วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ท่อน้ำและสายไฟ ซ่อนก็สวย โชว์ก็ดี

ท่อน้ำและสายไฟ ซ่อนก็สวย โชว์ก็ดี

การที่บ้านหลังหนึ่งจะก่อร่างสร้างผนัง พื้น และหลังคาจนแล้วเสร็จ จำเป็นจะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง งานพื้นผิว หรืองานระบบทั้งไฟฟ้าและประปา ซึ่งเปรียบเหมือนเส้นเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงให้บ้านหลังนั้นสมบูรณ์ที่สุด
บางครั้งเราอาจเห็นว่างานระบบเหล่านี้ได้รับการซ่อนจนไม่เห็นร่องรอย หรือบางครั้งก็ดึงลอยออกมาจากโครงสร้าง หากคุณยังไม่แน่ใจว่าควรจะซ่อนหรือจะโชว์ดี คอลัมน์ “สถาปัตยกรรม” ฉบับนี้ มีข้อควรรู้เล็กๆน้อยๆแต่เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับงานระบบต่างๆ เมื่ออ่านบทความนี้แล้ว อาจช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ

1. ซ่อนงานระบบเพื่อ...
เหตุผลหลักคือเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม อีกทั้งยังเป็นเรื่องของความพึงพอใจตามแนวคิดของเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบด้วย บางคนอาจไม่ชอบเห็นท่อร้อยสายไฟมาเดินที่ผนัง หรือเห็นทางท่อทั้งหมดเมื่อเงยหน้าขึ้นมองด้านบน ฉะนั้น ทั้งสายไฟ ท่อน้ำประปา ท่อน้ำทิ้ง และท่อแอร์จึงต้องซ่อนไว้ในผนัง พื้น และฝ้าเพดาน

2. ท่อพีวีซีเป็นเชื้อเพลิงได้
แม้ว่าท่อพีวีซีจะเป็นฉนวนไฟฟ้าไปในตัว สามารถดัดงอได้บ้าง สะดวกในการเดินท่อ ตัดต่อได้ง่าย ราคาถูก แต่ข้อเสียของท่อชนิดนี้คือ หากเกิดไฟฟ้าลัดวงจร สายไฟไหม้ก็จะพาให้ท่อพีวีซีไหม้ตามไปด้วย สำหรับท่อที่ฝังในผนังนั้น แม้จะทำให้ร้อยสายใหม่ได้ยาก แต่ผนังก็จะช่วยเป็นฉนวนกันไฟได้อีกชั้นหนึ่ง หรือถ้าเกิดการลัดวงจรในท่อที่ไม่ฝังในผนัง ท่อพีวีซีอาจเป็นเชื้อต้นเพลิงได้ แต่กรณีแบบนี้มีน้อยมาก ถ้าทดสอบระบบเรียบร้อย โอกาสลัดวงจรก็คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ

3. รู้จักท่อพีอี
ท่อพีอีเป็นผลิตภัณฑ์จากเม็ดพลาสติกพอลิเอทีลีน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งไว้ใช้เดินสายไฟเหมือนกับ
ท่อพีวีซี แต่มีความต่างกันที่ท่อพีอีสามารถดัดงอตัวได้มากกว่า ติดไฟยาก สามารถฝังดินได้ ต้านทานกรดด่าง ไม่เป็นสนิม ไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมี แต่ราคาแพงกว่า ซึ่งถ้าเทียบกับโอกาสการเกิดเพลิงไหม้แล้วคุ้มค่ากว่าการใช้ท่อเหล็ก

4. ท่อเหล็ก ทนแบบดิบๆ (P)
ท่อเหล็กชุบแกลแวไนซ์มีลักษณะเหมือนกับท่อประปาแต่บางกว่า ข้อดีคือเป็นวัสดุไม่ติดไฟ ทนต่อแรง
กระแทก ไม่เกิดการคดโค้งเสียรูปในภายหลัง ทาสีได้ดี ไม่หลุดล่อน ให้ความรู้สึกดิบๆสไตล์ลอฟต์ แต่ราคาก็แพงกว่าท่อพีวีซีและท่อพีอีมาก ท่อเหล็กเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้า การดัดงอตัดต่อและดึงสายจะยากกว่า ถ้าตัดแต่งตะไบปากท่อไม่ดี อาจมีสายไฟถูกปลายท่อบาดและเป็นสาเหตุให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่วได้

5. ฝังไว้ ไม่ให้เหลือ (S)
แม้ไม่ใช่ความลับ แต่เมื่อคิดจะซ่อน เราก็ควรรู้ว่าจะซ่อนมิดไหม ความหนาของผนังทั่วไปรวมปูนฉาบอยู่ที่
ประมาณ 10 เซนติเมตร (ความหนาปูนฉาบข้างละประมาณ 1.5 เซนติเมตร) แบบนี้จะซ่อนท่อขนาดเล็กได้ ถ้าคิดจะซ่อนบนฝ้าเพดานก็ควรเผื่อระยะจากฝ้าขึ้นไปถึงคานหรือพื้นด้านบนให้เพียงพอ เป็นสายไฟอาจไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นท่อน้ำทิ้งจะต้องมีเรื่องของขนาดท่อที่ใหญ่กว่าและความลาดเอียงของท่อด้วย ควรปรึกษาสถาปนิกหรือผู้รู้ก่อนการก่อสร้าง

6. ตรงไหน ฝังไม่ได้ (P)
แน่นอนว่าผนังที่สามารถซ่อนสายไฟฟ้าได้ต้องเป็นผนังทึบอย่างผนังก่ออิฐฉาบปูน หรือผนังเบาสำหรับการตกแต่ง แต่ก็ยังคงมีตำแหน่งที่ไม่แนะนำให้เจาะผนังเพื่อซ่อนสายไฟเป็นระยะทางยาว เช่น ตามแนวเสา เสาเอ็น คาน คานเอ็น ยิ่งหากเกิดปัญหารั่วซึม น้ำอาจส่งผลเสียต่อโครงสร้างได้ ทางที่ดีควรมีการออกแบบตั้งแต่ต้นว่าจะเดินท่ออย่างไร เพื่อไม่ให้ผ่านส่วนโครงสร้างของบ้าน

7. ยังมีที่อื่นให้ซ่อน (S)
นอกจากในผนังก่ออิฐที่สามารถซ่อนท่อร้อยสายไฟได้แล้ว ยังมีที่อื่นที่สามารถซ่อนงานเหล่านี้ไว้ได้ เช่นบริเวณรอยต่อของพื้นสำเร็จรูปซึ่งจะมีช่องว่างอยู่ แต่เราต้องออกแบบตำแหน่งที่ปลายสายจะออกมาและมาเชื่อมกับดวงโคมที่ต้องการ หรือโครงสร้างเหล็กที่เป็นเสาหรือคาน I – Beam จะมีช่องว่างภายในเสาอยู่ ช่องว่างเหล่านี้สามารถซ่อนท่อร้อยสายไฟได้ แต่ต้องทำแผ่นเหล็กมาปิดเพื่อความเรียบร้อยอีกชั้นหนึ่ง

8. ใช้อะไรเจาะผนัง (S)
ดูเหมือนเป็นคำถามง่ายๆแต่ผมเชื่อว่าหลายคนไม่ทราบ อุปกรณ์ในการเจาะทำร่องเพื่อให้ท่อร้อยสายไฟสามารถฝังตัวลงไปได้ เรียกว่า “เครื่องเจียร” ขนาดต่างๆ หรือที่ช่างเรียกว่า “ลูกหมู” เป็นอุปกรณ์เดียวกับที่เราใช้ขัดผนังเพื่อลอกสีเก่าออก หรือขัดงานไม้เพื่อความมันเงา เราสามารถเลือกใบเจียรเป็นแบบอื่นๆได้ตามแต่ลักษณะของงาน

9. ซ่อนแล้วป้องกันด้วย (S)
ที่จริงแล้วผนังเกือบทุกประเภทสามารถซ่อนงานระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนเรียบทาสี ผนังบุวอลล์เปเปอร์ ผนังกรุหินหรือกระเบื้อง หรือแม้แต่กรุไม้ทับ แต่เมื่อเราใช้งานจริง ท่อที่อยู่ภายในผนังอาจมีการสั่นสะเทือนเนื่องจากแรงดันของน้ำ เราจึงควรป้องกันด้วยการปูตะแกรงลวดกรงไก่ทับลงไปก่อนที่จะฉาบปิดผิว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้รอยต่อและป้องกันการแตกลายงาของผิวปูนฉาบ

10. ทดสอบ ก่อนฉาบปิด
ไม่ว่าจะเป็นงานท่อร้อยสายไฟ ท่อน้ำเสีย หรือท่อน้ำประปา เมื่อวางระบบฝังเข้าไปในผนังเรียบร้อยแล้ว ต้องทดสอบระบบก่อนการฉาบปิดหรือบุวัสดุปิดผิว หากเป็นระบบไฟฟ้าต้องทดสอบการใช้งานว่าเป็นปกติและมีกระแสไฟรั่วหรือไม่ ส่วนงานประปาต้องขังน้ำให้อยู่ภายในท่อเพื่อทดสอบการรั่วซึมนานประมาณหนึ่งวัน

11. ซ่อนไว้ แต่ซ่อมสะดวก
แม้ว่าเราจะซ่อนงานเหล่านี้อยู่ในผนังหรือบนฝ้าเพดาน ก็ต้องเว้นช่องให้สามารถเปิด-ปิดได้เพื่อ
การซ่อมบำรุง เช่น งานระบบที่อยู่บนฝ้าเพดานต้องทำช่องเปิด – ปิดที่สามารถปีนขึ้นไปเพื่อตรวจและซ่อมแซมงานระบบที่อยู่บนฝ้าได้ โดยตำแหน่งของช่องเปิดนั้นอาจพิจารณาให้อยู่ในที่ลับตาคนสักหน่อย เช่น ห้องน้ำ หรือห้องเก็บของ

12. ท่อน้ำทิ้งบนฝ้า ต้องดูความลาดเอียง (S)
การเดินท่อน้ำทิ้งนั้นต่างจากท่อน้ำดี เพราะต้องการเรื่องของแรงโน้มถ่วงและความลาดเอียดของท่อซึ่งต่าง
จากท่อน้ำดีที่ใช้แรงดันจากปั๊มน้ำโดยตรง ฉะนั้นควรคิดถึงระยะที่ท่อน้ำทิ้งจะต่อเข้ากับสุขภัณฑ์ต่างๆให้ดีก่อน ว่ามีระยะห่างจากตำแหน่งรวบท่อเพียงใด ยิ่งไกลมากความลาดเอียงก็จะยิ่งมาก ก็แปลว่าต้องใช้พื้นที่ใต้ฝ้าสำหรับซ่อนท่อมาก จนห้องเราอาจมีฝ้าเตี้ยไม่สมส่วน โดยเฉพาะบ้านพักอาศัยนั้นไม่นิยมเจาะคานเพื่อเว้นไว้ให้เดินท่อน้ำทิ้ง แต่จะใช้การเดินลอดใต้คานแทน

13. เดินท่อใต้ดิน ต้องใช้ท่อพีอี
การเดินท่อประปาในส่วนที่อยู่บนดิน อาจใช้ท่อพีวีซีหรือท่อเหล็กชุบสังกะสีก็ได้ แต่สำหรับท่อที่อยู่นอกอาคาร โดยเฉพาะอยู่ใต้ดินใต้อาคาร ควรใช้ท่อพีอีซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในการบิดงอโค้งได้ และไม่เสี่ยงต่อการเป็นสนิม กรณีเดินผ่านเสาตอม่อหรือคานคอดิน สำหรับท่อธรรมดาจะมีข้อต่อมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการรั่วซึม ที่สำคัญเมื่อมีการทรุดตัวของอาคาร หากเป็นท่อพีวีซีหรือท่อเหล็กชุบสังกะสีจะเกิดการแตกร้าวได้ แต่ถ้าเป็นท่อพีอีจะมีความยืดหยุ่นกว่า แม้ราคาจะสูง แต่ก็คุ้มค่า เพราะการตรวจสอบและซ่อมแซมท่อใต้ดินเป็นสิ่งยากลำบาก

14. จะโชว์ควรเป็นระเบียบ (P)
หากคิดจะโชว์งานระบบ ไม่ว่าจะเป็นท่อร้อยสายไฟ ท่อน้ำ หรือท่อแอร์ ต้องมีการจัดระเบียบ วางระยะห่าง
ของท่อให้เท่ากัน ทั้งระยะของตัวยึดที่ห่างเท่ากัน ระยะตำแหน่งของดวงโคมที่เท่ากัน หรือเดินท่อให้มีทิศทางที่เป็นระเบียบ มีองศาที่แน่นอน หรืออยู่แนวเดียวกับเส้นเซาะร่องที่ผนัง

15. โชว์เพื่อการแก้ปัญหา (P)
บางครั้งการโชว์งานระบบก็เป็นการแก้ปัญหาเพื่อให้ห้องที่มีขนาดเล็กและเพดานเตี้ยรู้สึกอยู่สบายขึ้น โดยการรื้อฝ้าเพดานออกเพื่อเพิ่มความสูงของห้อง อาจทาสีขาวทับทั้งท้องพื้นชั้นบนและงานท่อของระบบต่างๆทั้งหมด ก็ช่วยให้ห้องดูโล่งและเป็นระเบียบขึ้น

16. ห้องบางห้อง ก็ไม่เหมาะที่จะโชว์ท่อ
บางครั้งงานระบบ เช่น ท่อแอร์ จะมีการสั่นสะเทือนเล็กน้อย รวมไปถึงเสียงดังและฝุ่นละออง อาจไม่เหมาะนักหากจะโชว์ท่อในห้องที่ต้องการความสะอาดมากๆ เช่น ห้องที่มีเด็กทารก หรือห้องรับประทานอาหาร การปิดเพดานให้เรียบร้อยในห้องเหล่านี้น่าจะดีที่สุด

17. สิ่งที่โชว์ ต้องควรค่า (P)
เมื่อคิดจะโชว์งานระบบไม่ว่าจะเป็นท่อร้อยสายไฟ ท่อประปา ท่อน้ำทิ้ง หรือท่อแอร์ เราควรแน่ใจว่ายอมรับได้และเข้าใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะสไตล์ของบ้านก็จะไม่ใช่แบบเรียบหรู แต่จะเป็นความสวยงามแบบดิบๆ และ หากมีส่วนใดที่เราต้องมองเห็นอย่างใกล้ชิด เช่น ท่อน้ำประปาพาดผ่านส่วนรับแขกที่เราตั้งใจโชว์ให้เห็นเหมือนงานศิลปะ ท่อเหล่านั้นก็ควรได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เหมาะสมและสวยงาม เข้ากับรูปแบบของห้องหรือพื้นที่นั้นๆ

18. ใช้งานแบบผสมผสาน (P)
ไม่ว่าจะเป็นท่ออะไรเมื่อเกิดการลัดวงจรหรือชำรุด มักจะต้องรื้อสายเดินท่อใหม่ บางครั้งอาจใช้งานผสมกัน เช่น ถ้าต้องการเดินท่อฝังในผนัง อาจเลือกใช้ท่อพีวีซีผสมกับท่อเหล็กในส่วนที่เดินท่อภายนอก และเลือกใช้ท่อพีอีในส่วนที่ต้องเดินท่อโค้งงอหรือเดินท่อเพื่อกันน้ำหรือภายนอกอาคาร

19. อย่าลืม Junction Box (P)
ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายไฟในท่อที่ฝังในผนังหรือเดินลอยภายนอก จำเป็นที่จะต้องมี Junction Box ใน
ตำแหน่งที่เป็นจุดตัดของวงจร ทั้งเพื่อการเชื่อมต่อสายไฟอย่างปลอดภัย ไม่ต้องดัดงอท่อแล้ว ในการซ่อมบำรุงก็ง่ายด้วย เพราะเราสามารถดึงสายไฟที่ชำรุดออกมาได้จากตำแหน่งนี้

20. ท่อระบายน้ำพีวีซีที่ระเบียง ต้องระวัง (S)
ระเบียงภายนอกที่ฝนสามารถสาดเข้ามาได้จำเป็นจะต้องมีทางระบายน้ำออก หากไม่ได้คิดไว้ตั้งแต่แรก สุดท้ายก็จะพบกับการเจาะรูแล้วนำท่อพีวีซีตัดเฉียงมาเสียบเพื่อระบายน้ำ แต่ถ้าจะให้ดูเรียบร้อยสวยงามกว่านี้ ก็ควรเจาะรูที่พื้นและติดตั้งตะแกรงกรองเศษขยะ และเดินท่อทะลุพื้นและรวบเดินมายังตำแหน่งที่เหมาะสม น้ำที่ออกมาก็จะไม่กระจายด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น