วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กลยุทธการปรับพฤติกรรม

กลยุทธการปรับพฤติกรรม

 

การปรับพฤติกรรมในเด็กออทิสติก เป็นกระบวนการที่มีประโยชน์ ทั้งในด้านพัฒนาการและแก้ปัญหาที่รบกวนครอบครัว ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นคือ เรื่องของเทคนิคพฤติกรรมศาสตร์ ความเข้าใจอาการและวิธีการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก นอกจากความรู้ ความเข้าใจแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการปฏิบัติคือ บรรยากาศ อารมณ์ความรู้สึกจะต้องดี สื่อให้เด็กรับรู้ ถึงความสุขที่มีอยู่ในสังคม ดึงเด็กออกจากโลกของต้วเอง


--------------------------------------------------------------------------------

เทคนิคพื้นฐาน

เทคนิคหลักในทางพฤติกรรมศาสตร์ที่ใช้บ่อยในเด็กออทิสติกมีดังนี้

1. การจับทำและจับให้หยุด
วัตถุประสงค์ : เพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ หรือหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
วิธีการ : ใช้การช่วยเหลือใดๆก็ได้ ที่ทำให้เด็กทำกิจกรรมเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น หรือ หยุดยั้งพฤติกรรม ไม่พึงประสงค์ ซึ่งมักเป็นเรื่องที่อันตราย เช่นจับเด็กไม่ให้เล่นมีด จับมือเด็กจับช้อนกินข้าว ป้องหน้า เพื่อให้เด็กมอง สะกิดเด็กเมื่อเรียกชื่อ เป็นต้น
ข้อควรระวัง : เมื่อทำแล้วต้องลดการช่วยเหลือลงจนเด็กทำเองได้ การจับให้หยุดต้องระวังเด็กโมโห

2. การให้รางวัล
วัตถุประสงค์ : เพื่อให้เด็กทำพฤติกรรมที่เราต้องการมากขึ้น
วิธีการ : ให้ของที่เด็กชอบ จะเป็นขนม การตบมือ การกอดจูบ หรือ เป็นการเล่นที่เด็กชอบ ก็ได้ ให้หลังจากเด็กทำพฤติกรรมแล้ว
ข้อควรระวัง : เด็กอาจจะติดเป็นเงื่อนไข ป้องกันได้ด้วยการลดการให้รางวัลช้าๆ รางวัลซ้ำๆเด็กอาจเคยชิน และไม่ตอบสนอง ป้องกันโดยสลับตัวรางวัล แต่เป็นบรรยากาศเดียวกัน เช่น กอดบ้าง ลูบหัวบ้าง เป็นต้น

3. การเพิ่มสิ่งเร้า
วัตถุประสงค์ : เพื่อเพิ่มพฤติกรรมที่ต้องการ
วิธีการ : ทำสิ่งเร้าให้น่าสนใจ เช่น ในการเรียกชื่อเด็ก อาจจะใช้เสียงดังขึ้น หรือสูงขึ้นเล็กน้อย ใช้เพลงประกอบ การสอนคำใหม่ๆ
ข้อควรระวัง : เด็กเข้าใจผิด เช่น เข้าใจว่า ชื่อตัวเองต้องเป็นเสียงสูง ป้องกันโดย ปรับเสียงให้เป็นธรรมดา เมื่อเด็กเริ่มตอบสนอง

4. การไม่สนใจ
วัตถุประสงค์ : เพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ
วิธีการ : ไม่สนใจในพฤติกรรมที่เด็กทำ
ข้อควรระวัง : มักไม่ค่อยได้ผล เพราะเด็กไม่ค่อยมีสังคมอยู่แล้ว แต่มักจะ เกิดโดยพ่อแม่ไม่รู้ตัว เช่นเรียกชื่อลูก เพื่อทดสอบว่าเด็กหันหรือไม่ แล้วเฉยๆ ไม่ทำอะไร การหันตามเสียงเรียกชื่อจะลดลง หรือเรียกให้เด็กไปหยิบของ แต่ไม่ตอบสนองเมื่อเด็กเอาของมาให้เป็นต้น

5. การเบี่ยงเบนความสนใจ
วัตถุประสงค์ : เพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ
วิธีการ : หาสิ่งเร้าที่น่าสนใจกว่า มาให้เด็กทำ ต้องทำให้สิ่งเร้าใหม่น่าสนใจกว่าอันเดิมและต้องหาสิ่งใหม่ๆมาหลายๆอัน เพื่อให้เด็กมีโอกาสเลือก
ข้อควรระวัง : สิ่งเร้าใหม่อาจจะไม่น่าสนใจ เลยไม่ได้ผล หรือสิ่งเร้าใหม่ดึงดูดเด็กได้สักพัก พอเด็กหมดความตื่นเต้น ก็หันไปมีพฤติกรรมเดิมอีก


--------------------------------------------------------------------------------

เทคนิคการวิเคราะห์พฤติกรรมเด็ก

ก่อนจะวิเคราะห์พฤติกรรมเด็กได้จะต้องหัดสังเกตสิ่งสำคัญ 3 สิ่งก่อน

1. สิ่งเร้า สิ่งเร้ามี 2 ชนิดคือ สิ่งเร้าจากภายนอกและสิ่งเร้าจากภายใน จากภายนอกได้แก่ ความต้องการ ความหิว ความชอบ พฤติกรรมบางอย่างเกิดจากสิ่งเร้าโดยตรง เช่น เด็กชอบเอาหลอดเจาะรูกล่องนม ชอบแกะหรือชอบรื้อ

2. ตัวพฤติกรรม จะต้องเป็นการกระทำของเด็กที่เห็นได้ชัดเจน เช่น กัด หยิก ฯ ไม่ใช่ลักษณะนิสัย ก้าวร้าว ทำของเสียหาย เพื่อให้การวางแผนการแก้ไขทำได้เจาะจงกับการกระทำที่ต้องการ หรือไม่ต้องการเท่านั้น
เป็นหัวข้อที่มีความเข้าใจผิดอยู่เป็นประจำ เพราะพ่อแม่จะกังวลกับพฤติกรรมหลายอย่าง เช่นเด็กถุยน้ำลายใส่คน กัด บางครั้งกรีดร้อง บางทีก็ปาของใส่ ทั้งหมดคือ ความก้าวร้าว แต่ต้องเลือกแก้ไปทีละพฤติกรรม จะแก้พร้อมกันทีเดียวได้ยาก

3. การตอบสนอง ส่วนมากเด็กไม่ค่อยสนใจการตอบสนองของผู้ใหญ่ เพราะเด็กไม่ค่อยมีสังคมอยู่แล้ว พฤติกรรมหลายอย่าง ยังคงอยู่ได้เพราะเกิดการตอบสนองขึ้น บางครั้งก็เป็นการตอบสนองที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่กลับเป็นแรงเสริม ที่ทำให้เด็กทำพฤติกรรมนั้นต่อ หากพบควรตัดการตองสนองนั้นเสีย เพื่อลดพฤติกรรมดังกล่าว


--------------------------------------------------------------------------------

ชนิดของพฤติกรรมและแนวทางแก้ไข

หากจำแนกพฤติกรรมของเด็กตามสาเหตุหลักๆ จะพบว่ามีการกระทำหลายอย่าง มีจุดตั้งต้น เหมือนเด็กปกติ และการกระทำอีกกลุ่มหนึ่งเป็นอาการของโรค การปรับพฤติกรรมจะได้ผลกับกลุ่มที่ไม่ใช่อาการของโรคมากกว่า

1. พฤติกรรมจากประสบการณ์
มีพฤติกรรมหลายอย่างที่เด็กทำเพราะการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมา พ่อแม่จะต้องใกล้ชิด และหมั่นสังเกตว่า ลูกเรียนรู้อะไรจากอะไร เช่นมีอะไรเป็นสิ่งเร้า เด็กทำอะไรแล้วได้อะไรกลับมา หากจับไม่ได้ก็ให้ตั้งเป็นสมมุติฐานไว้ก่อน แล้วหาวิธีทดสอบและแก้ไขทีละสมมุติฐานๆไป

2. พฤติกรรมจากอารมณ์
จะต้องสังเกตสิ่งแวดล้อมขณะนั้นและตัวเด็กว่าอยู่ในอารมณ์อะไร ถ้าอารมณ์สมเหตุสมผลแล้ว ก็ให้ดูต่อว่า การกระทำนั้นเหมาะสมหรือไม่ หากไม่เหมาะสมก็ให้สอน หรือ จับให้เด็กแสดงการกระทำที่เหมาะสมต่อไป

3. พฤติกรรมที่เข้าใจได้ยาก
อาจจะเป็นอาการของโรค ที่ต้องใช้ยาในการแก้ไข หรือเป็นความสนใจส่วนตัวของเด็ก โดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนข้างบน ให้ลองแก้ไขโดยการสอนให้ทำสิ่งใหม่ ที่น่าสนใจกว่า แต่ใช้ทักษะเดิม เช่น เด็กชอบปาของอย่างไม่มีเป้าหมาย ก็หัดเด็กให้รู้จักโยนของอย่างมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการกะระยะ เป็นต้น

ขอขอบคุณบทความ โดย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น