วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อาชาบำบัด

อาชาบำบัด

อาชาบำบัด หรือการนำม้ามาช่วยในการบำบัด เรียกว่า Hippotherapy ซึ่งคำว่า Hippo มาจากภาษากรีก แปลว่า “ม้า” ส่วนคำว่า therapy แปลว่า “การบำบัด”
มีงานวิจัยที่สนับสนุนให้เห็นถึงผลดีของอาชาบำบัดมากพอสมควร โดยมักได้ผลดีกับเด็กพิเศษกลุ่มที่มีความผิดปกติด้านระบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น โรคสมองพิการหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ซีพี (C.P. ย่อมาจาก cerebral palsy)
นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ในการบำบัดกลุ่มเด็กออทิสติกที่มีปัญหาทางด้านการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน
การอยู่บนหลังม้าได้ดี จะต้องมีการทรงตัวที่ดี มีสัมผัสที่แนบแน่นกับตัวม้า คือขาต้องหนีบไว้ข้างลำตัวม้าตลอด และมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการขี่ม้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นทักษะที่ได้เพิ่มขึ้นจากการขี่ม้าโดยอัตโนมัติ
จังหวะการก้าวย่างของม้าใกล้เคียงกับจังหวะการก้าวเดินของมนุษย์ เมื่อเด็กพิเศษได้มีโอกาสนั่งบนหลังม้า ก็เปรียบเสมือนกับการได้ฝึกเดินด้วยตัวเอง นอกจากนี้การนั่งบนหลังม้า ยังเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เพราะต้องขยับอิริยาบถตลอดเวลา ซึ่งสามารถช่วยลดอาการเกร็งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เสมือนการทำกายภาพบำบัดรูปแบบหนึ่ง
นอกจากนี้เด็กยังได้ฝึกฝนการปรับตัวของสภาพร่างกายให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ได้รับจากการประคองตัวให้สามารถนั่งอยู่บนหลังม้าได้นั่นเอง โดยร่างกายจะมีการปรับตัวเองเป็นเสมือนกลไกอัตโนมัติ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสัญชาตญาณความอยู่รอดของมนุษย์ที่พยายามจะรักษาสมดุลของร่างกายไม่ให้ตกลงมาจากหลังม้านั่นเอง
อาชาบำบัด เราจำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆประกอบด้วย ในเด็กบางรายที่มีอาการกระตุกมากๆ ก็ไม่ควรใช้วิธีการนี้ในการบำบัด เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายกับเด็กได้ขณะทำการขี่ม้า
ม้าที่นำมาใช้ในการบำบัดมักเป็นม้าลูกผสม (pony) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ตัวไม่ใหญ่มากนัก ความสูงไม่เกิน 14 แฮนด์ (1 แฮนด์ สูงประมาณ 10 เซนติเมต ) เหมาะสำหรับเด็กเป็นอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องมีการฝึกฝนม้าเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญด้วย
อาชาบำบัด เริ่มมีการนำมาใช้ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ โดยการขี่อยู่บนหลังม้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ความภาคภูมิใจ และลดความกลัว และเริ่มแพร่หลายในยุโรป และอเมริกาเหนือตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 โดยเน้นในเชิงของกายภาพบำบัดเป็นส่วนใหญ่
สำหรับในประเทศไทยเอง เริ่มมีการนำม้ามาช่วยในการบำบัดกลุ่มเด็กพิเศษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยกองกำกับการตำรวจม้า ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากที่เคยดำเนินการสอนคุณ พุ่ม เจนเซ่น ขี่ม้าและบำบัด ตามรับสั่งของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น