็กนั่งข้างหน้า แล้วถ้าหากว่าเด็กหมดสมาธิแล้วคุณครูก็ควรจะอนุญาติให้เด็กไปล้างหน้าล้างตาแล้วกลับเข้ามาเรียนใหม่ และพยายามอย่าตำหนิติเตียนจนกระทั่งเกิดปัญหาอารมณ์ แล้วถ้าตรงไหนยังเรียนไม่ดีก็เสริมทักษะไปความเข้าใจในจิตใจเด็ก ความเมตตาในตัวเด็ก ตรงนั้นเป็นการรักษาเด็กที่ดีมาไม่แพ้ยาเลย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น